×

World Bank แนะ 3 กลยุทธ์ปลดล็อกไทยสู่ประเทศรายได้สูงในอีก 13 ปี

13.11.2024
  • LOADING...
World Bank แนะ 3 กลยุทธ์ปลดล็อกไทยสู่ประเทศรายได้สูงในอีก 13 ปี

World Bank เสนอ 3 กลยุทธ์ช่วยให้ประเทศไทยไม่ต้องเสียใจภายหลัง พร้อมก้าวเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2037

 

Melinda Good, World Bank Country Director for Thailand and Myanmar กล่าวในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ ในหัวข้อ Bold Reforms for the World’s New Playbook: Shaping a Sustainable and Competitive Thailand คู่มือปฏิรูปประเทศไทยในกฎใหม่ของโลก ว่าไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก ซึ่งหมายถึงการที่ประชากร 10% ครองความมั่งคั่ง 75% ของทั้งประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ไทยก็มีเป้าหมายที่อยากจะก้าวไปสู่ประเทศรายได้สูงภายในปี 2037 ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายนี้ได้เศรษฐกิจไทยจำเป็นจะต้องเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปีในอีก 13 ปีจากนี้ ขณะที่การเติบโตตลอดทศวรรษที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตเพียง 1.8% โดยเฉลี่ย

 

“จากประสบการณ์ที่เรารับรู้จากนานาประเทศ การจะก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางเป็นเรื่องยาก นับแต่ปี 1990 มีเพียง 34 ประเทศที่ก้าวจากประเทศรายได้ปานกลางเป็นประเทศรายได้สูง โดย 13 จาก 34 ประเทศทำได้จากการเชื่อมโยงกับสหภาพยุโรปและการเปิดการค้าเสรี การเคลื่อนย้ายแรงงาน และเป็นช่วงที่ยุโรปเติบโตอย่างรวดเร็ว”​

 

ขณะที่บางประเทศเติบโตผ่านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ชิลี และซาอุดีอาระเบีย ส่วนเกาหลีใต้ทำได้ผ่านการลงทุนในการศึกษา ขยายการค้าระหว่างประเทศ และยกระดับนวัตกรรมไปสู่ระดับโลก

 

แล้วประเทศไทยจะทำได้หรือไม่?

 

Good มองว่ากลยุทธ์ที่จะช่วยให้เราไม่ต้องเสียใจในภายหลัง และช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ไม่ว่าบริบทโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่

 

  1. การลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investments) เช่น การบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในความเสี่ยงสำคัญของไทย อย่างน้ำท่วมใหญ่ปี 2011 กระทบต่อ GDP ไทยถึง 12% และหลังจากนั้นน้ำท่วมในแต่ละปีกระทบต่อเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

 

  1. การระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Mobilizing Sustainable) ในส่วนนี้ไทยควรมีพื้นที่ที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศมากขึ้น อย่างระบบการจัดเก็บภาษีคาร์บอนและกลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งสามารถช่วยได้แต่ยังไม่เพียงพอ ภาครัฐยังต้องสนับสนุนเงินทุนสีเขียวรูปแบบใหม่ๆ

 

  1. ปฏิรูปการศึกษาและทักษะแรงงาน (Transforming Education and Workforce Skills) ทั้งการยกระดับความรู้และทักษะด้านการคำนวณ นวัตกรรม รวมทั้งการลดข้อจำกัดในการลงทุนของต่างชาติ

 

นอกจากนี้ Good เน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมนวัตกรรมและการแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของการเติบโตในอนาคต โดยอิงจากรายงาน World Development Report 2024 ที่แนะนำให้แต่ละประเทศโฟกัสใน 3 ส่วนสำคัญ คือ การเพิ่มการลงทุน (Investment) การนำเทคโนโลยีระดับโลกมาปรับใช้ในประเทศ (Infusion) และการลงทุนด้านการศึกษา (Education)

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising