×

ชาวจีนไม่นิยมช้อปออนไลน์แล้ว? ทำอีคอมเมิร์ซเร่งขยายไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ Temu เจออุปสรรคเข้าอินโดนีเซียไม่ได้ รัฐบาลอ้างต้องคุมสินค้าราคาถูก

20.11.2024
  • LOADING...

ชาวจีนไม่นิยมช้อปออนไลน์แล้ว ทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนบุกโฟกัสตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขยายแคมเปญ Singles’ Day กระหน่ำลดราคาดึงลูกค้า แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายของ Temu ที่พยายามเจาะอินโดนีเซียหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ รัฐบาลชี้ ต้องคุมการนำเข้าสินค้าราคาถูกและปกป้องผู้ประกอบการรายเล็ก

 

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมสั่งซื้อสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซเป็นอย่างมาก เพราะด้วยจำนวนประชากรที่มีอายุน้อยและมีการเข้าถึงโลกโซเชียลเพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดมีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก 

 

สอดคล้องกับรายงานจาก Google, Temasek และ Bain & Company ระบุว่า ในปีที่ผ่านมาตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่าการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม (GMV) รวมสูงถึง 1.39 แสนล้านดอลลาร์ จึงทำให้ภูมิภาคนี้กลายเป็นสนามแข่งขัน สำคัญของยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ ทั้ง Shopee, TikTok Shop, Lazada และ Temu 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

แม้ว่าจะไม่มีแพลตฟอร์มจากค่ายไหนเปิดเผยตัวเลข GMV (มูลค่ารวมของสินค้าที่ขายผ่านแพลตฟอร์ม) หรือในช่วงเทศกาลลดราคาโดยตรง แต่ก็เห็นการขยายตัวอย่างชัดเจน 

 

สำหรับในปีนี้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนอย่าง Alibaba และ JD.com มีการขยายแคมเปญ Singles’ Day ซึ่งเป็นเทศกาลลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ ไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

 

จริงๆ แล้ว Double 11 เป็นเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยจัดขึ้นทุกวันที่ 11 พฤศจิกายนของทุกปี มีจุดเริ่มต้นมาจาก Taobao ของ Alibaba ที่เริ่มต้นจัดงานนี้ในประเทศจีนเมื่อ 15 ปีก่อน ในช่วงแรกเริ่มก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างดี แต่ปัจจุบันความนิยมในจีนเริ่มลดลง ไม่นิยมสั่งซื้อสินค้าในช่วงแคมเปญเหมือนหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้องเผชิญกับเศรษฐกิจชะลอตัว ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย รวมถึงรัฐบาลมีการควบคุมสงครามราคาอีกด้วย 

 

หากสังเกตจะเห็นว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่ไม่ได้มีการเปิดเผยตัวเลขการขายมา 2 ปีแล้ว และปีนี้ Tmall แพลตฟอร์มในเครือ Alibaba ก็ไม่ได้จัดงานอีเวนต์เหมือนหลายปีที่ก่อนที่เคยมีการแสดงจากนักร้องชื่อดัง เช่น Taylor Swift และ Scarlett Johansson

 

สะท้อนให้เห็นว่าตลาดในจีนเริ่มอิ่มตัวแล้ว แพลตฟอร์มของจีนจึงเปลี่ยนโฟกัส ขยายไปยังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยใช้ประโยชน์จากการมีห่วงโซ่อุปทานขนาดใหญ่ เพื่อลดราคาสู้กับคู่แข่งในตลาดอื่นๆ แต่แพลตฟอร์มเหล่านี้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรม ตลาด การกำกับดูแล และนโยบายการคุ้มครองตลาดในแต่ละประเทศ

 

เหมือนกับที่ Temu และ SHEIN กำลังเผชิญกับการตรวจสอบในประเทศเวียดนาม ซึ่งรัฐบาลได้เตือนผู้บริโภคเกี่ยวกับการซื้อสินค้าจากแพลตฟอร์มที่ไม่ได้จดทะเบียน และ Temu ยังพยายามจะเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียหลายครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะรัฐบาลอ้างว่าจำเป็นต้องควบคุมการนำเข้าสินค้าราคาถูก เพื่อปกป้องผู้ประกอบการรายเล็กในประเทศ 

 

เมื่อมาดูความคึกคักของตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย หากสังเกตจะเห็นว่าถนนในกรุงเทพฯ ย่านที่มีคนพลุกพล่านจะเห็น TikTok Shop แสดงแคมเปญ Double 11 บนจอ LED ขนาดใหญ่ ชวนให้ไปช้อปปิ้ง และมีการยิงโฆษณาบนแอปพลิเคชันเรียกรถอย่าง Grab ไม่เว้นแม้แต่ Lazada ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ Alibaba Group ก็สร้างกระแสโปรโมชันอย่างหนักหน่วง รวมถึงแพลตฟอร์ม X ก็เต็มไปด้วยโฆษณาที่เสนอส่วนลดอย่างต่อเนื่อง 

 

ณัฐพงศ์ คู่เมือง ชาวกรุงเทพฯ วัย 28 ปี กล่าวว่า ตัวเขาซื้อผลิตภัณฑ์บำรุงผิวมูลค่า 3,600 บาทบนแพลตฟอร์ม Shopee และใช้โปรโมชันส่วนลดไป ทำให้ประหยัดได้ประมาณ 20% โดยส่วนลดในช่วง Double 11 จะคุ้มกว่าแคมเปญอื่นๆ

 

รวมถึงตลาดมาเลเซียมีผู้คนมากกว่า 5 ล้านคนเข้าร่วมรับชมงาน 11.11 Mega LIVE Showdown ที่จัดขึ้นโดย TikTok Shop เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายนที่ผ่านมา งานนี้สร้างคำสั่งซื้อผ่านไลฟ์สตรีมประมาณ 80,000 รายการ ขณะเดียวกัน Shopee Live ในมาเลเซียก็ทำยอดขายสินค้ากว่า 2.5 ล้านชิ้นในช่วง 2 ชั่วโมงแรกของวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าจากยอดขายในช่วงปกติ

 

ด้าน Lazada อธิบายถึงเทศกาล Singles’ Day ของปีนี้ว่า เป็นโอกาสทางธุรกิจของแพลตฟอร์ม และเน้นนำแบรนด์สินค้าที่มียอดเติบโตมาเพิ่มโปรโมชัน ให้ส่วนลด เมื่อมียอดใช้จ่ายถึงเกณฑ์ที่กำหนดและจัดส่งฟรีเพื่อดึงดูดนักช้อป โดยปีนี้ Lazada ยังรายงานด้วยว่าบรรลุเป้าหมายการทำกำไรเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม โดยวัดจากกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย 

 

พร้อมกันนี้เมื่อตลาดอีคอมเมิร์ซขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว ก็สร้างอานิสงส์ให้บริษัทขนส่งสินค้าด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงวันที่ 1-11 พฤศจิกายน J&T Express ซึ่งเป็นบริษัทจัดส่งพัสดุที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในแง่ของปริมาณการจัดส่งนั้นได้จัดการพัสดุมากกว่า 15 ล้านชิ้นต่อวัน เพิ่มขึ้นถึง 73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น J&T Express จึงขยายพื้นที่คัดแยกพัสดุเพิ่มขึ้นประมาณ 19,000 ตารางเมตร และติดตั้งระบบอัตโนมัติเพิ่มอีกกว่า 13 ระบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ควบคู่กับการเพิ่มยานพาหนะขนส่งกว่า 900 คัน และจ้างพนักงานมากกว่า 3,800 คน เพื่อเสริมความสามารถในการคัดแยก การจัดส่ง และการบริการลูกค้าให้ได้อย่างครอบคลุม

 

“สุดท้ายตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กลับมาฟื้นตัวแล้ว และเข้าสู่ช่วงการเติบโตที่มั่นคงแล้วหลังผ่านพ้นช่วงวิกฤตโควิดมา” Li Jianggan ผู้ก่อตั้ง Momentum Works กล่าว

 

ภาพ: yanishevska / shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X