อีกหนึ่งกรณีอื้อฉาวสำคัญที่เกิดขึ้นในวงการตลาดหุ้นไทย คือการที่ศาลอาญาออกหมายจับ นพ.บุญ วนาสิน พร้อมกับภรรยา บุตรสาว และพวกรวม 9 ราย ใน 5 ข้อหา คือร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันให้กู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, ร่วมกันฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ, สมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและร่วมกันฟอกเงิน และข้อหาเช็คเด้งหรือออกเช็คแล้วขึ้นเงินกับธนาคารไม่ได้
ย้อนประวัติ นพ.บุญ วนาสิน
นพ.บุญ คือผู้ก่อตั้งและอดีตผู้บริหารของ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG โดยปัจจุบันยังคงถือหุ้นในสัดส่วน 0.68% ขณะที่ภรรยาคือ จารุวรรณ วนาสิน เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในสัดส่วน 14.22%
แม้หมายจับจะเพิ่งออกมา และคดีความยังไม่สิ้นสุด แต่ในมุมความน่าเชื่อถือต่อหุ้น THG ดูเหมือนจะค่อยๆ หดหายไปนานก่อนหน้านี้พอสมควร จากช่วงโควิด-19 หุ้น THG เคยพุ่งไปถึงระดับ 99.5 บาท จนมูลค่าบริษัทสูงระดับแสนล้านบาท จากอานิสงส์ของความต้องการวัคซีนโควิด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ออกหมายจับ นพ.บุญ ผู้ก่อตั้ง รพ.ธนบุรี ภรรยา-ลูก พร้อมพวก ฐานฉ้อโกง-ฟอกเงิน-หลอกให้ร่วมลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจการแพทย์:
- ตำรวจแถลงยืนยัน นพ.บุญ กับพวก ร่วมกันหลอกประชาชนลงทุน 7,500 ล้านบาท ผู้เสียหาย 247 ราย:
แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายกลับสู่ปกติ ราคาหุ้น THG ก็ค่อยๆ ย่อตัวลง ขณะที่เรื่องราวของ นพ.บุญ เริ่มมีกระแสที่ไม่ค่อยดีออกมาในระยะหลัง จนราคาหุ้นของ THG ร่วงลงมาทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 13.40 บาท ทำให้มูลค่าของ THG ลดลงมาเหลือเพียงประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท
ก่อนที่จะมีหมายจับ นพ.บุญ และพวก กระแสข่าวเชิงลบต่อ นพ.บุญ ก็มีมาให้เห็นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเหมือนสัญญาณเตือนถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น
ไล่มาตั้งแต่กรณีที่องค์การเภสัชกรรมแจ้งความดำเนินคดีกับ นพ.บุญ ในข้อหาสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการนำเข้าวัคซีน จนทำให้เกิดการตั้งข้อสงสัยว่าการให้ข้อมูลของ นพ.บุญ ทำเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจหรือไม่
ก.ล.ต. ลงโทษทางแพ่ง จากการให้ข้อมูลเท็จ
นอกจากนั้น นพ.บุญ ยังถูกสำนักงาน ก.ล.ต. ลงโทษทางแพ่ง โดยให้ชำระเงินค่าปรับและชดใช้ค่าใช้จ่ายเนื่องจากการตรวจสอบการกระทำความผิด รวมเป็นเงินจำนวน 2,348,834 บาท และห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารในบริษัทที่ออกหลักทรัพย์หรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลา 42 เดือน โดยเป็นผลจากการให้ข้อมูลเท็จที่ว่า THG จะลงนามในสัญญาซื้อขายและนำเข้าวัคซีนโควิดยี่ห้อ Pfizer โดยจะรับมอบวัคซีนล็อตแรกจำนวน 5 ล้านโดส ภายในเดือนกรกฎาคม 2564
เรื่องราวอื้อฉาวของ นพ.บุญ ยังไม่จบเท่านั้น โดยช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา คณะกรรมการตรวจสอบ THG พบข้อมูลน่าสงสัยของบริษัทย่อยจำนวน 2 แห่ง ปล่อยกู้เงินรวม 105 ล้านบาท ให้บริษัทในกลุ่ม ‘ครอบครัววนาสิน’ ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท
ซึ่งในระหว่างนี้เองก็เริ่มมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กรณีที่ไม่สามารถนำเช็คเงินสดของ นพ.บุญ ไปขึ้นเงินกับธนาคารได้ ซึ่งมีผู้เสียหายเข้าแจ้งความตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2566 – ตุลาคม 2567 กว่า 527 ราย
5 โครงการ จุดเริ่มต้นคดี
นอกจากนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 2-4 กุมภาพันธ์ 2566 นพ.บุญ กล่าวอ้างการลงทุนที่น่าสนใจจำนวน 5 โครงการ มูลค่า 16,000 ล้านบาท ประกอบไปด้วย
- โครงการสร้างศูนย์มะเร็ง ย่านปิ่นเกล้า 4,000 ล้านบาท
- โครงการ Wellness Center ย่านพระราม 3 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา 4,000-5,000 ล้านบาท
- โครงการสร้างโรงพยาบาลใน สปป.ลาว 3 แห่ง รวม 2,000 ล้านบาท
- เข้าร่วมลงทุนโรงพยาบาลในเวียดนาม 4,000-5,000 ล้านบาท
- Medical intelligence อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี งบลงทุน 100 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ต้องหามีการชักชวนนักธุรกิจชั้นนำระดับประเทศ และบุคลากรวงการแพทย์หลายร้อยคนเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบทำสัญญากู้ยืมเงินโดยให้ดอกเบี้ยกับผู้เสียหาย และจ่ายเช็คให้ผู้เสียหายเพื่อชำระหนี้เงินกู้ พร้อมเช็คเพื่อชำระค่าดอกเบี้ยล่วงหน้าในชื่อ นพ.บุญ โดยมี จารุวรรณ วนาสิน และ ณวรา วนาสิน บุคคลในครอบครัว เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญา ในช่วงแรกให้ดอกเบี้ยกับผู้ที่เข้าร่วมลงทุนตามสัญญา แต่ต่อมาไม่ได้ชำระดอกเบี้ยตามกำหนด ในส่วนเช็คที่ออกไว้ให้ก็ไม่สามารถนำไปขึ้นเงินกับธนาคารได้ จึงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีจนกระทั่งนำไปสู่การออกหมายจับในครั้งนี้
กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนโดยด่วน เนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมาก มีมูลค่าความเสียหายสูง ผู้ที่เสียหายมากที่สุดร่วมลงทุนมากถึง 600-700 ล้านบาท เป็นนักธุรกิจที่หลงเชื่อว่าจะมีการลงทุนจริง รวมถึงบุคลากรทางแพทย์ รวมทั้งหมด 247 ราย ความเสียหาย 7,564 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 – เดือนตุลาคม 2567