×

ย้อนรอย 20 ปี 9/11 จากวินาศกรรมสหรัฐฯ สู่สงครามต้านก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน สหรัฐฯ ชนะแล้วหรือยัง?

10.09.2021
  • LOADING...
9/11

เหตุวินาศกรรมสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ ในวันที่ 11 กันยายน ปี 2001 หรือที่รู้จักในชื่อเหตุการณ์ 9/11 เป็นการก่อการร้ายต่อเนื่องที่สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก ซึ่งผลจากเหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตไปเกือบ 3,000 คน และก่อให้เกิดผลกระทบ เกิดแรงกระเพื่อมใหญ่เป็นวงกว้างไปทั่วโลกในหลายด้าน ทั้งด้านความมั่นคง การบิน และการต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งลุกลามไปสู่สงครามต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถาน

 

จากวันนั้นถึงวันนี้ ผ่านมาครบ 20 ปี ภาพเหตุการณ์สะเทือนขวัญจาก 9/11 ยังติดอยู่ในใจชาวอเมริกันและคนทั่วโลก ขณะที่ปีนี้ เป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากสหรัฐฯ ตัดสินใจถอนกำลังทหารทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถาน และยุติการทำสงครามที่ยืดเยื้ออย่างเป็นทางการ

 

แต่ยังมีอีกหลายคำถามติดค้างในใจของผู้คนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทั้งหมดนี้ โดย THE STANDARD จะพาคุณย้อนรอยไปดูจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ 9/11และรู้จักกับตัวละครที่เกี่ยวข้องในการวางแผนวินาศกรรม ทั้ง บิน ลาดิน และสถาปนิกผู้ริเริ่มแนวคิดการโจมตี ตลอดจนผลพวงที่ตามมาหลัง 9/11 ซึ่งจนถึงวันนี้ มีใครที่ได้และสูญเสียอะไรไปบ้าง

 

เกิดอะไรขึ้นในเหตุวินาศกรรม 9/11

 

  • -เช้าวันที่ 11 กันยายน 2001 กลุ่มก่อการร้ายเปิดฉากโจมตีสหรัฐฯ ครั้งใหญ่ ด้วยการจี้เครื่องบินโดยสาร 4 ลำ ในระหว่างที่เดินทางจากเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ มุ่งหน้าไปยังรัฐแคลิฟอร์เนีย และบังคับให้พุ่งชนเป้าหมาย 4 จุด

 

  • เครื่องบินลำแรกเป็นของสายการบิน American Airlines เที่ยวบินที่ 11 ถูกบังคับให้พุ่งชนอาคารทิศเหนือของตึกแฝด World Trade Center ในนิวยอร์ก ในเวลา 08.46 น. 

 

  • จากนั้น 17 นาทีต่อมา ในเวลา 09.03 น. เครื่องบินลำที่ 2 ของสายการบิน United Airlines เที่ยวบินที่ 175 พุ่งเข้าชนอาคารทิศใต้ของ World Trade Center

 

  • ผลจากการถูกเครื่องบิน 2 ลำพุ่งชน ส่งผลให้ตึกแฝด World Trade Center ขนาด 110 ชั้น พังถล่มลงมาภายในเวลา 1 ชั่วโมง 42 นาที และสร้างความเสียหายอย่างมากต่ออาคารโดยรอบ

 

  • เครื่องบินลำที่ 3 เป็นของสายการบิน American Airlines เที่ยวบินที่ 77 ถูกจี้ขณะบินอยู่เหนือรัฐโอไฮโอ ในเวลา 09.37 น. ก่อนจะถูกบังคับให้พุ่งชนฝั่งตะวันตกของตึกเพนตากอน ที่ทำการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ในรัฐเวอร์จิเนีย ทำให้อาคารบางส่วนเสียหาย

 

  • เครื่องบินลำที่ 4 เป็นเพียงลำเดียวที่กลุ่มก่อการร้ายไม่ประสบความสำเร็จในการบังคับให้โจมตีเป้าหมาย เนื่องจากกลุ่มผู้โดยสารพยายามต่อสู้และแย่งการควบคุมเครื่องบิน ทำให้เครื่องบินตกลงที่สนามหญ้าในเขตแชงค์สวิลล์ รัฐเพนซิลเวเนีย ในเวลา 10.03 น. ซึ่งคาดว่าเป้าหมายแท้จริงที่กลุ่มก่อการร้ายตั้งใจบังคับให้เครื่องบินลำนี้พุ่งชน คือทำเนียบขาวหรืออาคารรัฐสภาในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

 

  • หลังเกิดเหตุไม่นาน ทางการสหรัฐฯ ดำเนินการสืบสวนจนยืนยันได้ว่า กลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุวินาศกรรมช็อกโลกครั้งนี้

 

  • จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มก่อการร้ายที่ร่วมลงมือแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม โดย 3 กลุ่มแรกมีจำนวนกลุ่มละ 5 คน และกลุ่มที่ 4 มี 4 คน ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีผู้ที่ได้รับการฝึกขับเครื่องบินและควบคุมเครื่องบินโดยสาร ซึ่งเป้าหมายหลักเพื่อให้พุ่งชนอาคารสำคัญของสหรัฐฯ และทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

 

ผลกระทบจาก 9/11

 

  • ผลจากการก่อวินาศกรรมสหรัฐฯ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2,977 คน และบาดเจ็บมากกว่า 25,000 คน ในจำนวนนี้เป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและแพทย์ 343 คน และตำรวจ 72 คน ถือเป็นเหตุก่อการร้ายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ ซึ่งที่ World Trade Center มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดถึง 2,606 คน และที่ตึกเพนตากอน มีผู้เสียชีวิต 125 คน 

 

  • นอกจากผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ยังมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอาการเจ็บป่วยระยะยาวที่เชื่อมโยงกับเหตุ 9/11 เช่น หน่วยดับเพลิงที่เร่งกู้ภัยท่ามกลางเศษซากและฝุ่นควันที่เป็นพิษ ซึ่งการถล่มของตึก World Trade Center ทำให้ขยะสารพิษจำนวนหลายร้อยตัน รวมถึงสารก่อมะเร็งแพร่กระจายไปทั่วย่านแมนฮัตตันตอนล่าง

 

  • ความเสียหายที่เกิดกับโครงสร้างพื้นฐานและทรัพย์สินต่างๆ สูงกว่า 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กต้องปิดการซื้อขายต่อเนื่องจนถึงวันที่ 17 กันยายน ซึ่งหลังเปิดตลาดในช่วงสัปดาห์แรก ดัชนีหุ้นสหรัฐฯ ร่วงหนักคิดเป็นมูลค่ากว่า 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ยังเกิดผลกระทบต่อเนื่องไปยังตลาดหุ้นทั่วโลกที่ร่วงหนักไปตามๆ กัน 

 

  • ช่วง 3 เดือนหลังเกิดเหตุ นครนิวยอร์กมีอัตราว่างงานเพิ่มกว่า 430,000 ตำแหน่ง ขณะที่ผลกระทบหลักๆ ในนิวยอร์กจะอยู่ที่ภาคการส่งออก

 

  • บริษัทประกันภัยต้องจ่ายชดเชยความเสียหายที่เกิดจากเหตุวินาศกรรม 9/11 มากกว่า 40 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่มีการจ่ายเงินประกันชดเชยมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

  • อุตสาหกรรมการบินได้รับผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากหลังเหตุ 9/11 โดยสหรัฐฯ ได้ตั้งหน่วยงานรักษาความปลอดภัยด้านการขนส่ง (Transportation Security Administration-TSA) เพื่อยกระดับคุมเข้มมาตรการความปลอดภัยทั้งในสนามบินและบนเครื่องบิน ขณะที่หลายสายการบินประสบภาวะขาดทุนและล้มละลาย เนื่องจากประชาชนจำนวนมากยังหวาดผวาและไม่กล้าเดินทางด้วยเครื่องบิน ทำให้รัฐบาลกลางสหรัฐฯ ต้องเข้าช่วยเหลือ

