×

8 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในวันที่สังคมไทยยังเต็มไปด้วยคำถาม

21.01.2021
  • LOADING...
8 เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ในวันที่สังคมไทยยังเต็มไปด้วยคำถาม

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • เมื่อวัคซีนโควิด-19 เป็น ‘นโยบาย’ ของรัฐบาลที่จะต้องจัดหาให้กับประชาชนอย่างเพียงพอก็ย่อมหนีไม่พ้นการตรวจสอบจากฝ่ายค้านหรือกลุ่มการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นคือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ชี้แจงให้ตรงประเด็น ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการผลิตวัคซีน และสร้างข้อกังวลใหม่ให้กับวัคซีนด้วย
  • ความเร่งรีบในการอนุมัติวัคซีนอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน หากไม่มีการสื่อสารกับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอ
  • ประโยชน์ของการฉีดวัคซีน 3 ข้อคือ ป้องกันการป่วย, เป็นวิธีสร้างภูมิคุ้มกันที่ปลอดภัยกว่าการติดเชื้อจริง และหยุดการระบาดได้ แต่การวิเคราะห์ผลการวิจัยในขณะนี้ส่วนใหญ่วัดผลลัพธ์เป็น ‘ผู้ป่วยที่มีอาการ’ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าวัคซีนป้องกันอาการป่วยรุนแรง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ 

“เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กันไหมครับ”

 

ก่อนจะพูดถึงวัคซีนโควิด-19 ผมขอเท้าความถึงวัคซีนไข้หวัดใหญ่สักเล็กน้อย บางท่านอาจเคยฉีดเพราะเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว จึงได้รับการฉีดฟรี บางท่านไม่เคยฉีดเพราะกลัวติดเชื้อจากวัคซีน (เป็นความเชื่อที่ผิดนะครับ) กลัวเข็มฉีดยา กลัวผลข้างเคียง บางท่านคิดว่าไม่จำเป็นต้องฉีด เพราะวัคซีนป้องกันเฉพาะอาการรุนแรง หรือบางท่านก็ไม่สามารถจ่ายได้ เพราะต้องไปฉีดที่คลินิกหรือโรงพยาบาลเอกชน 

 

จะเห็นว่าลำพังแค่ตัว ‘วัคซีน’ ที่ฉีดกันเป็นประจำทุกปีอย่างวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็มีข้อกังวลมากอยู่แล้ว ทั้งเรื่องความปลอดภัย ประสิทธิภาพ และความเชื่อ แต่เมื่อวัคซีนโควิด-19 เป็น ‘นโยบาย’ ของรัฐบาลที่จะต้องจัดหาให้กับประชาชนอย่างเพียงพอก็ย่อมหนีไม่พ้นการตรวจสอบจากฝ่ายค้านหรือกลุ่มการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นคือนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้ชี้แจงให้ตรงประเด็น ส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการผลิตวัคซีน และสร้างข้อกังวลใหม่ให้กับวัคซีนด้วย

 

ปัจจุบันฝั่งสาธารณสุขก็ยังไม่มีการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเรื่องวัคซีนกับประชาชนเท่าไรนัก ยิ่งมีข่าวในแง่ลบเกี่ยวกับวัคซีนก็ยิ่งสร้างความสับสน เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้อ่านบทความเรื่อง ‘8 Things to know about the U.S. COVID-19 vaccination program’ ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ฉบับวันที่ 5 มกราคม 2564 เห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเรียบเรียงในบริบทของประเทศไทยให้ทุกท่านทราบกันครับ

 

1. ความปลอดภัยของวัคซีนมีความสำคัญสูงสุด
ปัจจุบันองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) อนุมัติการใช้ในกรณีฉุกเฉิน (Emergency Use Authorizations: EUA) ให้กับวัคซีน 2 ยี่ห้อ ได้แก่ Pfizer-BioNTech และ Moderna เมื่อวันที่ 11 และ 18 ธันวาคม 2563 ตามลำดับ ทั้งคู่เป็นวัคซีนชนิด mRNA (สารพันธุกรรมของไวรัสบางส่วนที่สังเคราะห์ขึ้นมา) โดยบริษัทยาจะต้องยื่นข้อมูลประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนจากการวิจัยในระยะที่ 3 ให้คณะกรรมการตรวจสอบก่อนอนุมัติ 

 

ส่วนในประเทศไทย บริษัท AstraZeneca ได้ยื่นขึ้นทะเบียนวัคซีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว คาดว่าจะได้รับการอนุมัติแบบ EUA ภายใน 1 สัปดาห์ (เป็นบริษัทที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ด้วย แต่ครั้งนี้เป็นล็อตที่ผลิตในต่างประเทศ) ส่วนวัคซีน Sinovac ที่รัฐบาลจัดซื้อเร่งด่วนจำนวน 2 ล้านโดสยังรอการขึ้นทะเบียนในประเทศจีนอยู่ แต่คาดว่าจะได้รับการอนุมัติในประเทศไทยภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2564

 

ความเร่งรีบในการอนุมัติวัคซีนนี้อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน หากไม่มีการสื่อสารกับประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์อย่างเพียงพอ

 

ทั้งนี้ วัคซีนที่น่าจะผ่านการอนุมัติเป็นวัคซีนที่ผ่านมาถึงการวิจัยระยะที่ 3 แล้ว ประเด็นด้านความปลอดภัยจะถูกประเมินมาตั้งแต่ระยะที่ 1 ซึ่งเป็นการทดสอบความปลอดภัย และในทุกระยะต่อมา แต่เนื่องจากต้องแข่งกับเวลา ผลการวิเคราะห์ในขณะนี้จึงเป็นการติดตามในระยะสั้น เช่น ระยะที่ 3 ของ Pfizer-BioNTech ติดตามในระยะ 2 เดือน (ยังติดตามต่อไปอีก) และไม่ได้ทดลองวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุน้อยกว่า 16 ปี หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

 

วัคซีนโควิด-19 4 หลอด บนถาดสแตนเลส

 

2. การฉีดวัคซีนป้องกันการป่วยเป็นโควิด-19 แต่ต้องฉีด 2 โดส
ประโยชน์ของการฉีดวัคซีน 3 ข้อคือ ป้องกันการป่วย, เป็นวิธีสร้างภูมิคุ้มกันที่ปลอดภัยกว่าการติดเชื้อจริง (เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่คาดเดาไม่ได้) และหยุดการระบาดได้ แต่จำเป็นต้องฉีดทั้งหมด 2 โดส ห่างกัน 3-4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีนเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม การวิเคราะห์ผลการวิจัยในขณะนี้ส่วนใหญ่วัดผลลัพธ์เป็น ‘ผู้ป่วยที่มีอาการ’ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าวัคซีนป้องกันอาการป่วยรุนแรง แต่ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ 

 

3. กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้วางแผนว่าใครควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน ในเมื่อช่วงแรกจำนวนวัคซีนมีจำกัด
ในสหรัฐอเมริกาแบ่งการกระจายวัคซีนออกเป็น 4 ระยะ โดย CDC และคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวัคซีน (ACIP) เป็นผู้กำหนดแนวทางว่าประชากรกลุ่มใดควรได้รับการฉีดวัคซีนก่อน-หลัง ดังนี้

 

  • ระยะ 1a: บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา 

 

  • ระยะ 1b: ผู้มีอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป และผู้ประกอบอาชีพที่จำเป็น เช่น พนักงานดับเพลิง ตำรวจ เรือนจำ การเกษตร ไปรษณีย์ โรงงาน ร้านขายของชำ ขนส่งสาธารณะ และการศึกษา 

 

  • ระยะ 1c: ผู้มีอายุระหว่าง 65-74 ปี หรือ 16-64 ปีที่มีโรคประจำตัว และผู้ประกอบอาชีพที่จำเป็นอื่นๆ 

 

  • ระยะ 2: ผู้มีอายุมากกว่า 16 ปีที่ยังไม่ได้รับวัคซีนในระยะที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อมีจำนวนวัคซีนเพิ่มขึ้น คำแนะนำก็อาจขยายให้ครอบคลุมประชากรมากขึ้น

 

ส่วนประเทศไทย คณะทำงานของกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายการรับวัคซีนโควิด-19 ไว้ 4 กลุ่ม ได้แก่

 

  • บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า

 

  • บุคคลที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรังระยะ 5 ขึ้นไป โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็งทุกชนิด และโรคเบาหวาน 

 

  • ผู้มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 

 

  • เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโควิด-19 เช่น อสม. ทหาร ตำรวจ

 

ซึ่งมีหลักการที่คล้ายกันคือกลุ่มอาชีพเสี่ยงต่อการติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง ขึ้นอยู่กับอายุหรือโรคประจำตัว โดยจะเริ่มดำเนินการใน 5 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดก่อน

 

4. ถึงแม้ว่าในขณะนี้จะมีจำนวนวัคซีนจำกัด และกำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นในอีกหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนข้างหน้า
สหรัฐอเมริกาให้ความเชื่อมั่นกับประชาชนว่าทุกคนจะสามารถได้รับการฉีดวัคซีนอย่างเร็วที่สุดเท่าที่กำลังการผลิตจะเพียงพอ ส่วนประเทศไทยวางแผนจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากร 50% (33 ล้านคน) ในปี 2564 โดยแบ่งการซื้อวัคซีนออกเป็น 3 ตะกร้า

ตะกร้าใบแรก 20% (26 ล้านโดส) ซื้อจาก AstraZeneca ซึ่งจะได้รับวัคซีนประมาณเดือนมิถุนายน 2564 (สถาบันวัคซีนแห่งชาติชี้แจงว่าวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จะส่งมอบปลายเดือนพฤษภาคม 2564)

 

ขั้นตอนการผลิตวัคซีนของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์

 

ตะกร้าใบที่สอง 20% ซื้อวัคซีนจากโครงการ COVAX (COVID-19 Vaccine Global Access Facility) เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ และใช้กรอบการจัดสรรวัคซีนที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลกเพื่อรับประกันการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ‘อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง’ ซึ่งเท่ากับว่าวัคซีนในแผนการจัดหาเกือบครึ่งหนึ่งเลยทีเดียวที่ยังไม่มีกรอบระยะเวลาการได้รับวัคซีนที่ชัดเจน

