×

87 ปี บุญรอดบริวเวอรี่ มากกว่าการ ‘เติบโต’ คือการ ‘ตอบแทน’ สังคมอย่างยั่งยืน [IN PARTNERSHIP WITH SINGHA CORPORATION]

โดย THE STANDARD TEAM
29.10.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • ตลอดระยะเวลากว่า 87 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ ‘บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด’ ให้ความสำคัญนอกเหนือจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ให้บริการที่ดี คือการสร้างความเจริญก้าวหน้า ตลอดจนการมุ่งเน้นพัฒนา ‘นโยบายตอบแทนสังคมอย่างมั่นคง’
  • ในช่วงเริ่มธุรกิจ พระยาภิรมย์ภักดีได้ปูทางด้วยการให้บริการเรือเมล์ข้ามฟาก โดยได้นำเรือที่มีอยู่มาดัดแปลงเป็นเรือดับเพลิงเพื่อช่วยเหลือสังคมและชาวบ้านในยุคสมัยนั้น ซึ่งในเวลาต่อมามันได้กลายเป็นปรัชญาการช่วยเหลือสังคมที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
  • ปัจจุบันแม้จะผ่านมากว่า 9 ทศวรรษ จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ก็ให้ความสำคัญกับการตอบแทนสังคมอย่างยั่งยืนไม่ต่างกัน โดยยกให้คุณค่าการช่วยเหลือสังคมเปรียบเสมือนตัวชี้วัดเสถียรภาพความแข็งแกร่งองค์กร

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ ‘มาตรวัด’ ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ในปัจจุบันนิยมใช้วัดทาบขนาดศักยภาพและความแข็งแกร่งของตนหนีไม่พ้นขนาดขององค์กร (จำนวนพนักงานในบริษัท) ตัวเลขรายได้ กำไรสุทธิ ยอดขายสินค้าที่ถล่มทลาย เส้นกราฟผลประกอบการบริษัทที่กำลังพุ่งทะยาน หรือแม้แต่ราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ 

 

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียงองค์ประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะมากกว่ารายได้และการชี้วัดด้วยเรื่องเงินคือคำถามที่ว่า ‘องค์กรของคุณได้ให้อะไรตอบแทนกลับคืนสู่สังคมบ้าง’

 

ตลอดระยะเวลากว่า 87 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในสิ่งที่ ‘บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด’ ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอดจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร ปณิธานการทำธุรกิจที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น นอกเหนือจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ยกระดับการบริการที่ดี คือการสร้างความเจริญก้าวหน้า ตลอดจนการมุ่งเน้นพัฒนา ‘นโยบายตอบแทนสังคมอย่างมั่นคง’

 

 

ในทศวรรษที่ 9 ของบุญรอดบริวเวอรี่สู่การบริหารงานภายใต้แม่ทัพคนปัจจุบัน จุตินันท์ ภิรมย์ภักดี แนวคิดดังกล่าวก็ยังคงเป็นสิ่งที่กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทเน้นย้ำให้ความสำคัญควบคู่กับการพาองค์กรมุ่งทะยานไปข้างหน้า โต้คลื่นความท้าทายมากมายที่ถาโถมเข้ามา ตั้งแต่ดิจิทัลดิสรัปชัน พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หรือแม้กระทั่งโควิด-19

 

และนี่คือแนวคิดเบื้องหลังการทำธุรกิจคู่ขนานไปกับการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมบางส่วนของบุญรอดบริวเวอรี่ที่จุตินันท์ได้บอกเล่าให้กับ THE STANDARD 

 

 

ความแข็งแกร่งของบริษัทจะเกิดขึ้นได้ด้วยสังคมที่เข้มแข็งและนโยบายที่ยั่งยืน ในมุมมองของจุตินันท์ เขาเชื่อมั่นว่าดัชนีชี้วัด ‘ความแข็งแกร่ง’ ขององค์กรคือศักยภาพ หรือการมองจากมุมที่ว่าบริษัทนั้นๆ สามารถสร้างความเจริญก้าวหน้าตอบแทนให้กับสังคมได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงแค่ไหน 

 

เพราะยิ่งสังคมมีความก้าวหน้า ยืนหยัดด้วยตัวเองได้อย่างเข้มแข็ง และเจริญเติบโตได้มากเท่าไร องค์กรนั้นๆ ก็จะเสมือนหนึ่งว่าถูกเสริมใยเหล็กเพิ่มความแข็งแกร่งตามไปมากเท่าทวีด้วย

 

