“การลงทุนกับตัวเองคือการลงทุนที่ดีที่สุด” เราอาจเคยพบเจอประโยคนี้ในโลกยุคปัจจุบันในหลากหลายมิติและมุมมอง อีกมุมหนึ่งคือการลงทุนหรือการดูแลสุขภาพตนเอง ประเทศไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและกลไกที่ส่งเสริมการดูแลและรักษาสุขภาพของประชาชนและแรงงานไทย
อย่างไรก็ตาม กลไกที่ดูแลสุขภาพคนไทยยังคงเผชิญหน้าความท้าทายและความเหลื่อมล้ำ ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยที่มากขึ้นและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ จึงเข้ามาจับเข่าคุยกัน เพื่อหาหนทางที่จะเป็นข้อเสนอให้ภาครัฐและเอกชนบูรณาการร่วมกันเพื่อสร้างสังคมแห่งสุขภาวะที่ดี เพื่อความมั่งคั่งของตัวเองและประเทศ
เสวนาวิชาการ ‘Thailand Healthcare Policy Forum: Sustainable Health (and Wealth) for Thailand ไขกุญแจ สู่ความยั่งยืนทางสุขภาพของคนไทย’ ที่จัดเสวนาโดยการบูรณาการความร่วมมือจากสถาบันวิทยาการตลาดทุน (วตท.), คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และบริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด
วาสิต ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงาน ‘Thailand Healthcare Policy Forum: Sustainable Health (and Wealth) for Thailand ไขกุญแจ สู่ความยั่งยืนทางสุขภาพของคนไทย’
ประเทศไทยมีกองทุนสุขภาพอะไรบ้าง?
ปัจจุบันประเทศไทยมี 3 กองทุนที่ช่วยดูแลสุขภาพคนไทยราวเกือบ 100% ของทั้งหมด คือ
- กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ดูแลคนไทยที่ไม่มีสิทธิการดูแลสุขภาพอื่นๆ ประมาณ 73% ของประชากรทั้งหมด
- กองทุนประกันสังคม ดูแลพนักงานและลูกจ้างเอกชนราว 14 ล้านคน หรือ 20% แม้จะมีการดูแลกลุ่มคนทำงาน แต่ค่าใช้จ่ายรวมยังต่ำกว่ากลุ่มข้าราชการมาก
- กองทุนสวัสดิการข้าราชการ ราว 5 ล้านคน หรือ 7% นอกจากดูแลข้าราชการที่มีสิทธิแล้ว ยังดูแลผู้อาศัยสิทธิของข้าราชการ มีการคุ้มครองที่กว้างขวางอย่างมาก
กองทุนสุขภาพไทยดีที่สุดในภูมิภาค แต่…?
ดร.นพ.ชัยยศ คุณานุสนธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษว่า กองทุนที่ สปสช. ดูแลคือกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) 1 ใน 3 กองทุน ซึ่งมีกองทุนประกันสังคมและกองทุนสวัสดิการข้าราชการ
ดร.นพ.ชัยยศ คุณานุสนธิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
สถิติที่ผ่านมาแสดงผลว่า ประเทศไทยมีรายจ่ายสุขภาพทั้งหมด (THE) ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) อยู่ในระดับดีมาก จากการที่มีการใช้รายจ่ายสุขภาพจากภาครัฐหรือกองทุนต่างๆ กว่า 71% จากการใช้จ่ายด้านสุขภาพทั้งหมดในประเทศที่ดูแลสุขภาพคนไทย จนประเทศไทยมีการบริการด้านสุขภาพที่ครอบคลุมที่สุดในภูมิภาคอาเซียน
ดร.นพ.ชัยยศ กล่าวปาฐกถาพิเศษ
อย่างไรก็ตาม ดร.นพ.ชัยยศ กล่าวว่า แม้ประเทศไทยจะมีความแข็งแกร่งครบทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านปกป้องความเสี่ยงทางการเงิน การบริการที่ครอบคลุม และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ กระนั้นมุมมองของผู้มีส่วนในด้านกองทุนและประกันสุขภาพทั้ง 3 ฝ่าย คือ ผู้ให้บริการ ผู้จ่ายเงิน และผู้ได้รับประโยชน์ ยังมีความท้าทายที่ต้องเผชิญและพัฒนาต่อไป
- มุมมองผู้ให้บริการ (Provider Aspect) การแพทย์ปฐมภูมิจะต้องเสริมความแข็งแกร่งให้มากขึ้น ควบคุมต้นทุนในขณะที่ยังรักษาคุณภาพของการรักษาไว้ และโอบรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการแพทย์
- มุมมองผู้จ่ายเงิน (Payor Aspect) หรือก็คือกองทุนต่างๆ ที่จะต้องเสาะหาวิธีการลงทุนหรือสร้างผลกำไรให้กองทุนขยายตัวขึ้น และจัดการการจ่ายเงินให้ผู้ได้รับสิทธิให้มีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากขึ้น
- มุมมองผู้ได้รับสิทธิประโยชน์ (Beneficiary Aspect) จะต้องทำความเข้าใจสิทธิประโยชน์ของตนเองให้ครบถ้วน รวมถึงจัดการกับความท้าทายด้านเศรษฐกิจและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการกับภาระงบประมาณ
วารี แว่นแก้ว รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ฉายภาพให้เห็นว่า สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการให้ประโยชน์แก่ข้าราชการ และยังดูแลผู้อาศัยสิทธิ ทั้งบุพการี คู่สมรส และบุตร จากข้อมูลพบว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล ผู้ที่ใช้สิทธิสวัสดิการเป็นผู้ที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีขึ้นไป (ผู้มีสิทธิและผู้อาศัยสิทธิ์)
วารี แว่นแก้ว รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง
เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปริมาณการใช้สิทธิเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ สิทธิประโยชน์ของสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการถือว่ามีความครอบคลุมสูง ทั้งการเข้าถึงยา การรักษาในโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งบางครั้งพบว่ามีการใช้สิทธิไปในทางไม่สุจริตและเกินความจำเป็น ดังนั้น การบริหารจัดการต้องรัดกุมมากขึ้น และการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องของผู้ใช้และอาศัยสิทธิจะเป็นทางออกที่ดี
ประกันสังคมหนุนทำแซนด์บ็อกซ์ด้านสุขภาพ
พล.ต.ท. นพ.ธนา ธุระเจน ประธานคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ทัศนคติในด้านสุขภาพและกองทุนประกันสังคมยังเข้าใจผิดกันอยู่ ทั้ง 2 อย่างต้องเปลี่ยนมุมมองจากการเป็น ‘ค่าใช้จ่าย’ ให้มองเป็น ‘การลงทุน’ เงินสมทบทุนที่ได้รับมาจากลูกจ้าง กองทุนก็จะนำไปลงทุนในส่วนต่างๆ ทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นสามัญต่างๆ เพื่อให้เกิดกำไรมาเสริมความแข็งแรงของกองทุน
พล.ต.ท. นพ.ธนา ธุระเจน ประธานคณะกรรมการการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคมที่มีหน้าที่ดูแลกองทุนประกันสังคม มีความพยายามที่จะสร้างเฮลท์แคร์สมัยใหม่มากขึ้น ทั้งการลงทุนในโครงสร้างด้านเทคโนโลยี และโครงการอย่างผ่าตัด 27 รายการ ครอบคลุม 76 โรค ภายใน 28 วัน, โครงการนำร่อง 15 โรค 15 วัน หรือโครงการ 15 วัน ใน 5 โรคร้ายแรง ในฝ่ายรัฐบาลก็ต้องมองว่า Health is Wealth การลงทุนด้านสุขภาพก็ช่วยให้ได้ประโยชน์ การริเริ่มทำแซนด์บ็อกซ์ในด้านสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่จะหาโซลูชันให้กับแรงงานสมัยใหม่
การดูแลสุขภาพคนไทยที่ดีอยู่ที่ ‘ทัศนคติ’
ไชย ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนภาคเอกชนกล่าวว่า แม้ในภูมิภาค ไทยจะมีหลักประกันสุขภาพที่ดีที่สุด กระนั้นก็ยังมีพื้นที่อีกมากที่ไทยยังพัฒนาได้ ประกันชีวิตก็เป็นหนึ่งในกลไกที่ลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงสิทธิกองทุนต่างๆ มายด์เซ็ตของการสร้างสังคมแบบ Care Economy ที่ทุกคนจะใส่ใจดูแลสุขภาพตัวเอง การทำประกันชีวิตก่อนเกษียณเพื่อไม่สร้างภาระให้ลูกหลาน ตรงนี้ก็จะเข้ามาเติมช่องว่างจากกองทุนต่างๆ
ไชย ไชยวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
ลดทุกข์ เพิ่มสุข บูรณาการรัฐ-เอกชนร่วมกัน
ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ประธานฝ่ายวิชาการหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่น 34 ผู้ดำเนินการเสวนา สรุปจากการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความเห็นของทั้ง 3 องค์กร ซึ่งมีความเห็นตรงกันว่า กองทุนต่างๆ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการข้าราชการ รวมถึงภาคเอกชนอย่างบริษัทประกัน ควรจะบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อ ‘ลดทุกข์ เพิ่มสุข’ ให้กับผู้มีสิทธิหรือผู้ใช้บริการด้านสุขภาพที่จะได้รับบริการสุขภาพที่ดี และการออกแบบประโยชน์
ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล และวิทยากรทั้ง 3 ฝ่าย เห็นพ้องกันด้านการบูรณาการ
ประเทศไทยเผชิญความท้าทายด้านค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากสิทธิประโยชน์ที่ขยายตัว โดยเฉพาะบริการในโรงพยาบาลเอกชน การลดภาระของรัฐจึงต้องอาศัยการบริหารกองทุนที่มีประสิทธิภาพ เช่น การกำหนด Copayment ในบางบริการ ควบคู่กับการส่งเสริมให้ประชาชนซื้อประกันสุขภาพส่วนบุคคล เช่น IPD เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและลดข้อจำกัดของระบบสุขภาพไทย นอกจากนี้ การบูรณาการระหว่างกองทุนสุขภาพ เช่น สปสช. และกองทุนประกันสังคม จะช่วยเพิ่มอำนาจการต่อรองในด้านการจัดซื้อยา และลดความซ้ำซ้อนในสิทธิการเบิกจ่าย ทั้งนี้ การสร้างความตระหนักรู้ในกลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุยังเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพและการเงินในระยะยาว
ทางเลือกใหม่ของการคลังในระบบสุขภาพของประเทศไทย
รศ. ภญ. ร.ต.ท.หญิง ดร.ภูรี อนันตโชติ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ระบบประกันสุขภาพประเทศไทยได้รับการยอมรับเรื่องประสิทธิภาพที่ดี ได้รับการจัดอันดับด้าน Global Health Security Index อยู่ในอันดับที่ 5 จาก 195 ประเทศทั่วโลก
ประเทศไทยมีกลไกด้านการคลังของระบบสุขภาพที่เข้มแข็ง มีการใช้การประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพในการคัดเลือกยาเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ ซึ่งเป็นบัญชีรายการยาสำหรับเบิกจ่ายที่ทั้ง 3 กองทุนใช้เป็นหลักในการเบิกจ่ายยาให้กับประชาชนชาวไทย
รศ. ภญ. ร.ต.ท.หญิง ดร.ภูรี อนันตโชติ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตาม ระบบประกันสุขภาพของไทยยังมีจุดอ่อนสำคัญ ได้แก่
- การเข้าถึงยานวัตกรรม
เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง มีเพียง 50% เท่านั้นที่ได้รับการเบิกจ่ายจากบัญชียาหลักแห่งชาติ โรคร้ายแรงหลายชนิด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากระบบประกันสุขภาพไม่ครอบคลุม
- การป้องกันการล้มละลายจากค่าใช้จ่ายสุขภาพ
เป็นเป้าหมายสำคัญของการประกันสุขภาพ แต่ปัจจุบันยังมีช่องว่างในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง
- การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
ระบบควรให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายแรงในอนาคต
ทั้งนี้ มีกรณีศึกษาจากต่างประเทศ สำหรับแนวทางการคลังใหม่ที่หลายประเทศนำมาใช้ เช่น:
- กองทุนยา (Drugs Fund):
ตัวอย่างจากอังกฤษ ไต้หวัน และอิตาลี มีการจัดตั้งกองทุนสำหรับโรคร้ายแรงอย่าง Cancer Drugs Fund สนับสนุนการเข้าถึงยาที่ช่วยยืดอายุหรือรักษาโรคร้ายแรงได้
- Managed Entry Agreement (MEA):
เป็นข้อตกลงระหว่างกองทุนประกันสุขภาพกับบริษัทยา หากยาใช้แล้วได้ผลดี กองทุนจะจ่ายค่ายา หากยาไม่ได้ผล ผู้ขายยาต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ในงาน Future Trends Forum ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ซึ่งเน้นหัวข้อ ‘Navigating Innovation, Equity, and Resilience in Healthcare Systems’ ความเห็นของนานาชาติในการปรับระบบสุขภาพ สรุปใจความได้ว่า
- สุขภาพคือความมั่งมี (Health is Wealth)
การลงทุนด้านสุขภาพช่วยเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และรายได้ของประเทศ
- บทบาทของเทคโนโลยี AI
เทคโนโลยี AI ช่วยปรับเปลี่ยนกระบวนการด้านสุขภาพให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง (Patient-Centric Care)
ระบบสุขภาพต้องมีการประเมินผลสม่ำเสมอ ใช้ข้อมูลขับเคลื่อนการตัดสินใจ และปรับตัวตามความต้องการของผู้ป่วย
HTA เครื่องมือสร้างความคุ้มค่าการลงทุนด้านสุขภาพประเทศ
ผศ. ดร. ภญ.ศิตาพร ยังคง จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอ Health Technology Assessment (HTA) หรือการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ เป็นกลไกที่จะเป็นตัวเสริมความแข็งแรงของระบบสุขภาพไทย เช่น ความคุ้มค่าของเทคโนโลยี ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และมุมมองต่างๆ ทั้งยังช่วยให้ภาครัฐตัดสินใจลงทุนในเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับงบประมาณที่จำกัด เช่น หากมีการพิจารณานำยาใหม่เข้ามาในระบบสุขภาพไทย HTA จะวิเคราะห์ทั้งประสิทธิภาพของยา ความปลอดภัย และผลกระทบต่อผู้ป่วย นอกจากนี้ ยังสร้างความคุ้มค่าอื่นๆ เช่น การเปรียบเทียบ ICER (Incremental Cost-Effectiveness Ratio) เพื่อวัดความคุ้มค่าเทียบกับยาเดิม
ผศ. ดร. ภญ.ศิตาพร ยังคง จากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ในประเทศไทย HTA มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UHC) และการจัดทำรายการยาจำเป็นแห่งชาติ (NLEM) รวมถึงการกำหนดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพที่ครอบคลุมสำหรับคนไทยทุกคน เช่น
- การพิจารณาเพิ่มวัคซีนใหม่
- การเจรจาต่อรองราคายาเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้
- การพัฒนาคู่มือแนวทางการรักษา (Clinical Practice Guidelines)
ในบางประเทศ เช่น ไต้หวัน มีการทำ Reassessment อย่างต่อเนื่อง เพื่อติดตามผลลัพธ์ของเทคโนโลยีที่ใช้งานจริง ซึ่งเป็นแนวทางที่ไทยควรศึกษาเพื่อพัฒนาระบบสุขภาพไทยให้ยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- สภาพัฒน์ชี้ สังคมสูงวัยคือความท้าทายใหญ่สุดของประกันสังคม…
- สปสช. เผย ครม. ไฟเขียวงบกลาง 5.9 พันล้าน พอถมปัญหา รพ. ขาดทุน
- การเข้าถึงยานวัตกรรม: ความท้าทายเมื่อไทยก้าวสู่สังคมสูงอายุ