×

เปิดวิสัยทัศน์ ‘9 พรรคการเมืองไทย’ ต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ควรแก้อะไร ไปต่อทางไหนดี?

09.04.2023
  • LOADING...

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดพื้นที่ให้ 9 พรรคการเมืองได้แสดงวิสัยทัศน์ในการส่งเสริม ‘ภาคอุตสาหกรรมไทย’ โดยแต่ละพรรคมองต่างมุม ตั้งแต่หนุนรัฐบาลใหม่ตั้งกองทุนเพิ่มขีดความสามารถ ดึงนักลงทุนสู้เวียดนาม แก้หนี้เติมทุน ขยายลงทุน EEC รื้อโครงสร้างพลังงานตั้งแต่กำไรจนถึงค่าการตลาด รวมถึงการสนับสนุนกัญชาเป็น Soft Power

 

ใกล้ถึงบรรยากาศของการเลือกตั้งเข้ามาทุกที ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบทบาทนโยบายพรรคการเมืองด้านอุตสาหกรรมเป็นฟันเฟืองสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ โดยประเทศไทยเองก็ถือว่าเป็นประเทศเบอร์ต้นๆ ของโลกที่ผลิตและส่งออกอุตสาหกรรมใหญ่ แต่การแข่งขันของโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและไม่เหมือนเดิม แม้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 มีทิศทางที่จะปรับตัวดีขึ้น แต่ความท้าทายการส่งออกสินค้าของไทยกลับมีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจโลก 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ความท้าทายหลักจึงตกไปสู่คำถามที่ว่า ณ ตอนนี้…อุตสาหกรรมไทยเดินมาถูกทางหรือไม่ และจะไปทางไหนดี? THE STANDARD WEALTH จึงได้รวบรวมวิสัยทัศน์ของ 9 พรรคการเมืองต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยมาให้คนไทยทุกคนใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

 

เว้นภาษี 8 ปี สู้กับเวียดนามต่อไปไม่ได้แล้ว

 

เริ่มจากมุมมองของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ พรรคก้าวไกล ที่เปิดวิสัยทัศน์ว่า ประเทศไทยต้องเปลี่ยนเศรษฐกิจเป็น Made with Thailand รูปแบบไร้พรมแดน โดยนำสิ่งที่มีมาพัฒนาให้ High Tech Hi Touch นวัตกรรม หุ่นยนต์ ต้องเกิด และไปให้ถึงอุตสาหกรรม ไปสู่ 5.0 ทั้งแรงงานคน เครื่องจักร หุ่นยนต์ ปรับลุคสินค้าไปพร้อมกับดีไซน์สินค้าส่งออกให้มีแบรนด์เป็นของตัวเองและก้าวไปตลาดโลกให้ได้

 

โดยอาศัยกองทุนที่จัดตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย มูลค่าราว 10,000 ล้านบาท เพื่อดึงดูดการลงทุน 

 

“ยกตัวอย่างง่ายๆ ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอุตสาหกรรมรายใหญ่ของโลก แต่ไม่มีเงินทุนสนับสนุนอุตสาหกรรมชิปหรือเซมิคอนดักเตอร์เลย ควรให้เงินอุดหนุนในอุตสาหกรรมที่เราต้องการ หรืออุตสาหกรรมใหม่ เช่น ​AI ให้มากขึ้น ที่สำคัญต่อไปจะใช้แค่สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี 8 ปี ไปสู้กับเวียดนามไม่ได้แล้ว” พิธากล่าว 

 

เขากล่าวว่า ปัจจุบันมูลค่าการลงทุนในเวียดนามมากกว่าไทยเป็นเท่าตัว ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการคอร์รัปชัน กฎหมายในการขออนุญาตประกอบธุรกิจ การผูกขาดข้อมูลของการประมูลโครงการที่มีปัญหา และการขาดการรับผิดชอบ

 

อีกทั้งการดึงดูดการลงทุนไม่ได้เป็นเรื่องของกลไกทางภาษีอีกต่อไป เนื่องจากในปี 2564 มีความร่วมมือในเรื่อง Global Minimum Tax 15% ซึ่งแต้มต่อเรื่องภาษี โครงสร้างพื้นฐาน และตลาดในประเทศไม่สามารถพัฒนามากพอ 

 

“ดังนั้นเพื่อให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นซัพพลายเชนระดับโลก การผลิตของไทยจะเป็นฐานผลิต ต้องมองถึงอนาคตที่เปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเป็นอุตสาหกรรมที่คนทำงานร่วมกับเครื่องจักร เพื่อผลิตสินค้าที่มีคุณค่ามากกว่าสินค้าที่ราคาถูก” ตัวแทนพรรคก้าวไกลกล่าว 

 

ดึงจุดแข็งของการท่องเที่ยวมาต่อยอดสู่ภาคเกษตรมูลค่าสูง

 