 

ตะกร้าใบสุดท้าย 10% จัดหาจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเจรจากับบริษัท Sinovac เพื่อจัดซื้อวัคซีนเร่งด่วน 2 ล้านโดส โดยล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดสจะได้รับภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 นอกจากนี้กระทรวงสาธารณสุขยังเจรจากับบริษัท AstraZeneca เพื่อจัดซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 35 ล้านโดส ซึ่งถึงแม้จะอยู่นอกแผนเดิม แต่จะทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนในตะกร้ารวม 65 ล้านโดสใกล้เคียงเดิม ทว่าผมยังไม่แน่ใจในเหตุผลที่กระทรวงสาธารณสุขจัดหาวัคซีนเพียง 50% ของประชากร

 

 

5. หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนอาจมีผลข้างเคียงบางอย่าง แต่เป็นสัญญาณของการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ผลข้างเคียงของการฉีดวัคซีนตรงบริเวณที่ฉีด เช่น ปวด บวม แดง ส่วนอาการในส่วนอื่นจะคล้ายกับอาการของไข้หวัด เช่น หนาวสั่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ แต่จะดีขึ้นภายในไม่กี่วัน เพราะเป็นสัญญาณการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ส่วนความกังวลว่าการฉีดวัคซีนจะทำให้ติดเชื้อได้หรือไม่ CDC อธิบายว่าวัคซีนไม่ได้ทำจากไวรัสที่มีชีวิต ดังนั้นจึงไม่สามารถติดเชื้อได้ (วัคซีนของ AstraZeneca ใช้ไวรัส Adenovirus ที่ก่อโรคในชิมแปนซีเป็นตัวพา)

 

นอกจากนี้ในสหรัฐอเมริกา CDC ได้จัดทำระบบ V-safe ติดตามผลข้างเคียงหลังจากการฉีดวัคซีนผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่โทรศัพท์ไปสอบถามอาการเพิ่มเติมหากรายงานว่ามีอาการผิดปกติ และเตือนให้ไปรับการฉีดวัคซีนโดสที่ 2

 

6. ราคาไม่ใช่อุปสรรคในการได้รับวัคซีนโควิด-19
กลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการฉีดวัคซีนในปี 2564 ค่อนข้างครอบคลุมกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรง และแผนการกระจายวัคซีนกำหนดให้ทุกสถานบริการของกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ระดับโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัด/อำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (สถานีอนามัย) เป็นสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีน ทำให้ประชาชนในกลุ่มนี้น่าจะไม่มีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย แต่กลุ่มอื่นที่ต้องการฉีดน่าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง และยังไม่มีความชัดเจนว่าโรงพยาบาลเอกชนจะสามารถนำเข้าวัคซีนได้หรือไม่

 

7. วัคซีนแรกได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินแล้ว แต่ยังมีวัคซีนของอีกหลายบริษัทที่อยู่ระหว่างการวิจัย
หากวัคซีนโควิด-19 อื่นได้รับการอนุมัติจาก FDA คณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวัคซีน (ACIP) ก็พร้อมที่จะจัดประชุมทบทวนข้อมูลและให้คำแนะนำการใช้วัคซีนนั้นๆ ในสหรัฐอเมริกา และยืดหยุ่นให้สามารถใช้วัคซีนที่แตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดในแต่ละพื้นที่หรือชุมชน ส่วนประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เคยแถลงว่าพร้อมอำนวยความสะดวก โดยได้เปิดช่องทางพิเศษสำหรับขึ้นทะเบียนวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

 

ส่วนจำนวนชนิดของวัคซีน กระทรวงสาธารณสุขชี้แจงว่าได้หาทางเลือกเจรจาวัคซีนหลายชนิด แต่ไม่เกิน 3 ชนิด เพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนในการขนส่งและการฉีด ซึ่งทั้งหมดผ่านกลไกการพิจารณาอย่างรอบคอบผ่านคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และคณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนเพื่อคนไทย (วัคซีนของ Pfizer-BioNTech และ Moderna ต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิติดลบ จึงไม่เหมาะสมกับการกระจายไปทั่วประเทศ)

 

8. วัคซีนเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญอีกหลายชิ้นในการหยุดการระบาด
ถึงแม้จะเริ่มมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่ทุกคนยังจำเป็นต้องใช้ทุกมาตรการที่มีอยู่เพื่อช่วยหยุดการระบาด ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเมื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่น เว้นระยะห่าง 1-2 เมตรจากผู้อื่น หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และล้างมือบ่อยๆ ในระหว่างที่ยังต้องติดตามประสิทธิภาพของวัคซีนในโลกแห่งความเป็นจริง หรือถ้าพูดแบบประเทศไทยก็คือ ‘ไม่ประมาท การ์ดอย่าตก’ เพราะแม้ว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพ แต่ก็ยังต้องใช้เวลากว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ 60-70% ของทั้งประเทศ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X