นับเป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้วที่วิถีการทำงานของคนทั่วโลกเปลี่ยนไปเพราะสิ่งที่เรียกว่าโรคโควิด จากเดิมที่หลายคนเคยต้องเข้าออฟฟิศเพื่อพบปะเพื่อนร่วมงานทุกวัน กลับกลายเป็นถูกบีบบังคับให้เว้นระยะห่างและทำทุกอย่างผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนเริ่มปรับตัวทำงานแบบ Remote Work
แต่เมื่อการระบาดเริ่มคลี่คลายลง ผู้คนรวมถึงธุรกิจก็เริ่มกลับมาดำเนินวิถีชีวิตแบบเดิมมากขึ้น ทว่าการทำงานแบบ Remote Work ที่มอบความยืดหยุ่นให้กับพนักงานก็กลายเป็นความคุ้นชินของใครหลายคนไปแล้ว โดยผู้คนส่วนใหญ่ต้องการทำงานจากทั้งออฟฟิศและที่บ้าน (Hybrid Work) ผสมผสานกันไป
ผลสำรวจจาก ‘2024 Global MARCO New Consumer Report’ เผยอินไซต์ว่า พนักงานที่ร่วมตอบแบบสอบถามกว่า 43.5% ชอบทำงานแบบผสม ในขณะที่ 39.3% ต้องการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศตลอดทั้งสัปดาห์ และส่วนที่เหลืออยากทำงานทางไกลเต็มเวลา ซึ่งผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าเทรนด์การทำงานแบบผสมเป็นสิ่งที่พนักงานส่วนใหญ่มองหา
อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา Amazon หนึ่งบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลกตัดสินใจประกาศให้พนักงานทุกคนต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ 5 วันต่อสัปดาห์ เหมือนกับที่เคยเป็นมาตลอดหลายปีก่อนที่การระบาดของโรคโควิดจะเกิดขึ้น นำมาซึ่งความไม่พอใจของคนทำงานบางกลุ่มในบริษัท โดย TeamBlind แพลตฟอร์มที่ให้พนักงานเข้าไปตั้งกระทู้พูดคุยกันแบบไม่ต้องระบุตัวตน รายงานผลสำรวจไว้ว่า 91% ของพนักงาน Amazon รู้สึกไม่พอใจ และ 73% เผยว่าอาจพิจารณาหางานใหม่สืบเนื่องมาจากการประกาศเรียกพนักงานกลับออฟฟิศครั้งล่าสุดของบริษัท
ทำไม Amazon ถึงยอมเสี่ยงที่จะนำนโยบายที่พนักงานหลายคนไม่เห็นด้วยมาใช้ การกลับออฟฟิศทุกวันสำคัญอย่างไรกับการทำงาน
THE STANDARD WEALTH เดินทางไปเยือนบ้านเกิดของ Amazon ที่รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา และร่วมพูดคุยกับ Matt Garman ซีอีโอคนปัจจุบันของหนึ่งในหน่วยย่อยธุรกิจของ Amazon นั่นก็คือ Amazon Web Services (AWS) ผู้ให้บริการคลาวด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 31% เพื่อหาคำตอบของความสำคัญในการดึงคนกลับออฟฟิศเต็มเวลา
‘การเจอกัน’ วิถีการทำงานที่ตอบโจทย์บริษัทผู้สร้างนวัตกรรม
ท่ามกลางการเห็นต่างจากพนักงาน Garman กลับมองว่านโยบายที่ทำให้ทุกคนต้องกลับออฟฟิศคือกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อนบริษัทให้ไปสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีในระยะยาว
“การจะกลับหรือไม่กลับออฟฟิศนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะขององค์กร และมิได้มีสูตรสำเร็จตายตัว แต่สำหรับ Amazon นี่เป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด” Garman กล่าว
แน่นอนว่าการบังคับใช้นโยบายที่พนักงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยนับเป็นเรื่องที่มีความเสี่ยง แต่หลังจากการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน Garman เผยว่า มี 2 เหตุผลหลักที่ทำให้บริษัทตัดสินใจเช่นนี้
- การกลับมาเจอหน้ากันเป็นสิ่งที่ทำให้งานเดินหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยเฉพาะในบริบทของ Amazon ที่เป็นผู้นำในการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งต้องอาศัยความรวดเร็วและความร่วมมือระหว่างทีมสูง การกลับมาจึงตอบโจทย์กับสิ่งที่บริษัททำมากกว่า แม้ว่าการทำงานทางไกลในช่วงที่ผ่านมาจะทำให้งานเสร็จเหมือนกันก็ตาม
- วัฒนธรรมองค์กรที่เรียกว่า ‘Day 1’ คือสิ่งที่ทำให้ Amazon แตกต่าง ซึ่งเป็นแนวคิดการทำงานแบบสตาร์ทอัพที่ยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้เร็วเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยการพบปะของพนักงานจำเป็นอย่างยิ่งต่อการรักษาวัฒนธรรมนี้
Jeff Bezos เคยกล่าวไว้ว่า “ลูกค้าไม่เคยมีคำว่าพอและต้องการสิ่งที่ดีกว่าเสมอ ของที่เคยน่าประทับใจในวันก่อนอาจกลายเป็นเรื่องธรรมดาในวันนี้ ถ้าคุณสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ผลักตัวเองให้มองหาวิธีใหม่ๆ เพื่อสร้างความประทับใจให้ลูกค้าทุกวัน ในทุกส่วนของธุรกิจ นั่นจะผลักให้คุณคิดค้นนวัตกรรมเพื่อพวกเขา”
นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ Day 1 คือหัวใจของการทำงานที่ AWS ซึ่งบริษัทเชื่อว่าการกลับมาพบปะกันของพนักงานจะทำให้พวกเขาซึมซับวัฒนธรรมดังกล่าวได้เต็มที่ที่สุด
Amazon Spheres ออฟฟิศที่นำ ‘คน’ เชื่อม ‘ธรรมชาติ’
เมื่อการกลับออฟฟิศกำลังจะถูกบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2025 แต่ก็ใช่ว่าการเข้ามาทำงานที่ Amazon ทุกวันจะเหมือนฝันร้ายที่ต่างคนต่างต้องนั่งอยู่ใน ‘คอก’ ของตัวเองทุกๆ วันเสมอไป โดยเฉพาะที่สำนักงานใหญ่ในเมืองซีแอตเทิลซึ่งมีสถานที่ชื่อว่า Amazon Spheres
Amazon Spheres มีลักษณะเป็นโดมกระจกโปร่งแสงขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้พนักงานได้ใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติระหว่างทำงาน เป็นสถานที่ทำงานทางเลือกที่สงบ ในขณะที่ยังเปิดกว้างทั้งสำหรับการประชุมร่วมกันหรือจะทำงานด้วยตัวเองอย่างเงียบๆ ก็ได้
ภายใน Amazon Spheres ประกอบไปด้วยพืชพันธุ์กว่า 40,000 ชนิดจากทั่วทุกมุมโลก โดยอาคารสามารถรองรับจำนวนพนักงานได้ครั้งละ 800 คน
แน่นอนว่าการมีสถานที่ทำงานที่ได้รับการออกแบบล้ำสมัยอย่าง Amazon Spheres อาจไม่สามารถขจัดความไม่พอใจของพนักงานทุกคนที่ถูกบังคับให้กลับมาประจำการที่ออฟฟิศในทุกวันของสัปดาห์ได้ แต่สถานที่แห่งนี้ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยให้ประสบการณ์การหวนคืนสู่ออฟฟิศไม่จำเจและมีมิติมากยิ่งขึ้น
การเดิมพัน ‘ระยะสั้น’ เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ใน ‘ระยะยาว’
สำหรับประเด็นที่ว่าพนักงานบางคนอาจเลือกลาออกเพราะนโยบายที่บังคับให้ต้องกลับมาออฟฟิศทุกวัน Garman มีความเห็นว่า เขาไม่ได้กังวลกับเรื่องนี้ เนื่องจากในท้ายที่สุดการเดินหน้าของธุรกิจเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับลูกค้าเป็นเรื่องที่มีน้ำหนักมากกว่า
“เราคงต้องยอมรับว่าบริษัทไม่สามารถไปก้าวก่ายการตัดสินใจของพนักงานได้ บางคนอาจเลือกไม่อยู่ต่อเพราะนโยบายดังกล่าว แต่ผมเชื่อว่าจะเป็นแค่กลุ่มคนเล็กๆ ซึ่งเรายอมรับได้ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าคือเป้าหมายการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งในระยะยาว” Garman กล่าวเสริม
ย้อนกลับไปที่งานวิจัยของ TeamBlind ที่เผยว่า 73% ของพนักงานอาจพิจารณาหางานที่ใหม่เพราะ Amazon บีบบังคับให้พวกเขาต้องกลับออฟฟิศ 5 วัน ในขณะเดียวกัน ตัวเลขที่ออกมาในรายงาน 2024 Global MARCO New Consumer Report ระบุว่า 64% ของพนักงานทั่วโลกรู้สึก ‘ไม่มีปัญหา’ ที่จะทำงานในบริษัทที่ไม่มีนโยบาย Hybrid Work
สุดท้ายแล้วการสูญเสียพนักงานที่มองว่าออฟฟิศคือกำแพงอาจเป็นการเปิดประตูต้อนรับคนที่พร้อมจะก้าวเข้ามาสร้างนวัตกรรมในพื้นที่ที่ Amazon เรียกว่า ‘บ้าน’