‘สุวัจน์ ลิปตพัลลภ’ พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า อันดับแรกไทยต้องกู้เศรษฐกิจคืนมาให้โต 4-5% โดยใช้นโยบายเศรษฐกิจใหม่ ดึงจุดแข็งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เติบโต ซึ่งทางที่ดีที่สุดและเร็วที่สุดคือการเพิ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวโต 2 เท่า มูลค่าจากการท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 5 ล้านล้านบาท เปิดตลาดใหม่เพื่อให้การส่งออกดีขึ้น ใช้นวัตกรรมต่อยอดพืชเกษตรหลักอย่างอ้อย มัน ปาล์ม 

 

กฎหมายที่เก่ามากต้องแก้ให้ได้ การมี One Stop Service การให้ประชาชนระบบ People Pool เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการรัฐ จะช่วยลดคอร์รัปชันลงได้

 

ยึดยุทธศาสตร์ EEC เร่งเครื่องอุตสาหกรรมใหม่ จูงใจ FDI 

 

ส่วน ‘อุตตม สาวนายน’ พรรคพลังประชารัฐ มองว่า “ตอนนี้ไม่ใช่เวลาลองผิดลองถูกอีกต่อไป” โดยพรรคพลังประชารัฐเชื่อว่าประเทศไทยต้องวางรากฐานเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคตและยั่งยืนด้วย ‘3 เรื่องเร่งด่วน 8 เรื่องเร่งรัด’ เช่น แก้หนี้เดิมให้รายเล็กล้มแล้วลุก สิทธิจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เดินหน้า BCG ส่งเสริมการศึกษาด้านสายอาชีพ ใช้พื้นที่ยุทธศาสตร์ EEC ขยายเชื่อมต่อกับภาคอื่นๆ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งคมนาคม สื่อสาร ดิจิทัล

 

รวมถึงการนำเอาวิกฤตพลิกเป็นโอกาส ยกตัวอย่างเช่น สงครามและความขัดแย้งระหว่างประเทศที่กำลังปะทุไปทั่วในขณะนี้ ประเทศไทยควรช่วงชิงจังหวะขยายการลงทุนไปตะวันออกกลาง ลาตินอเมริกา เพื่อดึง FDI เข้ามาด้วยสิทธิประโยชน์รูปแบบใหม่ที่ไม่ใช่ภาษี

 

ลดต้นทุนด้านพลังงาน ดันไทยฮับ R&D 

 

ขณะที่ ‘เกียรติ สิทธีอมร’ พรรคประชาธิปัตย์ มองว่า อันดับแรกไทยต้องกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก ประชาชน และ SMEs ให้กลับมาเข้มแข็ง โดยใช้นโยบายลดต้นทุนด้านพลังงานให้เห็นผลภายในหนึ่งเดือน กำไรโรงกลั่นน้ำมันและค่าการตลาดจะต้องไม่เกิน 1 บาทต่อลิตร แก้ปัญหาเรื่องต้นทุนทางการเงินภายในสามเดือน และผลักดันให้ไทยเป็น R&D Hub ของเอเชีย ส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ยกระดับให้ไทยมีคลัสเตอร์เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ

 

“เพราะเราเชื่อว่าการเลือกพรรคที่มีนักเจรจาเชิงรุกเก่ง จะทำให้ไทยไม่ถูกเอาเปรียบจากมาตรการกีดกันทางการค้าโลก ที่สำคัญต้องดึงประชาชน NGO มาเป็นส่วนร่วมในการตรวจสอบการทุจริตทุกโครงการของรัฐ” ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

 

ขันน็อตกฎระเบียบรัฐ ดึง BOI หนุนคนตัวเล็กเข้าถึงอุตสาหกรรม

 

ด้าน ‘สุพันธุ์ มงคลสุธี’ พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า เอกชนเสนอรัฐหลายเรื่องแต่การตอบรับไม่เพียงพอ แนวทางที่จะทำคือประกาศงดใช้กฎหมายที่มีมากถึง 1,400 ฉบับชั่วคราว และใช้เวลา 5 ปีในการปรับแก้ทุกอย่างที่เป็นอุปสรรค ต้องตั้งกองทุน SMEs นำเอานวัตกรรมเข้ามาใช้ให้ได้ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI จะต้องหนุนคนตัวเล็กและอุตสาหกรรมในประเทศมากกว่านี้ รวมถึงการผลักดันให้เกิดคลัสเตอร์ใน EEC 

 

“กระทรวงอุตสาหกรรม คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ต้องซัพพอร์ตกองทุน SMEs ให้รายเล็กได้เดินหน้าไปสู่ BCG ให้ได้ เพราะเรื่องนี้มันเกิดขึ้นแน่นอน”

 

‘Upskill-Reskill’ แรงงาน ข้ามกำแพงกีดกันทางการค้า

 

ด้าน ‘สันติ กีระนันทน์’ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เราจะไม่ทิ้งอุตสาหกรรมเดิมอย่าง Bio อาหาร และจะเร่งอุตสาหกรรมใหม่ไปพร้อมกัน ไทยจะต้องถูกรื้อโครงสร้างไฟฟ้าใหม่ทั้งหมด SMEs จะต้องได้ใช้งานวิจัยจริง แรงงานต้องได้รับการ Upskill-Reskill ควบคู่ไปกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม ESG เพื่อไม่ให้ไทยถูกกีดกันทางการค้าจากมาตรการ CBAM 

