×

ตึงเครียดกว่าเดิม! กาตาร์ปฏิเสธ 13 ข้อเรียกร้องของซาอุฯ ด้านอิหร่านและตุรกีร่วมสนับสนุน

26.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins read
  • หลังจากวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2017 ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์ ออกข้อเรียกร้อง 13 ข้อ ให้กาตาร์ทำตาม เพื่อหยุดการตัดความสัมพันธ์รุนแรงตลอดกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา กาตาร์ออกมาปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว
  • อิหร่านประกาศจะยืนเคียงข้างกาตาร์ แม้ซาอุดีอาระเบียจะกดดันให้กาตาร์ลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน
  • ตุรกีประกาศที่จะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของซาอุดีอาระเบีย ที่เรียกร้องให้ตุรกีหยุดสร้างฐานทัพในกาตาร์เช่นกัน เพราะมองว่าข้อเรียกร้องนี้เป็นการรุกล้ำอำนาจอธิปไตยของกาตาร์

     หลังจากซาอุดีอาระเบียยื่นข้อเรียกร้อง 13 ข้อให้กาตาร์ทำตามเมื่อวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อยกเลิกการคว่ำบาตร และการตัดความสัมพันธ์ทั้งทางอากาศและทางพรมแดนกับกาตาร์ที่ดำเนินมาเป็นเวลากว่า 3 สัปดาห์ โดยให้กาตาร์พิจารณาข้อเสนอเหล่านี้และปฏิบัติตามภายใน 10 วัน กาตาร์ออกมาปฏิเสธที่จะไม่ทำตามข้อเสนอทั้งหมด (สั่งปิดสำนักข่าวอัลจาซีรา! ซาอุดีอาระเบียยื่นข้อเสนอ 13 ข้อต่อกาตาร์เพื่อหยุดวิกฤต)

 

Photo: KARIM JAAFAR/AFP     

     

     ข้อเรียกร้อง 13 ข้อ ที่รวมถึงการปิดเครือข่ายสำนักข่าวอัลจาซีราในกาตาร์และในกลุ่มประเทศอาหรับ การสั่งให้กาตาร์ลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน และการหยุดให้ตุรกีเข้ามาสร้างฐานทัพในกาตาร์นั้น กาตาร์มองว่าเป็นการ ‘รุกล้ำอำนาจอธิปไตยของกาตาร์’ ในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของตนเอง

     ท่าทีของอิหร่านและตุรกีนั้นมีจุดยืนชัดเจนว่าสนับสนุนกาตาร์ไม่ให้ทำตามข้อเสนอดังกล่าว เพราะอิหร่านกับซาอุดีอาระเบียนั้นคือคู่ขัดแย้งในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด ซาอุดีอาระเบียจึงพยายามกดดันทุกวิถีทางให้กาตาร์ลดความสัมพันธ์กับอิหร่าน ขณะที่สหรัฐฯ เองแม้จะเป็นพันธมิตรสำคัญของซาอุดีอาระเบียก็ยังมองว่า ข้อเสนอ 13 ข้อนั้นยากสำหรับกาตาร์ และเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้าเจรจากัน

     แต่ยังไม่มีสัญญาณว่าทั้งสองฝ่ายจะหันหน้าเจรจากัน

 

Photo: ERIC PIERMONT/AFP

 

กาตาร์ปฏิเสธ 13 ข้อเรียกร้องของซาอุดีอาระเบีย

     หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2017 ที่ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ บาห์เรน และอียิปต์ออกข้อเรียกร้อง 13 ข้อให้กาตาร์ทำตาม เพื่อหยุดการตัดความสัมพันธ์รุนแรงตลอดกว่า 1 เดือนที่ผ่านมา กาตาร์ออกมาปฏิเสธที่จะทำตามข้อเรียกร้องดังกล่าว Sheikh Mohammed bin Abdulrahman al-Thani รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ข้อเรียกร้องควรจะมีเหตุผลและสามารถทำได้จริง และข้อเรียกร้องทั้ง 13 ข้อไม่ได้เป็นเช่นนั้น

 

กาตาร์ประกาศว่า เงื่อนไขทั้งหมดคือการรุกล้ำอำนาจอธิปไตยของกาตาร์

     กาตาร์ยืนยันว่า กาตาร์จะสามารถนำพาประเทศรอดพ้นการกดดันทางเศรษฐกิจและการทูตจากประเทศเพื่อนบ้านได้ โดยปัจจุบันกาตาร์มีพลเมืองของตัวเองประมาณ 300,000 คนที่ยังได้ประโยชน์จากการส่งออกก๊าซธรรมชาติของกาตาร์ ขณะที่ประชากรอีก 2.7 ล้านคนคือแรงงานต่างชาติ ที่ส่วนใหญ่ทำงานด้านก่อสร้าง ที่เนรมิตให้โดฮา (Doha) เต็มไปด้วยตึกสูงท่ามกลางทะเลทราย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่กาตาร์กำลังจะเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2022

 

ท่าทีของประเทศอื่นหลังซาอุดีอาระเบียยื่นข้อเรียกร้อง 13 ข้อต่อกาตาร์

 

Photo: ATTA KENERE/AFP

อิหร่าน

     อิหร่านคือขั้วตรงข้ามของซาอุดีอาระเบียในภูมิภาค และการที่กาตาร์หันไปใกล้ชิดกับอิหร่านมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คืออีกสาเหตุที่ซาอุดีอาระเบียตัดสินใจตัดความสัมพันธ์กับกาตาร์ และเรียกร้องให้กาตาร์ประกาศลดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิหร่าน

     IRNA สำนักข่าวทางการของอิหร่านรายงานว่า Hassan Rouhani ประธานาธิบดีของอิหร่าน ประกาศจุดยืนสนับสนุนกาตาร์หลังจากซาอุดีอาระเบียยื่นข้อเสนอ 13 ข้อ “การล้อมกาตาร์เช่นนี้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ เตห์รานจะยืนเคียงข้างกับกาตาร์และรัฐบาลของกาตาร์ เราเชื่อว่าถ้ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในภูมิภาค การกดดัน การขู่ หรือการคว่ำบาตรไม่ใช่ทางออกของปัญหา”

     ที่ผ่านมากลุ่มชีอะห์ในอิหร่าน และกลุ่มซุนนีในซาอุดีอาระเบียต่างกล่าวหากันและกันว่าเป็นผู้สร้างความวุ่นวายในภูมิภาค และสองประเทศนี้ยังสนับสนุนคนละฝ่ายในสงครามเยเมน ซีเรีย อิรัก

 

Photo: ADM ALTAN/AFP

ตุรกี

     แม้ตุรกีจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศอาหรับ แต่ตุรกีกำลังสร้างฐานทัพในกาตาร์ และ 1 ใน 13 ข้อเรียกร้องของซาอุดีอาระเบีย ซาอุดีอาระเบียได้เรียกร้องให้กาตาร์หยุดให้ตุรกีเข้ามาสร้างฐานทัพในประเทศ

     ล่าสุด Tayyip Erdogan ประธานาธิบดีของตุรกีประกาศว่า จะไม่ทำตามข้อเรียกร้องของซาอุดีอาระเบีย และกล่าวว่าข้อเรียกร้องของซาอุดีอาระเบียนั้นเป็นการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยของอิหร่าน และยังขัดต่อหลักกฎหมายระหว่างประเทศ

     “เราสนับสนุนและชื่นชมที่กาตาร์ไม่ยอมทำตามข้อตกลงของซาอุดีอาระเบีย”

    กาตาร์กับตุรกีต่างสนับสนุนกลุ่ม Muslim Brotherhood ในอียิปต์สมัยที่กลุ่มนี้เป็นรัฐบาล ก่อนจะถูกโค่นล้มอำนาจในปี 2013 ซึ่งกลุ่ม Muslim Brotherhood คือกลุ่มที่ซาอุดีอาระเบียกล่าวหาว่า เป็นกลุ่มก่อการร้าย และซาอุดีอาระเบียจึงเรียกร้องให้กาตาร์เลิกสนับสนุนทางการเงินและทางทหารกับกลุ่มนี้

 

Photo: Brendan Smialowski/AFP

สหรัฐอเมริกา

     สหรัฐอเมริกาคือพันธมิตรสำคัญของซาอุดีอาระเบีย และการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เลือกเดินทางไปเยือนซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศแรกในการเดินทางออกนอกประเทศของเขา คือการประกาศจุดยืนของสหรัฐฯ อย่างชัดเจนว่า สหรัฐฯ เลือกยืนข้างซาอุดีอาระเบีย ซึ่งในการตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับกาตาร์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2017 ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เองได้ออกมาสนับสนุนการตัดสินใจการคว่ำบาตรกาตาร์ครั้งนี้ โดยกล่าวหาว่า กาตาร์เป็นผู้สนับสนุนกลุ่มก่อการร้าย ท่าทีของ โดนัลด์ ทรัมป์ นั้นสวนทางกับกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ที่พยายามจะวางตัวเป็นกลางในความขัดแย้งครั้งนี้ เนื่องจากสหรัฐฯ เองก็ยังมีกองทัพอยู่ในกาตาร์

     ล่าสุด  Rex Tillerson รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้วิจารณ์ 13 ข้อเรียกร้องนี้ว่า เป็นเงื่อนไขที่ยากที่ใครจะทำได้ แต่เงื่อนไขบางอย่างอาจนำไปสู่หัวข้อการเจรจาระหว่างสองฝ่ายในอนาคตได้ พร้อมทั้งเตือนให้ทั้งสองฝ่ายลดความตึงเครียดใส่กัน และเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายหันหน้ามาเจรจาเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจมองได้ว่าสหรัฐฯ ไม่ได้มีท่าทีออกมาต่อต้านเงื่อนไขนี้ของซาอุดีอาระเบียอย่างชัดเจนว่า เป็นการแทรกแซงอำนาจในการกำหนดนโยบายต่างประเทศของกาตาร์ แต่เลือกที่จะออกมาพูดว่าเป็นเงื่อนไขที่เป็นไปได้ยากมากกว่า

     ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศอาหรับส่งผลให้สหรัฐฯ วางตัวลำบาก เนื่องจากสหรัฐฯ ประกาศที่จะสร้างสันติภาพในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้สหรัฐฯ ยังมีฐานทัพในกาตาร์ที่มีอาวุธ 11,000 ชิ้นด้วย ท่าทีของสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจสวนทางกับส่วนอื่นๆ ส่งผลให้มีสัญญาณออกมาหลากหลายจากสหรัฐฯ

     กาตาร์จะมีเวลาถึงต้นสัปดาห์หน้าที่จะยังพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวของซาอุดีอาระเบียและกลุ่มประเทศอาหรับ โดยบางประเทศอย่างเช่นสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์บอกแล้วว่า อาจจะคว่ำบาตรกาตาร์ต่อไปอีกหลายปี หากกาตาร์ไม่ยอมทำตามข้อตกลงดังกล่าว

     ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้เกิดจากการที่กลุ่มประเทศเหล่านี้ (เช่นระหว่างซาอุดีอาระเบียและกาตาร์) สนับสนุนคนละฝ่ายในสงครามกลางเมืองหลายประเทศ และมีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างกัน บรรยากาศความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้จะส่งผลโดยตรงต่อกาตาร์เท่านั้น แต่ยังจะส่งผลไปถึงบรรยากาศสงครามตัวแทนที่ชัดเจนขึ้นในสงครามกลางเมืองในประเทศอื่นในภูมิภาคนี้เช่น เยเมนและอิรัก

 

อ่านบทวิเคราะห์ต่อได้ที่  (Qatar Crisis เพื่อนบ้านตัดสัมพันธ์กาตาร์ครั้งใหญ่ ขั้วความสัมพันธ์ในภูมิภาคที่อาจเปลี่ยน)

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X