 

  • ภาคการท่องเที่ยวของสหรัฐฯ ก็ได้รับผลกระทบหนัก โดยนครนิวยอร์กที่ปกติมีการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกว่า 280,000 คน และทำรายได้รวมกว่า 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี พบว่ามีการเลิกจ้างพนักงานกว่า 3,000 คน ในช่วง 1 สัปดาห์หลังเกิดเหตุ ขณะที่อัตราการจองโรงแรมก็น้อยลงกว่า 40%

 

  • ชุมชนข่าวกรองสหรัฐฯ โดยเฉพาะสำนักข่าวกรองกลางหรือ CIA มีการปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านก่อการร้าย ขณะที่ยุทธศาสตร์ความมั่นคงของสหรัฐฯ ในปี 2002 มุ่งเน้นไปที่การขัดขวางและทำลายองค์กรก่อการร้ายทั่วโลก

 

บิน ลาดิน และอัลกออิดะห์

 

  • ชื่อของ อุซามะห์ บิน ลาดิน ผู้นำกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ กลายเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกหลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเชื่อว่าเขาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังหลักของแผนวินาศกรรม โดยเขาตกเป็นเป้าหมายสูงสุดที่ทางการสหรัฐฯ ต้องการตัว และถูก FBI ตั้งรางวัลนำจับไว้ 25 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

  • บิน ลาดิน เกิดในซาอุดีอาระเบีย เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 1957 เป็นบุตรชายของ โมฮัมเหม็ด บิน อาวัด บินลาดิน มหาเศรษฐีพันล้านชาวเยเมน เจ้าของบริษัทก่อสร้างรายใหญ่ที่มีความสนิทสนมกับราชวงศ์ซาอุฯ โดยเขาถูกเลี้ยงดูในครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ และได้รับการศึกษาในซาอุฯ จนถึงระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งรายงานจากสื่อบางสำนักระบุว่า เขาจบการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธา ในปี 1979

 

  • บิน ลาดิน แต่งงานครั้งแรกขณะอายุได้ 17 ปี และมีภรรยาที่เข้าพิธีแต่งงานด้วยอย่างน้อย 4 คน และมีลูกราว 20-24 คน

 

  • ความสนใจเรื่องศาสนาอย่างจริงจังของ บิน ลาดิน ปรากฏขึ้นในช่วงการเรียนมหาวิทยาลัย หลังจากที่เขาได้รับคำแนะนำให้ศึกษาศาสนาจาก โมฮัมหมัด กุฏบ์ น้องชายของ ซัยยิด กุฏบ์ นักปรัชญาอิสลามชาวอียิปต์ และ อับดุลเลาะห์ อัซซาม ครูสอนศาสนาและผู้นำกลุ่มติดอาวุธชาวปาเลสไตน์ ซึ่งเชื่อว่าช่วงเวลาในมหาวิทยาลัยของเขา ส่งผลสำคัญต่อบทบาทผู้นำกลุ่มอัลกออิดะห์ในอนาคต

 

  • หลังจากที่สหภาพโซเวียตบุกยึดอัฟกานิสถานในปี 1979 บิน ลาดิน ที่มองว่าการรุกรานดังกล่าวเป็นการคุกคามศาสนาอิสลาม ทำให้เขาเดินทางไปเข้าร่วมกับอัซซาม และกลุ่มต่อต้านสหภาพโซเวียตในอัฟกานิสถาน และนำเงินทุนและเครื่องจักรจากบริษัทของพ่อเขาไปช่วยเหลือในการเคลื่อนไหวต่อต้านกองทัพสหภาพโซเวียต 

 

  • ด้วยทรัพยากรทางการเงินและชื่อเสียงจากความกล้าหาญในการต่อสู้ของเขา ทำให้เขาได้ขึ้นเป็นผู้นำกลุ่มติดอาวุธ และนำไปสู่การตั้งเครือข่ายกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิม ในชื่อ ‘อัลกออิดะห์’ ซึ่งเป็นภาษาอาหรับ แปลว่า ฐานทัพ แม้ในช่วงแรกทางกลุ่มจะยังไม่มีเป้าหมายหรือการปฏิบัติการที่ชัดเจน

 

  • ปี 1989 หลังการถอนทหารของสหภาพโซเวียตออกจากอัฟกานิสถาน บิน ลาดิน ตัดสินใจเดินทางกลับซาอุฯ ซึ่งในช่วงแรกเขาได้รับการต้อนรับในฐานะวีรบุรุษ ก่อนจะถูกพิจารณาจากรัฐบาลซาอุฯ ว่าเป็นชาวมุสลิมที่มีแนวคิดสุดโต่งและเป็นภัยคุกคาม

 

  • ความไม่พอใจของ บิน ลาดิน ที่มีต่อผู้นำซาอุฯ และสหรัฐฯ ปะทุขึ้นหลังจากปี 1990 ซึ่งรัฐบาลซาอุฯ ปฏิเสธคำขออนุญาตของ บิน ลาดิน ในการใช้เครือข่ายนักรบญิฮาดของเขาเพื่อปกป้องซาอุฯ จากท่าทีรุกรานของ ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำอิรักในขณะนั้น ขณะที่ บิน ลาดิน ไม่พอใจที่ซาอุฯ พึ่งพิงการคุ้มครองสหรัฐฯ ในช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย ทำให้เขาเดินทางออกจากซาอุฯ ในปีถัดมา และเดินทางไปยังซูดาน ก่อนที่จะเริ่มใช้เครือข่ายของเขาต่อต้านการครอบงำของสหรัฐฯ ในโลกมุสลิม พร้อมทั้งฝึกฝนกองกำลังติดอาวุธ ก่อนจะถูกซาอุฯ ถอนสัญชาติและอายัดทรัพย์สิน

 

  • แนวคิดสุดโต่งของ บิน ลาดิน มาจากความเชื่อที่ว่าพลเรือนจากชาติของศัตรู เป็นเป้าหมายที่นักรบญิฮาดสามารถสังหารได้โดยไม่ผิด ซึ่งเขามองสหรัฐฯ ว่าเป็นศัตรูหลักของชาวมุสลิม จากนโยบายที่กดขี่ สังหาร และทำร้ายชาวมุสลิมในตะวันออกกลาง และเชื่อว่าโลกมุสลิมนั้นกำลังเผชิญกับวิกฤต ซึ่งทางออกเดียวคือการฟื้นฟูกฎหมายชารีอะห์ หรือกฎหมายอิสลาม 

 

  • ในปี 1996 หลังเผชิญแรงกดดันจากนานาชาติ รัฐบาลซูดานตัดสินใจขับไล่ บิน ลาดิน ออกจากประเทศ ทำให้เขาตัดสินใจเดินทางไปยังอัฟกานิสถาน และได้รับการคุ้มครองจากกลุ่มตาลีบันที่ครองอำนาจรัฐบาลในขณะนั้น 

 

  • ในปีเดียวกันนี้ เขาได้ประกาศทำสงครามศักดิ์สิทธิ์กับสหรัฐฯ โดยกล่าวหาสหรัฐฯ ว่าปล้นทรัพยากรธรรมชาติของโลกมุสลิม และพยายามยึดครองคาบสมุทรอาหรับ รวมถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม

 

  • เป้าหมายที่ชัดเจนของ บิน ลาดิน คือการดึงสหรัฐฯ เข้าสู่สงครามขนาดใหญ่ เพื่อล้มล้างกฎระเบียบของโลกที่มีอยู่ และสถาปนารัฐอิสลามหนึ่งเดียว

 

  • ช่วงปี 1998-2000 บิน ลาดิน และกลุ่มอัลกออิดะห์ได้สนับสนุนการฝึกฝนและเงินทุนสำหรับการก่อการร้ายในหลายแห่ง เช่น การวางระเบิดต่อเนื่อง โจมตีสถานทูตสหรัฐฯ ที่เคนยา และแทนซาเนีย ในปี 1998 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตไป 224 คน และในปี 2000 ได้วางระเบิดเรือรบ USS Cole ของสหรัฐฯ ที่จอดอยู่ในเยเมน ส่งผลให้ทหารเรือสหรัฐฯ เสียชีวิต 17 นาย

 

  • หลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ในช่วงแรกเขาปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง และประกาศว่า “สิ่งที่สหรัฐฯ เผชิญอยู่นั้น เทียบไม่ได้กับสิ่งที่พวกเขาเผชิญมาหลายสิบปี”

 

  • ขณะที่สหรัฐฯ พยายามตามล่าตัว บิน ลาดิน โดยช่วงแรกเชื่อว่าเขาหลบซ่อนตัวอยู่ในอัฟกานิสถาน แต่หลังเปิดฉากทำสงครามโค่นล้มกลุ่มตาลีบันในอัฟกานิสถานช่วงปลายปี 2001 สหรัฐฯ ยังไม่พบที่ซ่อนตัวของ บิน ลาดิน กระทั่งในปี 2005 จึงพบความเคลื่อนไหวที่เชื่อว่าเขาหลบซ่อนตัวอยู่ในแถบภูมิภาควาซิริสถาน ในปากีสถาน

 

  • ในเดือนสิงหาคมปี 2007 กลุ่มอัลกออิดะห์เผยแพร่คลิปวิดีโอข้อความของ บิน ลาดิน ที่ออกมายอมรับว่าเป็นผู้รับผิดชอบในแผนก่อเหตุวินาศกรรม 9/11 เพียงผู้เดียว

 

  • ปฏิบัติการตามล่าตัว บิน ลาดิน สิ้นสุดในวันที่ 2 พฤษภาคม ปี 2011 โดยสหรัฐฯ ได้รับข่าวกรองที่คาดว่า บิน ลาดิน หลบซ่อนอยู่ในบ้านพักขนาด 3 ชั้นในเมืองแอบบอตตาบัด ตั้งแต่ช่วงปี 2010 ก่อนที่ CIA จะส่งทีมเข้าสอดส่องและเก็บข้อมูล กระทั่งประธานาธิบดีบารัก โอบามา ไฟเขียวให้กองทัพสหรัฐฯ ส่งหน่วย SEAL จากอัฟกานิสถานเข้าปฏิบัติการจับเป็นหรือจับตาย ภายใต้ชื่อรหัสปฏิบัติการว่า Neptune Spear และสังหาร บิน ลาดิน ได้ภายในบ้านพัก

 

‘KSM’ ผู้อยู่เบื้องหลังแท้จริงนอกจาก ‘บิน ลาดิน’

 

  • บิน ลาดิน ผู้นำอัลกออิดะห์ คือตัวการหลักในการขับเคลื่อนแผนวินาศกรรม 9/11 แต่จากการสืบสวนของสหรัฐฯ พบข้อเท็จจริงว่า ‘สถาปนิก’ ผู้อยู่เบื้องหลังแนวคิดและการออกแบบแผนวินาศกรรมสะเทือนโลกนี้ แท้จริงคือ ‘KSM’

 

  • ‘คาลิด ชีค โมฮัมเหม็ด’ หรือที่รู้จักในชื่อย่อว่า KSM คือผู้ริเริ่มแนวคิดก่อเหตุวินาศกรรม 9/11 และได้ชื่อว่าเป็นสถาปนิกหลัก ผู้คิดแผนโจมตีด้วยการจี้เครื่องบินพุ่งชนเป้าหมาย

 

  • โมฮัมเหม็ด เกิดในคูเวต และศึกษาในสหรัฐฯ ก่อนจะเดินทางไปร่วมรบในอัฟกานิสถาน ช่วงทศวรรษ 1980 โดยเขาตกเป็นเป้าจับตามองจาก FBI ครั้งแรก หลังจากที่พบว่าเป็นผู้โอนเงินให้กับหนึ่งในมือระเบิดที่ก่อเหตุวางระเบิดอาคาร World Trade Center ในปี 1993 