กรรมการผู้จัดการใหญ่บุญรอดบริวเวอรี่ย้อนเล่ากลับไปสู่ช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจของบริษัทโดยพระยาภิรมย์ภักดี (บุญรอด เศรษฐบุตร) ที่ริเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวดำเนินกิจการในห้วงเวลาดังกล่าวด้วยการให้บริการเรือเมล์ข้ามฟาก (ทำธุรกิจโรงเบียร์ในภายหลัง) แต่ก็ยังไม่ลืมที่จะตอบแทนสังคมด้วยความสามารถและกำลังที่ตัวเองพอจะทำได้

 

“ก่อนที่พระยาภิรมย์ภักดีจะเริ่มธุรกิจโรงเบียร์ ท่านได้ดำเนินธุรกิจเรือเมล์ข้ามฟากมาก่อน สมัยนั้นยังไม่มีสะพานพุทธ ท่านมีเรือให้บริการหลายลำ จึงเกิดแนวคิดเปลี่ยนเรือลำหนึ่งเป็น ‘เรือดับเพลิง’ เนื่องจากในเวลาดังกล่าว การเข้าถึงสถานที่บางจุดยังทำได้ไม่ถนัดและง่ายเท่าที่ควร เรือดับเพลิงจึงมีความสำคัญและจำเป็นมากๆ ยามที่เกิดไฟไหม้ตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งนี่คือตัวอย่างและเจตนารมณ์ของพระยาภิรมย์ภักดีที่ได้ถ่ายทอดมาต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น

 

“มากไปกว่านั้น ผมมองว่าการช่วยเหลือที่จะเป็นประโยชน์จริงๆ กับผู้รับก็คือการช่วยเหลือให้มีความต่อเนื่องและยั่งยืน ซึ่งบุญรอดบริวเวอรี่ได้พยายามสานต่อสิ่งเหล่านี้มาโดยตลอด

 

“สิ่งที่บุญรอดบริวเวอรี่ปฏิบัติในเชิงการดูแลสังคม เราทำมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 87 ปี พระยาภิรมย์ภักดีเคยสอนว่าที่บริษัทของเรามีวันนี้ได้ก็เพราะได้รับการสนับสนุนจากทุกๆ ภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นสังคม พี่น้องประชาชน หน่วยงานภาครัฐ ท่านจึงปลูกฝังแนวคิดการช่วยเหลือสังคมให้กับลูกๆ หลานๆ ตลอดจนพนักงานทุกคนในองค์กร นั่นจึงทำให้นอกจากนโยบายของเราจะต้องมุ่งพัฒนาให้บริษัทเข้มแข็งแล้ว ยังต้องสามารถช่วยเหลือดูแลสังคมให้เจริญเติบโตไปพร้อมๆ กันได้ด้วย”

 

 

เมื่อ ‘คน’ คือ ‘รากฐานของสังคม’ การมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรคนจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ด้วยความเชื่อที่ว่าคนคือรากฐานของสังคม ดังนั้นการที่สังคมจะดีขึ้นได้ คนก็ต้อง ‘ดี’ เสียก่อน ทั้งหมดจึงทำให้บุญรอดบริวเวอรี่มุ่งเน้นการตอบแทนสังคมผ่านการพัฒนาและสร้างบุคลากรคนที่ดีเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากการสนับสนุนด้านกีฬา ที่โครงการต่างๆ ของบุญรอดบริวเวอรี่ได้มีส่วนในการผลักดันนักกีฬากอล์ฟสัญชาติไทยมากมายให้โลดแล่นในวงการจนสามารถสร้างรายได้หาเลี้ยงตนและครอบครัวได้อย่างมั่นคง รวมถึงการเป็น หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังนักกีฬาพาราไทย โดยเข้าไปสนับสนุนกีฬาคนพิการตั้งแต่ยังไม่เป็นที่รู้จัก จนกระทั่งวันนี้สังคมได้ให้ความสำคัญและเป็นกำลังใจให้ทัพนักกีฬาคนพิการมากขึ้น

 

เช่นเดียวกับการผลักดันพัฒนาด้าน ‘การศึกษา’ ที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น การมอบทุนบุญรอดพัฒนานิสิตนักศึกษา ทุนอาหารกลางวันให้กับเยาวชนที่อาศัยในภาคเหนือ ทุนการศึกษาสิงห์ปาร์คเชียงรายสำหรับเด็กเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ตลอดจนการช่วยเหลือกิจกรรมสังคมต่างๆ ผ่านกลุ่มสิงห์อาสา เป็นต้น

 

ทั้งหลายทั้งมวลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นข้อยืนยันที่พิสูจน์ให้เห็นถึงเจตนารมณ์และปรัชญาการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมของพระยาภิรมย์ภักดีที่ถูกส่งต่อมาเป็นแนวทางการบริหารองค์กรของคนภิรมย์ภักดีในรุ่นลูกและหลาน โดยในเวลาเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะมุ่งตอบแทนสังคม 

 

 

โควิด-19 ที่สร้างผลกระทบถ้วนหน้ากับความมุ่งมั่นของบุญรอดบริวเวอรี่ในการมุ่งตอบแทนสังคม

แม้ว่าบุญรอดบริวเวอรี่จะมีแผนการรับมือกับความท้าทายทางธุรกิจ ดิจิทัลดิสรัปชัน หรือการแข่งขันในตลาดที่ดุเดือดด้วยการกระจายธุรกิจ เพิ่มความหลากหลายในพอร์ตของบริษัท จากเดิมที่ผลิตแค่อาหารและเครื่องดื่มก็หันมาจับตลาด ‘อสังหาริมทรัพย์’ ด้วย ทรานส์ฟอร์มองค์กรให้พร้อมสู้รบกับภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือหากลยุทธ์ใหม่ๆ มาสร้างรสชาติที่หวือหวาให้กับตลาดเครื่องดื่มประเภทต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

 

แต่สำหรับโควิด-19 ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมานั้นถือเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายล้วนแล้วแต่ลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่านี่คือเรื่องที่ ‘เหนือความคาดหมาย’ ทั้งยังสร้างผลกระทบเชิงลบเป็นอย่างมากกับระบบเศรษฐกิจ ถึงขั้นที่องค์กรหลายแห่งจำต้องประกาศปิดตัว ปลดพนักงานหลายชีวิต และนำไปสู่ปัญหาต่างๆ มากมายในที่สุด

 

กระนั้นก็ดี บุญรอดบริวเวอรี่กลับประกาศตัวชัดเจนในการยืนหยัดช่วยเหลือสังคม แม้จะต้องทนแบกรับแรงกดดันจากโรคระบาดดังกล่าว เริ่มต้นที่การดูแลพนักงานของบริษัทและบริษัทในเครือ รวมทั้งคู่ค้าของบริษัททั่วประเทศจำนวนกว่า 25,000 ชีวิตให้ได้รับการจ้างงานต่อไป แม้กิจการหลายส่วนของบริษัท บริษัทในเครือ รวมทั้งคู่ค้าของบริษัทต้องหยุดชะงักหรือชะลอตัวลงก็ตาม เพื่อไม่ให้พนักงานเหล่านั้นต้องประสบความเดือดร้อน

 

นอกจากนี้ในส่วนของคู่ค้าของบริษัททั่วประเทศกว่า 200 ราย บุญรอดบริวเวอรี่ยังได้ขยายเครดิตให้กับตัวแทนจำหน่ายเหล่านั้น เพื่อให้ตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิด-19 สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างคล่องตัวมากขึ้นในสถานการณ์ดังกล่าว และยังคงรักษาสถานภาพการจ้างงานให้กับพนักงานและคู่ค้าทุกราย

 

 

ขณะที่การช่วยเหลือบุคลากรแพทย์ผู้ที่ทำหน้าที่เป็น ‘ด่านหน้า’ ในการรับมือกับโควิด-19 บุญรอดบริวเวอรี่ยังได้มอบเงินจำนวน 50 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโรงพยาบาลหลักที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วประเทศ เพื่อใช้ในการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องผ่าตัด หรืออุปกรณ์ทั่วไปเพื่อใช้ในการป้องกันร่างกายให้บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อใช้ในการดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วย พร้อมดูแลอาหารและน้ำดื่มให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานในสถานที่ต่างๆ

 

สำหรับการช่วยเหลือสังคมในด้านอื่นๆ ด้วยการจัดโครงการ จัดโครงการการจ้างงานและสร้างอาชีพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเพื่อช่วยลดปัญหาการว่างงาน รวมทั้งเพิ่มพูนความรู้ ทักษะอาชีพ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างรายได้ให้กับผู้ว่างงานในทุกภูมิภาคทั่วประเทศผ่านโครงการ ‘สิงห์อาสา’

 

ตลอดจนการเปิดพื้นที่ให้นักดนตรีหรือศิลปินกว่า 2,500 ชีวิตสามารถแสดงผลงานของตัวเองผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์

 

“ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราได้รับจดหมายจากนายกรัฐมนตรีพอดี (เมษายน 2563: พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ส่งจดหมายถึง 20 นักธุรกิจไทยเพื่อขอความร่วมมือในการนำเสนอโครงการและไอเดียเพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทย) โจทย์ของเราในตอนนั้นคือการสร้างงาน ซึ่งประจวบเหมาะกับโครงการ ‘สิงห์อาสา’ ที่เราทำอยู่แล้ว

 

“เราจึงได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ว่างงานโดยฝึกอบรมให้พวกเขาเหล่านั้นก้าวขึ้นมาเป็นอาสาสมัครดูแลท้องถิ่นของตนเอง โดยได้รับเบี้ยเลี้ยงรายวันจากการทำงานเป็นอาสาสมัครหรือการฝึกอบรม เช่น โครงการสิงห์อาสาสู้ไฟป่า จัดอบรมวิธีการดับไฟป่าให้กับชุมชนในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า 10 จังหวัด, โครงการสิงห์อาสาสู้ภัยแล้ง จัดจ้างประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้ง ร่วมเป็นอาสาสมัครในจุดแจกน้ำ หรือในจุดติดตั้งแท็งก์น้ำในชุมชน ในพื้นที่ประสบภัยแล้ง 20 จังหวัด และโครงการสิงห์อาสาป้องกันน้ำท่วม ร่วมขุดลอกคูคลอง เก็บผักตบชวา ครอบคลุม 7 จังหวัดภาคกลาง

 

 

ทั้งนี้สำหรับโครงการสิงห์อาสานั้น บุญรอดบริวเวอรี่ได้สนับสนุนเงินช่วยเหลือในโครงการดังกล่าว เพื่ออบรมทักษะวิชาชีพให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นต่างๆ แบบไม่มีค่าใช้จ่ายผ่านการใช้ศักยภาพของบริษัทในเครือและเครือข่ายของสิงห์อาสาทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้ที่เข้าโครงการสามารถนำทักษะความรู้ความสามารถที่ได้รับจากการอบรมไปต่อยอดสร้างอาชีพและหาเลี้ยงครอบครัว

 

โดยแบ่งกลุ่มทักษะอาชีพในโครงการออกเป็น 3 ส่วนคือ การอบรมทักษะวิชาชีพทางด้านอาหารสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก การอบรมทักษะวิชาชีพทางด้านงานช่าง Home service and office skills และการอบรมทักษะวิชาชีพทางด้านการเกษตร เพื่อผลักดันให้เกิดวิสาหกิจชุมชน ต่อไป

 

โดยหากนับตั้งแต่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด และบริษัทในเครือฯ ตลอดจนตัวแทนจำหน่ายทั่วประเทศเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือไปยังบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปที่ได้รับความเดือดร้อนทั่วประเทศ ในรูปแบบต่างๆเป็นมูลค่าการช่วยเหลือรวมกว่า 200 ล้านบาท

 

 

“สิ่งสำคัญที่มากกว่าการช่วยให้พวกเขามีรายได้คือการช่วยให้พวกเขาสัมผัสได้ถึงคุณค่าของสิ่งที่ได้ทำ เพราะถ้าพวกเขารู้สึกว่ามีจุดมุ่งหมายในชีวิต มีงานที่ได้ช่วยเหลือและเป็นประโยชน์ต่อสังคม มันก็จะเป็นเรื่องที่ดีต่อจิตใจของพวกเขาในที่สุด”

 

 

ท้ายสุดนี้ จุตินันท์ยังได้กล่าวทิ้งท้ายกับเราโดยบอกว่าตัวเขาและพนักงานทุกคนขององค์กรยังคงยึดถือหลักปฏิบัติและวัฒนธรรมการตอบแทนสิ่งดีๆ ให้กับสังคมอย่างยั่งยืนมาโดยตลอด เพราะทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วแต่เป็นคำสอนที่พระยาภิรมย์ภักดีได้ปลูกฝังให้กับคนบุญรอดบริวเวอรี่ทุกคนนั่นเอง

 

“วันข้างหน้า ในวันที่ผมมีโอกาสพบกับคุณปู่ (พระยาภิรมย์ภักดี) ผมจะมองท่านด้วยความภาคภูมิใจว่าผมได้ทำหน้าที่ที่ดีที่สุดแล้วให้กับบริษัท ปรัชญาที่ท่านส่งทอดให้ลูกหลานของท่าน พวกเราทุกคนได้ทำกันอย่างเต็มที่ ไม่เคยทำให้ชื่อเสียงของบริษัทเสื่อมเสียไม่ว่าจะในมิติใดๆ ก็ตาม”

 

เพราะเชื่อว่าความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรต้องทำให้ได้ในระดับการสร้างประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับสังคม ดังนั้นสิ่งเหล่านี้จึงถูกถ่ายทอดไหลเวียนอยู่ในดีเอ็นเอของบุญรอดบริวเวอรี่มายาวนานต่อเนื่องกว่า 87 ปี และจะยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักแค่ไหน หรือองค์กรจะต้องเผชิญกับความท้าทายในอีกกี่พันหมื่นแสนครั้งก็ตาม

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising