มาม่า ลบภาพ ดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่คนจนเท่านั้นที่กิน แต่ไม่ว่ากำลังซื้อจะดีหรือไม่ รายได้และกำไรก็โตทุกปี แม้ตลาดในไทยจะอิ่มตัว แข่งขันสูง แต่ก็ยังโตได้ พร้อมยอมรับว่าการทำธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ง่าย ต้องขายเยอะถึงจะได้กำไร จากนี้เร่งเครื่องบุกตลาดต่างประเทศเต็มสูบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายคนมองว่าช่วงไหน ‘มาม่า’ ขายดีแปลว่าเศรษฐกิจแย่ ซึ่งจะจริงหรือไม่นั้นมาร่วมไขคำตอบจาก พันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ‘มาม่า’ ฉายภาพกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ภาพที่คนมองว่ามาม่ากลายเป็นตัวชี้วัดเศรษฐกิจ ถ้าเศรษฐกิจไม่ดีมาม่าจะขายดี อาจมีหลายปัจจัยประกอบกัน
“แต่ถ้ามองในยุคข้าวยากหมากแพง อาหารทางเลือกที่มีราคาประหยัดและทำให้อิ่มท้องได้นานคงจะหนีไม่พ้นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และยังเป็นสินค้าที่พกพาได้สะดวกด้วย”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- มาม่าขายดี! จนต้องสร้างโรงงานผลิตแห่งใหม่ ลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 20 ปี เพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 40% ป้อนตลาดไปได้อีก 10 ปี
- 30 ปี ‘มาม่า’ โตทุกปี สะท้อนถึงเศรษฐกิจแย่ได้จริงหรือ? | Exclusive Interview EP.5
ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา รายได้ของมาม่าโตทุกปี
ต้องยอมรับว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตัวดัชนีมาม่าถูกพูดถึงกันมาต่อเนื่อง หลายคนมองว่าคนรายได้น้อยเท่านั้นถึงจะกินมาม่า และถ้าเศรษฐกิจดีมาม่าก็จะขายไม่ดี แต่จริงๆ แล้วตลอดเวลา 20-30 ปีที่ผ่านมา ไม่มีปีไหนที่รายได้ของมาม่าไม่โต เพียงแต่จะมีโตมากหรือโตน้อยก็เท่านั้น คาดว่าไม่น่าจะเชื่อมกับเศรษฐกิจไปเสียทั้งหมด
ดังนั้นจึงต้องมาให้คำจำกัดความว่าเศรษฐกิจดีแปลว่าอะไร ยกตัวอย่างเช่น เรามีเงิน 10,000 บาท ถ้าเศรษฐกิจดีจะมีเงินเพิ่ม 20,000 บาท มีเงินเพิ่มแล้วจะเหลือมากก็ไม่ใช่ เพราะสภาวะตลาดทุกวันนี้มีสินค้าให้บริโภคและจับจ่ายกันหลากหลาย สุดท้ายเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดี เงินในกระเป๋าจะเพิ่ม แต่ว่ารายจ่ายทุกอย่างก็เพิ่มตามมาด้วย
ยังรวมถึงการแบกรับภาระหนี้สิน ดอกเบี้ย สิ่งล่อใจต่างๆ ทั้งเว็บพนัน หวย และเงินนอกระบบ สินค้าที่ถูกยิงแอดมาตลอดเวลา มีสิ่งเร้าต่างๆ เข้ามา ทำให้ผู้คนใช้เงินซื้อความสุขให้กับตัวเอง ถ้าสิ่งเหล่านี้อยู่ในระบบก็เป็นสิ่งที่ดี แต่เรื่องเว็บพนัน ทุนต่างชาติ หรือเงินไหลออกนอกระบบเศรษฐกิจ รัฐบาลจะอัดฉีดเข้าไปกี่แสนล้านเศรษฐกิจก็ไม่ดีขึ้นแน่นอน
สุดท้ายเมื่อทุกคนมีรายรับที่สวนทางกับรายจ่าย ดังนั้นก็ต้องมีกลุ่มคนที่เลือกบริโภคสินค้าราคาประหยัดอยู่แล้ว
ตลาดในไทยเริ่มอิ่มตัว-อัตราการบริโภคไม่เพิ่มขึ้นไปกว่านี้แล้ว
ถึงวันนี้การบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 53.2 ซองต่อคนต่อปี หรือคนไทย 1 คนจะบริโภคเฉลี่ยสัปดาห์ละ 1 ซอง เป็นอันดับ 8 ของโลก ประเมินว่าไม่น่าจะเพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้แล้ว เพราะปกติในหนึ่งวันคนเราต้องกินอยู่แค่ 2-3 มื้อ และจำนวนประชากรในไทยก็ไม่เพิ่มขึ้น ทำให้ตลาดในไทยเริ่มอิ่มตัว จากนี้การเติบโตจะเริ่มช้าลง
ทั้งนี้ การจะทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นมีอยู่ 2-3 ทาง คือ ไปแย่งส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่งมา แต่ก็ไม่ง่าย เพราะบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่ละแบรนด์ก็มีฐานลูกค้าประจำ แต่พันธ์มองว่าการที่ตลาดมีการแข่งขันกันตลอด ทำให้มาม่าต้องมีการพัฒนาตัวเองทุกวัน
“แน่นอนว่าการจะเพิ่มยอดขายจากการไปฆ่าคนอื่นมันไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ต้องทำคือรักษาจุดแข็งของสินค้า ทั้งในแง่ความสะดวกและอร่อยให้ได้ ควบคู่กับการเพิ่มรสชาติใหม่ๆ ออกสู่ตลาดต่อเนื่อง”
ขณะเดียวกันเทรนด์การกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเปลี่ยน หลายคนอยากกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่อร่อยและมีความหลากหลายมากขึ้น หากย้อนไปในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศทั้งเกาหลีและจีนเข้ามาจำหน่ายราคา 30-50 บาท ทำให้วัฒนธรรมการกินเปลี่ยนไป
เทียบกับในอดีตที่แค่ฉีกซองต้ม 3 นาทีกินเสร็จภายใน 5 นาที แต่วันนี้ต้องใส่หม้อ ใส่วัตถุดิบเพิ่ม ใช้เวลาในการกินมากขึ้น ทำให้ช่วงนั้นมาม่าเปิดตัว MAMA OK เป็นกลุ่มสินค้าพรีเมียมราคา 15 บาท เข้ามาเป็นทางเลือก กลายเป็นว่าผู้บริโภคกินเท่าเดิม แต่อาจเลือกกินสินค้าที่พรีเมียมขึ้น จึงมีส่วนทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น
ทำธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ง่าย ต้องขายให้เยอะถึงจะได้กำไร
พันธ์กล่าวต่อไปว่า การทำธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่ใช่เรื่องง่าย หากสังเกตจะเห็นว่าทำไมในตลาดถึงมีผู้เล่นอยู่แค่ 3-4 ราย จริงๆ ถ้าทำง่ายอาจมีคนกระโดดเข้ามาเล่นมากกว่านี้ โดยสินค้าในธุรกิจนี้ขายง่าย แต่ความยากคือขายอย่างไรให้ได้กำไร หลักการบริหารต้นทุนค่อนข้างจะมาร์จิ้นต่ำ โดยมาม่าเน้นขายให้ได้เยอะๆ โดยสินค้าที่เจาะตลาดแมสได้ดีคือรสชาติต้มยำกุ้งและหมูสับแบบซอง กลุ่มนี้มาร์จิ้นต่อซองไม่มาก แต่เมื่อขายเยอะจึงทำให้มีกำไร
ปัจจุบันมาม่าผลิตสินค้าแบบซอง 2,000 ล้านซองต่อปี ส่วนแบบถ้วยอยู่ที่ 450 ล้านถ้วยต่อปี สินค้าถูกผลิตจากโรงงาน 4 แห่ง ได้แก่ จังหวัดชลบุรี, ระยอง, ลำพูน และราชบุรี รวมถึงโรงงานผลิตในต่างประเทศอีก 4 แห่ง ได้แก่ ประเทศเมียนมา, กัมพูชา, บังกลาเทศ และฮังการี ที่มีกำลังผลิตรวม 16,044 ตันต่อปี
อีกด้านหนึ่งก็มีความท้าทายในช่วงต้นทุนวัตถุดิบมีความผันผวนสูง ช่วงนั้นกำไรก็ต้องลดลงตามไปด้วย โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาที่ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเจอวิกฤตต้นทุนแป้งสาลีและน้ำมันปาล์มซึ่งเป็นวัตถุดิบหลัก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
หากปล่อยไว้นานอาจลำบาก ในช่วงนั้นผู้ผลิตเข้าไปขออนุญาตให้กรมการค้าภายในอนุญาตปรับขึ้นราคาจากเดิม 6 บาท เป็น 7 บาท ซึ่งมาม่าถือว่าเป็นการปรับขึ้นราคาในรอบ 14 ปี
อย่างไรก็ตาม การขึ้นราคาแต่ละครั้งสร้างอิมแพ็กต์มาก เพราะการขึ้นราคาไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างที่เราจะเห็นไวรัลบนโซเชียลมีเดีย บุหรี่ขึ้นได้ สุราขึ้นได้ แต่มาม่าห้ามขึ้นราคา คือเหมือนกับผู้บริโภคมองไว้ว่า ‘มาม่า’ เป็นสินค้าจำเป็นต่อประชาชนที่จะสามารถประทังชีวิตในยามยากลำบากได้
ตลาดในประเทศอิ่มตัว ‘มาม่า’ เร่งเจาะต่างประเทศ
จำนวนประชากรในประเทศไทยคงไม่โตไปกว่านี้แล้ว เพราะฉะนั้นเราเห็นแล้วว่าผู้บริโภคมีแค่นี้ จะให้บริโภคเยอะขึ้นคงเป็นไปไม่ได้ แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่นิยมกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่มาม่ายังไม่ได้เข้าไปในตลาด จากนี้จะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศให้ได้ 40% โดยปัจจุบันรายได้จากต่างประเทศอยู่ที่ 30%
เน้นโฟกัสไปในประเทศตลาดยุโรป, แอฟริกา, เวียดนาม และอินเดีย ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมสร้างโรงงานผลิตมาม่าแห่งใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2568 และเริ่มผลิตได้ในปี 2570 นั่นจะช่วยให้เรามีกำลังการผลิตสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศมากขึ้น
สำหรับข้อดีของตลาดต่างประเทศคือ ไม่มีข้อจำกัดในราคาขาย มาม่าสามารถพัฒนาความหลากหลายของรสชาติได้และทำให้มีกำไรเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้มาม่าสามารถบาลานซ์และบริหารจัดการต้นทุนของบริษัทได้เป็นอย่างดี
กำไรส่วนใหญ่มาจาก ‘MAMA OK’ พรีเมียม
เมื่อมาดูภาพรวมครึ่งปีแรกของมาม่านั้นโตเกินคาด ทำรายได้อยู่ที่ 14,482.83 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 976.41 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7.23% และมีกำไรสุทธิ 2,237 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 493.96 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28.32% เมื่อเทียบกับปีก่อน
คาดการณ์ทั้งปี 2567 จะมียอดขายรวมประมาณ 29,000 ล้านบาท เติบโต 8% โดยมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าปีนี้จะโต 4-5% ซึ่งเป็นผลจากการที่มีการทำโฆษณาและใช้พรีเซนเตอร์สื่อสารแบรนด์ ควบคู่กับการจัดโปรโมชันและออกสินค้าใหม่ๆ โดยกำไรส่วนใหญ่มาจาก MAMA OK ส่วนมาม่า บิ๊กแพค ยอดขายก็โตกว่า 30%
“สุดท้ายแล้วยอดขายที่เพิ่มขึ้นไม่ได้สะท้อนถึงกำลังซื้อโดยรวมว่าดีหรือไม่ดี เพราะไม่ว่าเศรษฐกิจจะดีหรือไม่ดีมาม่าก็ยังขายดี เนื่องจากเป็นกลุ่มสินค้าที่จำเป็นที่คนต้องซื้อไว้ประจำบ้าน ซึ่งในปี 2567 ประเมินว่าตลาดรวมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจะเติบโตถึง 5-6% จากมูลค่า 20,000 ล้านบาท และปัจจุบันมาม่าเป็นผู้นำตลาดอันดับหนึ่ง” พันธ์ย้ำ