 

  • ในปี 1995 สายลับของ FBI ตรวจสอบพบว่าโมฮัมเหม็ดมีความเชื่อมโยงกับการวางแผนระเบิดเที่ยวบินโดยสารระหว่างประเทศหลายลำเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเจ้าหน้าที่ FBI พยายามติดตามจับกุมตัวเขาที่หลบซ่อนอยู่ในกาตาร์ แต่เขาหลบหนีไปได้

 

  • แต่ในช่วงนั้น โมฮัมเหม็ดยังไม่ถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่สหรัฐฯ ต้องการตัว และยังมีผู้ก่อการร้ายที่ถูกจับตามองอีกหลายคน ทำให้เขาหลุดรอดสายตาของสหรัฐฯ และหลบหนีไปยังอัฟกานิสถานในที่สุด

 

  • ในอีก 2-3 ปีต่อมา รายชื่อของโมฮัมเหม็ดปรากฏมากขึ้นในฐานะผู้ที่มีการติดต่อกับกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลก ซึ่งช่วงนี้เองที่เขาได้พบกับ บิน ลาดิน และเสนอแนวคิดฝึกฝนกลุ่มก่อร้ายให้ขับเครื่องบินพุ่งชนตึกในสหรัฐฯ ก่อนจะนำมาซึ่งเหตุวินาศกรรม 9/11

 

  • ในช่วงแรกนั้น แผนที่โมฮัมเหม็ดเสนอต่อผู้นำอัลกออิดะห์คือการจี้เครื่องบินหลายลำที่บินจากฝั่งตะวันออกและตะวันตกของสหรัฐฯ ก่อนบินพุ่งชนเป้าหมาย แต่บินลาเดนปฏิเสธบางเป้าหมายที่โมฮัมเหม็ดเสนอมา เช่น ธนาคารกลางในลอสแอนเจลิส

 

  • คาดว่า บิน ลาดิน อนุมัติแผนวินาศกรรมสหรัฐฯ ของโมฮัมเหม็ดในช่วงปลายปี 1998 หรือต้นปี 1999 ก่อนที่จะเดินหน้าแผนการ โดยมีการประชุมระหว่างโมฮัมเหม็ด, บิน ลาดิน และโมฮัมเหม็ด อาเทฟ ผู้บัญชาการกองกำลังของอัลกออิดะห์ ซึ่ง บิน ลาดิน เป็นผู้นำในแผนการและให้การสนับสนุนทางการเงิน ตลอดจนเป็นผู้เลือกผู้ที่เข้าร่วมและผู้นำในการจี้เครื่องบิน ส่วนโมฮัมเหม็ดสนับสนุนด้านปฏิบัติการ เช่น การเลือกเป้าหมายโจมตีและจัดการเรื่องการเดินทาง ส่วนอาเทฟควบคุมการดำเนินแผนการจี้เครื่องบิน

 

  • จากการสอบสวนพบว่าแรงจูงใจของ บิน ลาดิน ในการโจมตีสหรัฐฯ มาจากการที่สหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอล ซึ่ง บิน ลาดิน ต้องการเลื่อนการโจมตีให้เร็วขึ้น และมองว่าแค่ทำให้เครื่องบินตกโดยไม่พุ่งชนเป้าหมายก็เพียงพอ แต่โมฮัมเหม็ด คัดค้านโดยมองว่าควรให้แน่ใจว่าทีมผู้ก่อเหตุมีความพร้อม และมีผู้ที่ได้รับการฝึกขับเครื่องบิน

 

  • โมฮัมเหม็ดถูกจับกุมได้ที่ปากีสถานในปี 2003 และถูก CIA นำตัวไปขังในสถานที่ลับ โดยมีรายงานว่าเขาถูกสอบสวนด้วยวิธีทรมานต่างๆ เช่น การทำ Waterboarding หรือทำให้ขาดอากาศหายใจเหมือนจมน้ำถึง 183 ครั้ง, การให้น้ำทางทวารหนัก, การทำให้เกิดภาวะเครียดและไม่ให้นอนหลับ, การบังคับเปลือยกาย และการขู่สังหารครอบครัวและลูกๆ ของเขา

 

การตอบโต้ของสหรัฐฯ และจุดเริ่มต้นสงครามในอัฟกานิสถาน

 

  • 12 กันยายน 2001 หรือหนึ่งวันหลังจากเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐฯ แถลงต่อชาวอเมริกัน โดยประกาศสงครามและย้ำว่าสหรัฐฯ จะใช้ทุกทรัพยากรที่มีเพื่อกวาดล้างศัตรูที่ก่อเหตุ

 

  • จากนั้นในวันที่ 20 กันยายน 2001 บุชแถลงต่อสภาคองเกรส ประกาศเดินหน้าสงครามกวาดล้างกลุ่มก่อการร้าย โดยเริ่มต้นจากกลุ่มอัลกออิดะห์ และยืนยันว่าจะไม่หยุดยั้งจนกว่าจะตามล่า ยับยั้ง และทำลายกลุ่มก่อการร้ายทุกกลุ่มจนหมดสิ้น

 

  • ฉากแรกของสงครามกวาดล้างกลุ่มก่อการร้ายของสหรัฐฯ เริ่มต้นที่อัฟกานิสถาน หลังสหรัฐฯ เรียกร้องให้กลุ่มตาลีบันที่ครองอำนาจรัฐบาลในขณะนั้นส่งตัว บิน ลาดิน พร้อมผู้นำอัลกออิดะห์ทุกคนให้กับสหรัฐฯ แต่กลุ่มตาลีบันซึ่งเป็นพันธมิตรกับอัลกออิดะห์ปฏิเสธให้ความช่วยเหลือ โดยอ้างว่าสหรัฐฯ ไม่มีหลักฐานว่า บิน ลาดิน เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุวินาศกรรม 9/11 

 

  • 25 กันยายน 2001 โดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ประกาศเริ่มต้นภารกิจกวาดล้างกลุ่มก่อการร้าย ภายใต้ชื่อปฏิบัติการเสรีภาพยั่งยืน (Operation Enduring Freedom-OEF) โดยส่งกำลังทหารเข้าจู่โจมในเดือนตุลาคม และมีชาติพันธมิตรและกองกำลังพันธมิตรตอนเหนือที่ต่อต้านตาลีบันให้การสนับสนุน จนสามารถโค่นล้มตาลีบันได้สำเร็จ ทำให้สมาชิกตาลีบันและอัลกออิดะห์ส่วนใหญ่ถูกกวาดล้างหรือขับไล่ออกจากอัฟกานิสถาน

 

  • หลังการโค่นอำนาจตาลีบัน สหรัฐฯ และกองทัพชาติพันธมิตร 40 ประเทศ รวมถึงสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือ NATO ยังคงประจำการอยู่ในอัฟกานิสถาน และจัดตั้งเป็นกองกำลังช่วยเหลือด้านความมั่นคงระหว่างประเทศหรือ ISAF โดยสหรัฐฯ ให้ความช่วยเหลืออัฟกานิสถาน จัดตั้งรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตย และได้ประธานาธิบดีคนแรกคือ ฮามิด คาไซ

 

  • ขณะที่กลุ่มตาลีบันยังคงไม่สูญสลาย โดยรวมตัวและหาสมาชิกได้อีกครั้งในปี 2003 ภายใต้การนำของ มุลเลาะห์ โอมาร์ และมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอัฟกานิสถานเป็นระยะ โดยใช้วิธีการจู่โจมแบบก่อการร้าย ทั้งกราดยิงและระเบิดฆ่าตัวตายในที่ชุมชน

 

20 ปีแห่งสงครามต้านก่อการร้าย สหรัฐฯ ชนะแล้วหรือยัง?

 

  • สงครามต้านการก่อการร้ายในอัฟกานิสถานระยะเวลาราว 20 ปี ถือเป็นภารกิจสงครามที่ยืดเยื้อและยาวนานที่สุดของสหรัฐฯ โดยดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสหรัฐฯ จะบรรลุเป้าหมายในการตามล่าตัวและสังหาร บิน ลาดิน ได้ตั้งแต่ปี 2011 และ NATO ตัดสินใจยุติภารกิจสู้รบในปลายปี 2014 แต่การถอนทหารสหรัฐฯ ที่เป็นผู้จุดชนวนไฟสงคราม ไม่สามารถทำได้ในทันที และต้องมีกระบวนการเพื่อเตรียมความพร้อมหลายขั้นตอน

 

  • ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนรัฐบาลและกองทัพอัฟกานิสถานมากมาย ทั้งจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และช่วยฝึกฝนทหารเพื่อให้สามารถยืนหยัดด้วยตนเองในการต่อสู้กับกลุ่มตาลีบัน ตลอดจนช่วยเหลือในการพัฒนาประเทศและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ 

 

  • ประธานาธิบดีโจ ไบเดน เปิดเผยว่า งบประมาณที่ใช้ไปกับภารกิจในอัฟกานิสถานนั้น คาดว่าสูงกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยนับตั้งแต่เปิดฉากสงครามในปี 2001 มีทหารสหรัฐฯ ถูกส่งไปประจำการในอัฟกานิสถานรวมทั้งหมดกว่า 800,000 นาย 

 

  • ความสูญเสียจากการทำสงครามในอัฟกานิสถาน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไปกว่า 170,000 คน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นตำรวจและทหารอัฟกันกว่า 66,000 คน พลเรือนอัฟกันกว่า 47,000 คน ทหารและเจ้าหน้าที่สัญญาจ้างของสหรัฐฯ กว่า 6,200 คน ส่วนฝ่ายตาลีบันและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ เสียชีวิตไปกว่า 51,000 คน ขณะที่ชาวอัฟกันอีกนับล้านต้องอพยพหนีการสู้รบ

 

  • แต่งบประมาณและชีวิตมากมายที่สูญเสียไปตลอดระยะเวลา 20 ปี ยังไม่สามารถทำให้สหรัฐฯ บรรลุเป้าหมาย โดยภัยคุกคามจากการก่อการร้ายในสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ แม้จะดูแตกต่างไปหากเทียบกับในช่วงปี 2001 เนื่องจากอำนาจของกลุ่มก่อการร้ายและการใช้ยุทธวิธีเพื่อสังหารหมู่นั้นลดลง

 

  • ขณะที่กลุ่มอัลกออิดะห์ยังคงทนทานและไม่ล่มสลายง่ายๆ แม้จะลดการเคลื่อนไหวและแกนนำหลายคนถูกสหรัฐฯ สังหารหรือจับกุมตัว โดยยังมีเครือข่ายอยู่ใน 17 ประเทศทั่วโลก ซึ่งการเผยแพร่แนวคิดก่อการร้ายที่คล้ายคลึงกับอัลกออิดะห์ก็ยังคงแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก ทั้งแอฟริกา ตะวันออกกลางและเอเชีย

 

  • การถอนทหารทั้งหมดของสหรัฐฯ เป็นการเปิดช่องทางกลับคืนสู่อำนาจให้กลุ่มตาลีบัน ที่บุกยึดคืนเมืองต่างๆ รวมถึงกรุงคาบูลได้อย่างรวดเร็ว โดยผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า ผลที่ตามมาอาจเป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับกลุ่มติดอาวุธที่ต่อต้านสหรัฐฯ อีกทั้งอัฟกานิสถานอาจกลายเป็นที่ซ่องสุมกำลังของกลุ่มก่อการร้ายที่เป็นภัยต่อสหรัฐฯ เช่นกลุ่มรัฐอิสลามหรือไอเอส โดยที่สหรัฐฯ อาจไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก

 

ภาพ: Photo by Spencer Platt/Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X