รายงานดัชนีความยากจนหลายมิติทั่วโลก (Multidimensional Poverty Index: MPI) ประจำปี 2024 โดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับโครงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และแก้ไขความยากจน มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford Poverty and Human Development Initiative: OPHI) แสดงข้อมูลวิจัยทางสถิติดั้งเดิมว่าด้วยความยากจนหลายมิติ ครอบคลุมผู้คนราว 6.3 พันล้านคนใน 112 ประเทศ พบว่า ประชาชนจำนวน 1.1 พันล้านคนทั่วโลกตกอยู่ในภาวะยากจนรุนแรงในหลายมิติ และราว 455 ล้านคน หรือคิดเป็น 40% อาศัยอยู่ในประเทศที่มีสงคราม ความเปราะบาง หรือขาดสันติภาพ ซึ่งขัดขวางและบั่นทอนความก้าวหน้าในการลดความยากจน อันเป็นภารกิจที่ทำสำเร็จได้ยาก
ดัชนี MPI ไม่เพียงจำแนกประเทศต่างๆ ออกเป็นประเทศ ‘ร่ำรวย’ หรือ ‘ยากจน’ เท่านั้น แต่ยังพิจารณาไปไกลยิ่งกว่าในมิติด้านรายได้ โดยต้องพิจารณาว่าผู้คนมีประสบการณ์กับความยากจนอย่างไร แบ่งออกเป็น 10 มิติ เช่น การเข้าถึงการศึกษา สุขภาพ ที่อยู่อาศัย น้ำดื่ม สุขอนามัย และไฟฟ้า ทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถจัดสรรทรัพยากรได้อย่างตรงจุด และออกแบบนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
จุดเด่นประการหนึ่งของรายงานฉบับนี้คือ ความเหลื่อมล้ำจากทั้งภายในและนอกประเทศ จากการวิเคราะห์ค้นพบว่า 28% ของประชากรในชนบททั่วโลกมีฐานะยากจน หากเปรียบเทียบกับ 6.6% ของประชากรเขตเมือง โดยทีมวิจัยได้เน้นย้ำอย่างหนักแน่นว่าหลักฐานใหม่นี้ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญของ ‘การลงทุนเพื่อสันติภาพ’
รายงานฉบับนี้ตอกย้ำว่าเพียงแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น ‘ไม่เพียงพอ’ หากปราศจากสันติภาพ และประเทศจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในประการเบื้องต้น เช่น ข้อแรกสุดในบรรดา 17 ข้อ นั่นคือ ‘ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่’
รายงานนี้เรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วนทั่วโลก เพื่อยุติสงครามและความขัดแย้ง ซึ่งทำลายชีวิต โครงสร้างพื้นฐาน และทำให้โลกถดถอย ซึ่งทำให้ต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในการพัฒนาอย่างไม่จำเป็น รวมถึงการดำเนินการทุกขั้นตอนที่จำเป็นเพื่อปกป้องสันติภาพในพื้นที่ที่เปราะบางที่สุด ทีมวิจัยได้เน้นย้ำว่าจะต้องใช้แนวทางบูรณาการในการแก้ไขปัญหาความยากจน การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อการฟื้นฟูและการสร้างสันติภาพ โดยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในและนอกประเทศจะต้องร่วมมือกัน
อาคิม สไตเนอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ประจำ UNDP กล่าวว่า “ช่วงหลายปีให้หลัง ความขัดแย้งทวีความรุนแรงและเพิ่มสูงขึ้น จนกระทั่งทุบสถิติตัวเลขผู้เสียชีวิต ทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่น ก่อให้เกิดความลำบากขัดสนในชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนเป็นวงกว้าง เราต้องเร่งดำเนินการเพื่อช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ เราจำเป็นต้องมีแหล่งข้อมูลและการเข้าถึงเพื่อการพัฒนาอย่างเฉพาะเจาะจง และดำเนินการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยทำลายวงจรของความยากจนและวิกฤต”
รายงาน MPI ทั่วโลกเปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ก้าวหน้าอย่างน่าจับตามองในเรื่องการจัดการปัญหาความยากจนหลายมิติ ประเทศไทยลดจำนวนประชากรที่เผชิญกับความยากจนหลายมิติได้ครึ่งหนึ่งในเวลาเพียง 7 ปี ตัวเลขลดลงจาก 909,000 คนในปี 2012 เหลือเพียง 416,000 คนในปี 2019 และในปี 2022 ก็ลดลงอีกเหลือเพียง 352,000 คนที่มีชีวิตอยู่ในภาวะยากจนหลายมิติ ความสำเร็จนี้เป็นเพราะประชากรได้รับการศึกษาสูงขึ้น กินอาหารที่มีคุณค่าทางสารอาหารมากขึ้น และเข้าถึงที่อยู่อาศัย ก๊าซหุงต้ม และสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้มากขึ้น
ตัวเลข MPI ของประเทศไทยอยู่ที่ 0.002 ซึ่ง ‘ต่ำที่สุด’ ในบรรดาประเทศอาเซียนที่รวมอยู่ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ เวียดนาม (0.008) อินโดนีเซีย (0.014) ฟิลิปปินส์ (0.016) กัมพูชา (0.070) สปป.ลาว (0.108) และเมียนมา (0.176 ตามข้อมูลการสำรวจล่าสุดที่มีคือปี 2015) ที่ประเทศไทยมีตัวเลขต่ำกว่าหมายความว่าประเทศไทยแก้ปัญหาความยากจนหลายมิติได้ ‘มีประสิทธิภาพมากกว่า’ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียนที่ได้รับการสำรวจ
ถึงแม้ในภาพรวมประเทศไทยจะก้าวหน้าอย่างมากในแง่การบรรเทาความยากจน ทว่าความยากจนหลายมิติในไทยนั้นมีสูงกว่าความยากจนในด้านการเงิน (Monetary Poverty) 0.5 จุด ซึ่งหมายความว่าผู้คนที่อยู่เหนือเส้นความยากจนทางการเงินยังคงประสบความขาดแคลนในด้านสุขภาพ การศึกษา และ/หรือมาตรฐานการใช้ชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นความยากจนหลายมิติยังคงแพร่หลายในพื้นที่ชนบทระดับภูมิภาค
ข้อค้นพบจากรายงานระดับโลกฉบับนี้สอดคล้องกับการประเมินระดับประเทศของประเทศไทย โดยรายงานความยากจนหลายมิติของประเทศไทย ประจำปี 2021 จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เน้นย้ำว่าในพื้นที่ชนบทมีอุบัติการณ์และความเข้มข้นของความยากจนหลายมิติสูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งกำลังเผชิญความขัดแย้ง
ดังนั้นการยุติความยากจนทุกรูปแบบจึงจำเป็นต้องอาศัยแนวทางทั้งแบบบนลงล่างและล่างขึ้นบน เพื่อแก้ไขปัญหาความแตกต่างในด้านความเข้มข้นและองค์ประกอบของความยากจน ตลอดจนเพื่อป้องกันความขัดแย้งอีกด้วย สาระสำคัญนี้สอดคล้องกับรายงานความยากจนหลายมิติฉบับใหม่ของประเทศไทย กล่าวคือ ดำเนินกระบวนการสร้างสันติภาพและใช้วิธีการที่เน้น ‘ผู้คนเป็นจุดศูนย์กลาง’ (People-Centered) ให้เป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป นี่คือกุญแจสำคัญที่จะเร่งรัดการขจัดความยากจน และบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้ในที่สุด ตั้งแต่ระดับประเทศ ระดับภูมิภาค จนถึงระดับท้องถิ่น ด้วยการจัดการกับต้นตอของปัญหาและผลกระทบของความขัดแย้งโดยอาศัยข้อมูลและความมุ่งมั่นตั้งใจนี้เอง ผู้คนยากจนก็จะมีโอกาสมากขึ้นที่จะสร้างชีวิตใหม่ที่ดีกว่าเดิม ทั้งในแง่ชีวิตส่วนตัวและเพื่อชุมชน
แฟ้มภาพ: Apiwan Borrikonratchata / Shutterstock
อ้างอิง: