เจาะ 3 ขั้วพลังการเมืองไทย เกมนี้ไม่มีใครชนะขาด?
เวที THE POWER GAME: Thai Political Landscape 2025 เช็กกำลังขั้วอำนาจการเมืองไทย 2568 ซึ่งเป็นวงสนทนาสุดท้ายในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 ร่วมแลกเปลี่ยนโดย สรกล อดุลยานนท์, ธนกร วงษ์ปัญญา และ พลวุฒิ สงสกุล Host และ Co-host รายการ THE POWER GAME
เริ่มจากการฉายภาพให้เห็นภูมิทัศน์ทางการเมืองไทยปัจจุบัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 พลัง คือ ก้าวหน้า (Progressive), กลาง (Moderate) และอนุรักษนิยม (Conservative) และแบ่งเป็น 3 หมวดพรรคการเมือง ได้แก่ พรรคประชาชน พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย
เป้าหมายของทั้ง 3 ขั้ว
พรรคเพื่อไทย: ทวงชัยชนะในการเลือกตั้ง แม้จะแพ้พรรคประชาชน แต่ต้องเป็นที่ 1 ในฝั่งเดียวกัน และต้องมีคะแนนทิ้งห่างจากพรรคภูมิใจไทย
พรรคประชาชน: ชนะการเลือกตั้งให้ได้ 270 ที่นั่ง จาก 500 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งปี 2570
พรรคภูมิใจไทย: ต้องได้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ความท้าทายที่ต้องพบ
พรรคเพื่อไทย: จำเป็นต้องข้ามขั้วเพื่อป้องกันไม่ให้พรรคประชาชนได้เป็นรัฐบาล และด้วยความเชื่อว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นได้ แต่พรรคเพื่อไทยคุ้นชินกับการชนะแบบแลนด์สไลด์ มีอำนาจเบ็ดเสร็จ และขณะนี้มีพรรคภูมิใจไทยมาทำให้ดุลอำนาจเปลี่ยนไป การผลักดันวาระต่างๆ ให้สำเร็จเป็นผลงานของรัฐบาลจึงเกิดขึ้นได้ยาก
พรรคประชาชน: ต้องการคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น เป้าหมายคือ ‘เขตครึ่งใจ’ หมายถึงเขตที่เอาชนะ สส. แบบบัญชีรายชื่อ ได้ แต่ยังแพ้ สส. แบบแบ่งเขต ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จึงต้องวางยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งครั้งหน้าให้คะแนนเทมาที่พรรคสีส้ม ‘ทั้งใจ’ คือชนะทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป้าหมายหลักที่ต้องแย่งคะแนนเสียงมาให้ได้มากที่สุดคือพรรคภูมิใจไทย
พรรคภูมิใจไทย: การจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องมี ‘ตั๋วจากประชาชน’ หรือคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง และอาศัยอำนาจที่มาจาก สว. ที่ถูกเรียกว่า ‘สว. สีน้ำเงิน’ ที่สามารถเห็นชอบบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ แต่จะนำมาสร้างอำนาจต่อรองสู่ตำแหน่งผู้นำรัฐบาลได้หรือไม่
จับตาการเมืองปีต่อไป
สรกลวิเคราะห์สภาพการเมืองไทยในปัจจุบันว่าเป็นการเมืองแบบ ‘โหนกระแส’ คือฝ่ายหนึ่ง ‘โหน’ อีกฝ่ายหนึ่งใช้ ‘กระแส’ โจทย์ของแต่ละฝ่ายเหมือนกับ 3 ก๊ก ที่ไม่มีก๊กใดชนะได้เด็ดขาด ภาพของการชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ในอดีตอาจน้อยลง แต่ต้องรวม 2 ก๊กเข้าด้วยกันเพื่อให้ได้เสียงส่วนใหญ่
ดังนั้น ดุลอำนาจทางการเมืองจึงมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ไม่สามารถทำนายล่วงหน้าไปหลายปีได้ แต่ต้องดูต่อไปทีละขั้น
สรกลมองว่า ประเด็นร้อนทางการเมืองที่ต้องติดตามต่อไปในปีหน้าคือความเปราะบางที่พรรคประชาชนเผชิญอยู่ โดยเฉพาะคดี 44 สส. ของอดีตพรรคก้าวไกล ที่ร่วมเข้าชื่อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเสี่ยงจะนำมาสู่การถูกตัดสิทธิทางการเมืองตลอดชีวิต
รวมถึงต้องจับตาดุลอำนาจระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคภูมิใจไทยที่เดินไปก็เตะตัดขากันไปตลอด ขอให้สังเกตท่าทีของ สว. สายสีน้ำเงิน ที่สามารถสะท้อนว่าการเจรจากันระหว่างผู้มีอิทธิพลของ 2 พรรคลงตัวแล้วหรือไม่
นอกจากนี้ยังมี ‘ไพ่สุดท้าย’ ในมือนายกรัฐมนตรีคือการยุบสภา เป็นอำนาจที่ทุกพรรคการเมืองกลัว แต่ไพ่ใบนี้ต้องใช้ต่อเมื่อพรรคเพื่อไทยกำลังได้เปรียบเท่านั้น เพราะทุกอย่างจะจบและไปเริ่มต้นกันใหม่ด้วยตัวเลขคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง ดังนั้น พรรคเพื่อไทยต้องสร้างผลงาน เพื่อทำให้ผู้มีอำนาจเห็นว่าตนเองยังเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าพรรคการเมืองอื่น
ถึงแม้สถานการณ์การเมืองไทยจะวนเวียนอยู่แบบเดิม แต่สรกลทิ้งคำถามไว้ว่า ตั้งแต่ที่ผ่านมาถึงวันนี้ ทุกคนมีความหวังทางการเมืองมากขึ้นหรือไม่ เราอยากเห็นการเมืองเป็นอย่างไร เราไม่สามารถรอคอยและตั้งความหวังเพียงอย่างเดียวได้ แต่ต้องลงมือทำและเปลี่ยนแปลงมัน