×

จับตาประชุม G20: การกลับมาของทรัมป์ อาจทำให้โลกแตกแยกมากขึ้น?

19.11.2024
  • LOADING...
G20

บรรดาผู้นำและผู้แทนทั้ง 19 ประเทศ รวมถึงผู้นำสหภาพยุโรป (EU) และสหภาพแอฟริกัน (AU) เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 ครั้งที่ 19 ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2024 โดยมี ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิล เป็นประธานการประชุมในปีนี้ 

 

ข้อมูลของธนาคารโลกและ World Economic Forum ระบุว่า สมาชิกกลุ่ม G20 ครอบคลุม 2 ใน 3 ของประชากรโลก และมีขนาดเศรษฐกิจคิดเป็น 85% ของ GDP โลก

 

ผู้เข้าร่วมการประชุม G20

 

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่กำลังจะพ้นวาระในวันที่ 20 มกราคม 2025 เข้าร่วมการประชุม G20 เป็นครั้งสุดท้าย ขณะที่ เคลาเดีย ไชน์บัม ประธานาธิบดีหญิงคนแรกของเม็กซิโก เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำระดับนานาชาติในครั้งนี้เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เธอเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา 

 

ส่วน วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย เป็นผู้นำประเทศสมาชิก G20 เพียงคนเดียวที่ไม่ได้เข้าร่วมการประชุมด้วยตนเอง เนื่องจากเกรงว่าเขาอาจถูกจับกุมตามการออกหมายจับของศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในข้อกล่าวหา ‘ก่ออาชญากรรมสงครามในยูเครน’ จึงส่ง เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย เข้าร่วมการประชุมแทน

 

นอกจากผู้นำและผู้แทนจากกลุ่มสมาชิก G20 ทั้ง 21 แห่งแล้ว ยังมีผู้นำและผู้แทนอื่นๆ ที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เช่น นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์และมาเลเซีย, ประธานาธิบดีเวียดนาม, ผู้แทนระดับสูงจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, เลขาธิการสหประชาชาติ, ประธานธนาคารโลก และกรรมการผู้จัดการกองทุน IMF 

 

วาระสำคัญในการประชุม G20

 

ผู้นำ G20 ออกแถลงการณ์ร่วมเน้นย้ำถึง ‘ความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นจากสงครามและความขัดแย้ง’ โดยเฉพาะสงครามในยูเครนและฉนวนกาซาที่กำลังเผชิญหน้ากับ ‘วิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่’ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายเร่งประสานความช่วยเหลือและคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่พลเรือน ควบคู่ไปกับการเจรจาหยุดยิง

 

ลูอิซ อินาซิโอ ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีบราซิลในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม ยังได้ประกาศ ‘ต่อสู้กับความหิวโหยและความยากจน’ ผ่านการจัดตั้งเครือข่าย ‘Global Alliance Against Hunger and Poverty’ เพื่อร่วมรับมือกับปัญหานี้ทั่วโลก โดยชี้ว่า “ความหิวโหยและความยากจนไม่ได้เป็นผลมาจากความขาดแคลนหรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ แต่เป็นผลลัพธ์ของการตัดสินใจทางการเมือง”

 

ในแถลงการณ์ร่วม ผู้นำกลุ่ม G20 ยังเห็นพ้องว่าโลกจำเป็นต้องบรรลุข้อตกลงด้านสิ่งแวดล้อมว่าด้วยการกำหนดเป้าหมายใหม่ทางการเงิน โดยประเทศร่ำรวยจะต้องจัดหาเงินสนับสนุนแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนที่การประชุมสุดยอดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศขององค์การสหประชาชาติ หรือ COP29 ปีนี้ ที่กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน จะปิดฉากลง

 

นอกจากนี้ที่ประชุม G20 ยังหารือเกี่ยวกับประเด็นด้านการค้าและความมั่นคงระหว่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการคว้าชัยในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 2024 ของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังจะหวนคืนทำเนียบขาวในเดือนมกราคม ปี 2025

 

แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของ โจ ไบเดน จะร่วมต่อสู้กับความหิวโหยและความยากจน รวมถึงให้คำมั่นสัญญาใหม่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศและการพัฒนา แต่หลายฝ่ายเชื่อว่าการกระทำดังกล่าวจะเป็นการกระทำเชิงสัญลักษณ์เท่านั้น และจะถูกลบล้างอย่างรวดเร็วหลังจากที่ทรัมป์กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ 

 

ความกังวลต่อทรัมป์ 2.0 ในที่ประชุม G20

 

ที่ประชุม G20 ในปีนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่มีต่อการปรับเปลี่ยนแนวทางนโยบายสำคัญของสหรัฐฯ หลังจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมกลับมากุมบังเหียนในการขับเคลื่อนสหรัฐฯ อีกครั้งในยุค ‘ทรัมป์ 2.0’ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2025 เป็นต้นไป โดยจุดยืนของทรัมป์ในการเพิ่มกำแพงภาษี แนวโน้มที่จะยุติการสนับสนุนยูเครนในสงครามรัสเซีย-ยูเครน รวมถึงการเคยถอนตัวออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) ต่างสวนทางกับจุดยืนของกลุ่มความร่วมมือต่างๆ รวมถึงกลุ่ม G20 และแนวทางเหล่านี้จะสร้างความท้าทายให้กับประชาคมโลกอย่างมาก

 

ฆาเบียร์ มิเล ประธานาธิบดีอาร์เจนตินา เจ้าของฉายา ‘ทรัมป์แห่งอาร์เจนตินา’ เป็นผู้นำประเทศคนแรกที่เดินทางเข้าพบทรัมป์ถึงที่ปาล์มบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อร่วมแสดงความยินดีกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ชัยชนะของทรัมป์ในการเลือกตั้งใหญ่นี้จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นใจให้กับมิเลมากยิ่งขึ้น เนื่องจากทั้งสองคนมีแนวคิดและอุดมการณ์สอดคล้องกัน

 

นักการทูตบางคนถึงกับแสดงความกังวลว่า ‘แนวนโยบายโดดเดี่ยว’ (Isolationism) จากการถอนตัวจากกลุ่มความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะความตกลงปารีสของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์ อาจเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้นำฝ่ายขวาของอาร์เจนตินาอย่างมิเลปฏิบัติตาม ซึ่งจะนำไปสู่ความแตกแยกครั้งใหญ่ในกลุ่มสมาชิก G20 

 

“สงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้กลุ่มสมาชิกต่างต้องเผชิญหน้ากัน เพราะจุดยืนที่แตกต่างกัน แต่ทรัมป์จะยิ่งทำให้ความแตกแยกนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น และการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่มากขึ้นนี้หมายความว่าอำนาจและอิทธิพล (ของกลุ่ม G20) ก็จะลดน้อยลง”

 

นอกจากนี้การเตรียมกลับมาของทรัมป์ยังส่งสัญญาณให้เห็นถึงบรรยากาศการแข่งขันระหว่างรัฐมหาอำนาจที่มีแนวโน้มดุเดือดและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดย สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ใช้โอกาสในการเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้กระชับความสัมพันธ์กับบรรดาประเทศ ‘โลกใต้’ (Global South) ผ่านการสนับสนุนทางเศรษฐกิจ การลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ตลอดจนลดกำแพงภาษีและการค้าให้กับประเทศกำลังพัฒนา และประกาศว่าจีนพร้อมที่จะทำงานร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐฯ เพื่อรักษาช่องทางการสื่อสาร ขยายความร่วมมือ และจัดการกับจุดยืนที่แตกต่างกันของทั้งสองประเทศ

 

ภาพ: Kevin Wurm  / Reuters, Ricardo Moraes / Reuters

อ้างอิง:

FYI
  • สมาชิกกลุ่ม G20 ได้แก่ อาร์เจนตินา, ออสเตรเลีย, บราซิล, แคนาดา, จีน, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อินเดีย, อินโดนีเซีย, อิตาลี, ญี่ปุ่น, เม็กซิโก, รัสเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, แอฟริกาใต้, เกาหลีใต้, ตุรกี, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป และสหภาพแอฟริกา
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X