ในยุคที่เทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับตัวของธุรกิจให้ทันเทรนด์ต่างๆ เป็นเรื่องสำคัญ แต่เมื่อเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับองค์กรมากขึ้น คำถามคือ ธุรกิจที่ผสาน AI เข้ากับกลยุทธ์ที่เน้นบุคลากรจะช่วยปลดล็อกโอกาสใหม่ๆ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างไร
องค์กรชั้นนำทำอย่างไรในการดึงดูด พัฒนา และเพิ่มทักษะให้บุคลากร เพื่อพร้อมรับมือกับความท้าทายของอนาคต?
สภาพแวดล้อมของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลให้องค์กรต้องเผชิญกับแรงกดดันจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีเทคโนโลยีก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางที่สำคัญกับทุกกลยุทธ์ การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงขององค์กร จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลให้การทำงานของผู้คนและการเข้าถึงข้อมูลเปลี่ยนไปหมด บ่อยครั้งที่ต้องปรับทักษะให้ก้าวทันเทคโนโลยี ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้นำธุรกิจต้องสามารถแข่งขันและนำธุรกิจให้ก้าวล้ำนำหน้าคู่แข่งเสมอ หรือแม้แต่การปรับตัวเพื่อความอยู่รอด บรรดาผู้นำยิ่งต้องให้ความสำคัญกับทาเลนต์หรือบุคลากรที่มีความสามารถมาเป็นอันดับแรก
งานวิจัยของเอคเซนเชอร์ เผยให้เห็นอินไซต์เกี่ยวกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นไปได้ใน 3 สถานการณ์หรือฉากทัศน์ แต่ละสถานการณ์ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะนำนวัตกรรมและ AI มาใช้ได้เร็วแค่ไหน ซึ่งฉากทัศน์ที่ ‘เน้นบุคลากรเป็นศูนย์กลาง’ (People-Centric) ให้ความสำคัญกับผู้คนและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนหลัก เป็นฉากทัศน์ที่โดดเด่นที่สุด ซึ่งมีโอกาสสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของโลกได้เพิ่มอีก 10.3 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2038
องค์กรที่ประสบความสำเร็จในการปั้นทาเลนต์ จะเข้าใจถึงบทบาทสำคัญของบุคลากรในการสร้างความเปลี่ยนแปลงและความได้เปรียบทางการแข่งขัน แม้ว่าระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์จะก้าวหน้ากว่าเดิมมาก แต่ผู้บริหารก็ยังคงต้องอาศัยบุคลากรที่มีทักษะสูง ที่จะช่วยกันพาองค์กรให้บรรลุเป้าหมายทางธุรกิจและสิ่งแวดล้อมได้
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้เป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป แรงกดดันทางเศรษฐกิจและแรงผลักดันทางเทคโนโลยีที่เรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาแบบผสมผสานและในแนวทางใหม่ๆ องค์กรต่างๆ จึงจำเป็นต้องสรรหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกันเข้ามารวมเป็นทีมในแบบใหม่ เพื่อพัฒนาโซลูชันได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งต้องอาศัยความหลากหลายของทักษะและความรู้ความสามารถที่จำเป็น ได้แก่ ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเคมีผนวกกับนวัตกรรม รวมถึงภูมิอากาศวิทยาผนวกกับเทคโนโลยีอัจฉริยะ (AI)
หลายประเทศต้องเผชิญกับความท้าทายในการดึงดูดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ แม้จะเป็นแหล่งดึงดูดและบ่มเพาะทาเลนต์ที่ดีที่สุด อันดับ 2 ของโลก แต่ก็กำลังเจออุปสรรค เพราะนายจ้างมากถึง 83% ต้องแย่งชิงบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านที่องค์กรต้องการ ในขณะที่ประเทศไทยก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันที่เผชิญปัญหาแย่งชิงทาเลนต์ โดยกว่า 20% ของบริษัทในไทยขาดแคลนแรงงานทักษะ โดยเฉพาะทักษะดิจิทัล
เพื่อตอบโจทย์ปัญหานี้ บริษัทต่างๆ จึงต้องปรับบทบาท จากที่เคยดึงทาเลนต์ก็เป็นการปั้นทาเลนต์แทน การปรับตัวเช่นนี้สำคัญมากสำหรับการเตรียมคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันให้พร้อมสำหรับอนาคต และพร้อมรับมือกับความต้องการในตลาดที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด ซึ่งองค์กรต่างๆ สามารถนำ 3 แนวทางนี้ไปปรับใช้ เพื่อปรับองค์กรสู่การเป็นแหล่งปั้นทาเลนต์ได้อย่างประสบผลสำเร็จ
- ใช้เทคโนโลยีหาคนที่ใช่และพัฒนาทาเลนต์
เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากในส่วนนี้ เพราะองค์กรที่มุ่งสร้างทาเลนต์จะใช้ข้อมูลเชิงลึกที่ขับเคลื่อนด้วย AI มาช่วยกำหนดว่าความสามารถแบบไหนที่จำเป็นที่สุดสำหรับองค์กร และจะดึงทาเลนต์ที่มีทักษะเหล่านั้นมาร่วมงานได้อย่างไร การนำเทคโนโลยี AI และ Machine Learning มาใช้ จะช่วยให้เข้าใจดียิ่งขึ้นว่าอคติส่งผลต่อกระบวนการคัดสรรบุคลากรอย่างไร และช่วยปรับปรุงประสบการณ์ของผู้สมัครให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้เทคโนโลยียังสามารถช่วยเราค้นหาทาเลนต์ที่มีทักษะโดดเด่นแต่อาจถูกมองข้ามได้ด้วย
- ลงทุนในการเรียนรู้และอัปสกิลอย่างต่อเนื่อง
องค์กรที่มุ่งสร้างทาเลนต์จะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของพนักงาน และลงทุนวางโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการนำความสามารถต่างๆ มาใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของธุรกิจ ซึ่งรวมถึงการฝึกอบรมพนักงานที่ไม่มีทักษะหรือยังขาดทักษะบางด้านและการพัฒนาทักษะใหม่ๆ หรือแม้แต่การวางแผนพัฒนาความเชี่ยวชาญให้กับบุคลากรในองค์กรด้วย นอกจากนี้องค์กรยังมีโอกาสเพิ่มการรับพนักงานระดับเริ่มต้น (Entry Level) ผ่านความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รวมถึงการจัดโปรแกรมแลกเปลี่ยนและหมุนเวียนตำแหน่งงานสำหรับพนักงานรุ่นใหม่
- สร้างสภาพแวดล้อมการทำงานในแบบ ‘Net Better Off’
การมีชีวิตที่ดีขึ้นแบบ Net Better Off หมายความว่า ความต้องการพื้นฐานของพนักงานจะได้รับการตอบสนอง พวกเขารู้สึกได้ว่ามีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดี (ทั้งทางกาย จิตใจ และด้านการเงิน) มีความสัมพันธ์ที่ดี เชื่อมั่น รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และการทำงานของพวกเขามีความหมาย ยกตัวอย่างเช่น การสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พนักงานสามารถเสนอความคิดเห็นได้ การฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโอกาสและความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคต พร้อมกับให้อิสระในการคิดสร้างสรรค์ด้วยเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่มี
แนวทางการบูรณาการแบบนี้นี่เองที่เป็นหัวใจสำคัญของการทำให้เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย เป็น Best Place for Talent
การใช้กลยุทธ์ต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งรวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานในแบบ Net Better Off จะช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถปรับบทบาทเป็นแหล่งปั้นทาเลนต์ มีความพร้อมในการตอบสนองความต้องการเมื่อองค์กรต้องใช้ AI เข้ามาช่วยปรับเปลี่ยนธุรกิจ พร้อมรักษาความได้เปรียบเชิงแข่งขันเอาไว้ในยุคที่เทคโนโลยีพัฒนาก้าวไปเร็วเหลือเกิน