ราคาน้ำมันดิบในสหรัฐอเมริกาขยับขึ้นแตะระดับ 94 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปี เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (27 กันยายน) หลังสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ลดลง 2.1 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ก่อน มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้าว่าจะลดลงเพียง 900,000 บาร์เรลเท่านั้น
สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า สต๊อกน้ำมันดิบที่เมืองคูชิง รัฐโอคลาโฮมา ซึ่งเป็นจุดส่งมอบสัญญาน้ำมันดิบล่วงหน้าของสหรัฐฯ ลดลง 943,000 บาร์เรล สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 9 ปี
ขณะเดียวกันราคาน้ำมันที่สูงขึ้นยังได้รับแรงกดดันจากกลุ่มผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก หรือ OPEC นำโดยชาติสมาชิกอย่างซาอุดีอาระเบีย พร้อมด้วยรัสเซีย ที่ประกาศปรับลดกำลังการผลิตเพื่อลดอุปทานน้ำมัน จนมีการประเมินว่าตลาดโลกน่าจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำมันในไตรมาส 4 ปีนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้น้ำมันสูงสุดในรอบปี
ทั้งนี้ เมื่อวันพุธที่ 27 กันยายน ราคาน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ขยับขึ้นแตะ 94.04 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาระหว่างวันสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2022 ก่อนที่ราคาจะขยับปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 93.68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ล่าสุดสถาบันการเงินชั้นนำหลายแห่งในตลาดวอลล์สตรีทพร้อมใจกันปรับเพิ่มคาดการณ์ราคาน้ำมันจากความตึงเครียดด้านอุปทาน โดย Bank of America คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 91 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ Goldman Sachs เตือนว่าราคาน้ำมันจะเฉลี่ยอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงเวลานี้ของปีหน้า
Goldman Sachs ระบุด้วยว่า ราคาน้ำมันที่อาจพุ่งขึ้นทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สุ่มเสี่ยงที่จะสร้างแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ทำให้ราคาสินค้าและบริการแพงขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed อีกทอดหนึ่ง
อ้างอิง: