Apple เจออุปสรรคครั้งใหญ่ในอินโดนีเซีย! หลังรัฐบาลอินโดนีเซียสั่งห้ามจำหน่าย iPhone 16 ในประเทศ เนื่องจาก Apple ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านการลงทุนในประเทศ
กระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซียออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม ระบุว่า iPhone 16 ไม่สามารถวางจำหน่ายในประเทศได้ เนื่องจากบริษัท PT Apple Indonesia ซึ่งดำเนินธุรกิจในประเทศอินโดนีเซีย ยังไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ให้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตต้องมีสัดส่วนของวัตถุดิบ ชิ้นส่วนที่ผลิต หรือแรงงานในประเทศ 40%
Apple ซึ่งยังไม่ได้ตั้งโรงงานผลิตในอินโดนีเซียจึงไม่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้ได้ ส่งผลให้ iPhone 16 ถูกห้ามจำหน่ายในประเทศ แม้ว่าผลิตภัณฑ์รุ่นเก่าของ Apple จะยังคงวางจำหน่ายได้ก็ตาม
การถูกสั่งห้ามขาย iPhone 16 ในอินโดนีเซียถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับ Apple ที่มียอดขาย iPhone ที่ดีในตลาดอื่นๆ ในเอเชีย เช่น จีน แม้ว่า Apple จะยังไม่ติดอันดับ 6 แบรนด์สมาร์ทโฟนยอดนิยมในอินโดนีเซีย แต่ประเทศนี้ก็เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง เพราะอินโดนีเซียมีโทรศัพท์มือถือที่ใช้งานอยู่มากกว่า 350 ล้านเครื่อง ซึ่งมากกว่าประชากร 270 ล้านคนของประเทศมาก ตามข้อมูลของรัฐบาล
กระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า Apple ลงทุนในอินโดนีเซียเพียง 1.5 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 3.2 พันล้านบาท) ซึ่งต่ำกว่าที่บริษัทเคยให้คำมั่นไว้ที่ 1.7 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 3.7 พันล้านบาท)
โดย Apple เลือกที่จะสร้างสถาบันพัฒนาบุคลากร 4 แห่ง แทนที่จะสร้างโรงงานผลิตในประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลอินโดนีเซียต้องการ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ
ในขณะที่ Apple ยังไม่ได้ตั้งโรงงานในอินโดนีเซีย คู่แข่งอย่าง Samsung และ Xiaomi ก็ตั้งโรงงานผลิตในประเทศเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านสัดส่วนชิ้นส่วนภายในประเทศ ซึ่งเริ่มบังคับใช้ในปี 2017
อินโดนีเซียมีประวัติในการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อผลักดันให้บริษัทต่างชาติผลิตสินค้าในประเทศมากขึ้น แม้ว่าจะมีทั้งมาตรการที่ประสบความสำเร็จบ้างและไม่สำเร็จบ้างก็ตาม
ในปีนี้รัฐบาลเข้มงวดเรื่องกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าหลายประเภท ทำให้เกิดปัญหาสินค้าขาดตลาด เช่น แล็ปท็อปและยางรถยนต์ อย่างไรก็ตาม การห้ามส่งออกแร่ธาตุ เช่น นิกเกิล ก็ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นการพัฒนาอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ในประเทศ
ทั้งนี้กระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า มี iPhone 16 ประมาณ 9,000 เครื่องที่ถูกนำเข้ามาในอินโดนีเซีย โดยผู้โดยสาร ลูกเรือ หรือส่งทางไปรษณีย์ ซึ่งอนุญาตให้ใช้ส่วนตัวเท่านั้นและห้ามจำหน่าย
อ้างอิง: