เวทีเสวนาหัวข้อ AI Upskill: Preparing the Workforce for Tomorrow ปัญญาประดิษฐ์พลิกแรงงานสู่อนาคต ภายในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 วานนี้ (13 พฤศจิกายน) มีการพูดคุยถึงทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานไทยในยุค AI ที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท สคูลดิโอ จำกัด ชี้ถึงทักษะที่จำเป็นในยุค AI ว่าประกอบด้วย
- ทักษะสมัยใหม่ที่จำเป็น อาทิ ทักษะด้านข้อมูล
- ทักษะมนุษย์ที่ยั่งยืน เช่น การมีวิจารณญาณในการใช้ AI และทักษะการทำงานระหว่างคน
- ทักษะเทคโนโลยีชั้นสูง อาทิ การเปลี่ยนตัวเองจากผู้ใช้เป็นผู้สร้าง เพื่อเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน
ขณะที่ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์ ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย MQDC ให้ความเห็นต่อสิ่งที่สำคัญในการทำงานยุค AI อย่าง ‘ระบบการศึกษา’ ซึ่งเธอมองว่าระบบการศึกษาของไทยในยุคที่ AI เฟื่องฟูสามารถมองเป็น 4 ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้ คือ
- การศึกษาสร้างทาสหรือการเห่อใช้ AI อย่างรุนแรงเพื่อตอบโจทย์ในการเรียนรู้ เช่น การทำการบ้าน แต่ขาดการคิดวิเคราะห์ที่ดี
- การศึกษาพาสงสัยหรือการใช้ AI อย่างรวดเร็ว มีการนำเข้าข้อมูลและการเรียนรู้ แต่ขาดบริบทและข้อมูลที่ไม่ตรงกับการพัฒนาของไทย
- การเรียนรู้แบบใช้ AI อย่างเข้าใจ มีความเท่าเทียมในการเข้าถึง AI
- การใช้ AI ได้อย่างมีประโยชน์ และมีทักษะความเป็นมนุษย์
ด้าน พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน ให้ความเห็นในแง่ความท้าทายและข้อติดขัดในการพัฒนาทักษะ AI ของประเทศไทย โดยมองว่า รัฐบาลไทยลงทุนในการยกระดับทักษะแรงงานน้อยเกินไป และการลงทุนยกระดับทักษะแรงงานของหน่วยงานรัฐเป็นไปแบบกระจัดกระจาย ซ้ำซ้อน และต่างคนต่างทำ ขณะที่รัฐยังสร้างงานและออกแบบคอร์สยกระดับทักษะโดยคิดแทนตลาดหรือผู้เรียนรู้
โดยเขามองว่าสิ่งที่จะช่วยเรื่องการยกระดับทักษะคือการปฏิรูประบบราชการ เช่น การรื้องบประมาณ ยกเลิกโครงการเดิมๆ ที่ไม่มีประโยชน์ การทลายกำแพงระหว่างหน่วยงานที่มีความซ้ำซ้อน การไม่อดทนอดกลั้นต่อระบบอุปถัมภ์ และการไว้ใจประชาชนในการเลือกเรียนรู้ทักษะต่างๆ ด้วยตัวเอง