 

ทั้งนี้ อุปสรรคที่ผ่านมาคือกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพาณิชย์ไม่เคยประสานงานกัน ซึ่งแนวทางที่ดีคือการลดความรุงรังของกฎหมาย ทั้ง 2 กระทรวงควรรวมกันเหมือนกระทรวง METI ของญี่ปุ่น 

 

“จัดกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิดให้ได้เข้าถึงแหล่งเงินกู้ และต้องหยุดขั้นตอนการอนุญาตของราชการเพื่อหยุดการคอร์รัปชัน” สันติกล่าว

 

รัฐต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น SME 

 

ด้าน ‘สุชาติ ชมกลิ่น’ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการที่จะเป็นรัฐบาลใหม่จะต้องใกล้ชิด รับฟังเอกชน ไม่ไปกีดกันการทำงานธุรกิจเพราะเก่งอยู่แล้ว จะเห็นว่าปี 2565 ถือเป็นครั้งแรกที่อัตราการว่างงานต่ำสุดในโลกเพียง 1% โดยมีการจ้างงานตั้งแต่ไตรมาส 1 ถึงไตรมาส 4 ระดับล้านคน รัฐบาลใหม่จะต้องเข้าไปสนับสนุนให้ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อไปดูแลลูกน้อง และหากตั้งกองทุนได้จะช่วยเยียวยา SME ได้

 

“รัฐที่จะเข้ามาต้องใส่ใจและเปลี่ยนตัวเองเป็น SME จะได้รู้ว่า SME ต้องการอะไร อุตสาหกรรมต้องการอะไร แล้วจะเติบโตได้เอง”

 

ดันอุตสาหกรรมอาหาร สมุนไพร พลังงานสะอาด Soft Power

 

‘ภาดาท์ วรกานนท์’ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า 3 อุตสาหกรรมหลักสำคัญของไทย หรืออุตสาหกรรมสายเขียว จะต้องถูกผลักดันให้ได้ คือ

 

  1. อุตสาหกรรมชีวภาพ ที่ใช้พืชเกษตรไทยมาต่อยอด 
  2. อุตสาหกรรมอาหาร คงมาตรฐานไว้และผลักดัน เช่น เครื่องแกงไปอยู่บนโต๊ะอาหารทั่วโลก 
  3. อุตสาหกรรมการแพทย์ ใช้จุดแข็งจากพืชสมุนไพรอย่างกัญชาเพื่อการรักษาและสุขภาพให้เป็น Soft Power ให้ได้

 

“เราสนับสนุนพลังงานสะอาด ต่อไปทุกบ้านจะต้องติดโซลาร์เซลล์ เพื่อเป็นทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้ขาย คู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายจริงจังเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชัน”

 

ดัน New Business Zone

 

ท้ายสุด ‘พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช’ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รัฐบาลควรมีส่วนร่วมในการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นในภาคเอกชน เพื่อจะได้กำหนดยุทธศาสตร์ของประเทศร่วมกัน โดยใช้ความสามารถในการเจรจาด้านการค้าการลงทุนกับต่างประเทศ เพื่อให้ไทยได้โอกาสมากที่สุด และที่สำคัญจะต้องกำหนด KPI การทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด จากความร่วมมือทำงานกับภาคเอกชน 

 

“ถ้าหัวไม่ส่าย หางไม่กระดิก ก็จะไม่เกิดคอร์รัปชัน มันจะพาเศรษฐกิจเดินไปได้ และไทยเราต้องมี New Business Zone นำร่องที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่” พรหมินทร์กล่าว

 

แก้ปม ‘สาธารณูปโภคแพง’ โจทย์เร่งด่วนจาก ส.อ.ท.

 

ปลายเวทีเสวนาได้สรุปผลสำรวจความคิดเห็นจากสมาชิก ส.อ.ท. นักอุตสาหการ 420 คน ที่ฝากไว้เป็นโจทย์ให้แก่ 9 พรรคการเมือง โดย เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า รัฐบาลควรออกมาตรการช่วยลดภาระต้นทุนการผลิตให้ SME ที่อยู่ในระบบภาษี เช่น ลดค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าธรรมเนียม และพัฒนาด้านค่าตอบแทนให้สมเหตุสมผล เช่น กำหนดนโยบายจ่ายอัตราค่าจ้างแรงงานตามทักษะฝีมือ 

 

นอกจากนี้ ยังต้องการให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการอนุมัติ อนุญาต ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ รวมทั้งยกเลิกกฎหมายที่ล้าสมัย ปรับโครงสร้างราคาพลังงานทั้งระบบ ทบทวนปรับลดโครงสร้างอัตราภาษีนำเข้า 

 

“ข้อแรกเราอยากให้รัฐบาลเร่งทำใน 90 วัน คือ แก้ปัญหาค่าไฟ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจ แก้ไขปัญหาโลกร้อน Climate Change และมาตรการกีดกันทางการค้า เพราะที่ผ่านมาภาคอุตสาหกรรมต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรคมาโดยตลอด โดยเฉพาะช่วงโควิด” เกรียงไกรกล่าว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising