×

รายงานเผยมีพลเรือน 87 รายถูกสังหารด้วยอาวุธของอังกฤษและสหรัฐฯ ในเยเมน ช่วงปี 2021-2022

11.01.2023
  • LOADING...

ข้อมูลจาก Oxfam ระบุว่า มีพลเรือนอย่างน้อย 87 รายในเยเมนถูกสังหารด้วยการโจมตีทางอากาศจากกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยซาอุดีอาระเบีย โดยใช้อาวุธที่มาจากอังกฤษและสหรัฐอเมริกาในช่วงเดือนมกราคม 2021 – กุมภาพันธ์ 2022 พร้อมกล่าวโจมตีว่ารัฐบาลอังกฤษเพิกเฉยต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้อังกฤษยุติการค้าอาวุธกับซาอุดีอาระเบีย

 

มาร์ติน บุตเชอร์ ที่ปรึกษาด้านนโยบายของ Oxfam กล่าวว่า มีการโจมตีทางอากาศถึง 431 ครั้งในช่วงเวลาที่ระบุไปข้างต้น หรือเฉลี่ยแล้วประมาณวันละครั้ง เขายังกล่าวอีกว่า “การโจมตีที่รุนแรงเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากไม่มีคลังอาวุธที่คอยเตรียมพร้อมไว้อยู่แล้ว”

 

บุตเชอร์กล่าวเสริมว่า การโจมตีจำนวนมากที่คร่าชีวิตของพลเรือนถึง 87 ราย และบาดเจ็บอีก 136 ราย นับเป็น ‘รูปแบบของความรุนแรงต่อพลเรือน’ ที่ทุกฝ่ายในข้อขัดแย้ง รวมถึงผู้จัดหาอาวุธ คว้าน้ำเหลวในการป้องกันไม่ให้เหตุร้ายนี้เกิดขึ้น

 

ข้อมูลจากผลการวิเคราะห์ของ Oxfam ยังเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า การโจมตีทางอากาศถึง 13 ครั้งที่ดำเนินการโดยอาศัยเครื่องบินเจ็ตของอังกฤษหรือสหรัฐฯ นั้น เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลและคลินิกต่างๆ ขณะที่ฟาร์มและบ้านเรือนของประชาชนถูกโจมตีบ่อยครั้ง ส่งผลให้พลเรือนต้องย้ายออกจากบ้านเรือนหรือสถานที่พักพิง หลังจากที่ถูกโจมตีทางอากาศรวมถึง 293 ครั้ง

 

กองทัพอากาศหลวงของซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นสมาชิกหลักของแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรนานาชาติที่ต่อสู้กับกลุ่มกบฏฮูตีในประเทศเยเมน ได้ใช้เครื่องบินขับไล่แบบ Eurofighter Typhoon และ Tornado ที่จำหน่ายและซ่อมบำรุงโดยอังกฤษ และเครื่องบิน F-15 จากสหรัฐฯ อีกทั้งยังมีการใช้ระเบิด Paveway IV ซึ่งผลิตในอังกฤษด้วย

 

องค์กรต่อต้านการค้าอาวุธ Campaign Against Arms Trade (CAAT) ประเมินว่า ยอดการซื้อขายอาวุธระหว่างอังกฤษกับซาอุดีอาระเบียนับตั้งแต่ที่เข้าร่วมในสงครามเยเมนเมื่อปี 2015 รวมมูลค่าสูงถึง 2.3 หมื่นล้านปอนด์

 

ในปลายเดือนนี้ศาลสูงจะนัดฟังคำอุทธรณ์รอบใหม่จาก CAAT ซึ่งคัดค้านการตัดสินใจของอังกฤษที่กลับมาค้าอาวุธให้ซาอุดีอาระเบียอีกครั้ง โดยระบุว่าอังกฤษกำลังดำเนินการอย่างผิดกฎหมายด้วยการเพิกเฉยต่ออาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้น โดยเมื่อปี 2020 ลิซ ทรัสส์ ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการค้าในขณะนั้น ได้มีคำสั่งให้อังกฤษสานต่อการค้าอาวุธอีกครั้ง หลังจากที่ทางการตรวจสอบและสรุปได้ว่ามีเพียง ‘เหตุการณ์เดียว’ จากการโจมตีทางอากาศเท่านั้นที่นับเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรม

 

รายงานของ Yemen Data Project ระบุว่า นับตั้งแต่สงครามในเยเมนเกิดขึ้นเมื่อปี 2014 มีพลเรือนถูกสังหารถึง 8,983 ราย แต่รายงานของ Oxfam มุ่งเน้นไปที่เหตุการณ์ระหว่างช่วงปี 2021-2022 เพื่อแสดงให้เห็นว่ามีพลเรือนจำนวนมากถูกสังหารจากการโจมตีทางอากาศเมื่อไม่นานมานี้ 

 

ความขัดแย้งที่ซับซ้อนซึ่งมีประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคเข้ามาเกี่ยวข้องครั้งนี้ ถือว่าเป็นชนวนที่ทำให้เกิดให้เกิดวิกฤตการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งของโลก โดยการพักรบเป็นเวลา 6 เดือนได้สิ้นสุดลงในเดือนตุลาคม 2022 และเคราะห์ดีที่ยังไม่มีการโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นหลังจากนั้น โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ ได้กดดันให้ซาอุดีอาระเบียหยุดการโจมตีทางอากาศ

 

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่นาน เคยประกาศไว้ว่า สหรัฐฯ จะระงับการขายอาวุธโจมตีแก่ซาอุดีอาระเบียเนื่องจากสถานการณ์ในเยเมน แต่หลังจากนั้นสหรัฐฯ ก็ได้อนุมัติให้ขายระบบป้องกันให้กับซาอุดีอาระเบียรวมมูลค่ากว่า 4 พันล้านดอลลาร์

 

ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศสงบลงอย่างเห็นได้ชัดในฤดูใบไม้ร่วง หลังจากที่ซาอุดีอาระเบีย และประเทศสมาชิก OPEC รายอื่นๆ เห็นพ้องที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมัน ซึ่งช่วยหนุนราคาน้ำมันให้สูงขึ้น และอีกทางหนึ่งก็เอื้อประโยชน์ให้รัสเซียมีทุนต่อการทำสงครามในยูเครน

 

อย่างไรก็ตาม ทางอังกฤษไม่ได้ใช้มาตรการใดๆ เพื่อจำกัดการค้าอาวุธเหมือนกับทางฝั่งของสหรัฐฯ เว้นแต่จะถูกบังคับโดยศาลเท่านั้น แม้ว่ารัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ของอังกฤษหลายคนจะบอกว่าอังกฤษให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบด้านการส่งออกอย่างจริงจังก็ตาม ซึ่งโดยปกติแล้วรัฐมนตรีของอังกฤษจะต้องให้อำนาจเป็นการส่วนตัวในการส่งออกอาวุธไปยังซาอุดีอาระเบีย ซึ่งอาจถูกนำไปใช้ในเยเมนได้ โดยรัฐมนตรีกระทรวงการค้าระหว่างประเทศจะรับฟังคำแนะนำจากรัฐมนตรีต่างประเทศ ก่อนที่จะตัดสินใจในขั้นสุดท้าย

 

แฟ้มภาพ: Mohammed Hamoud / Getty Images

 

อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X