หุ้นในกลุ่ม ปตท. ที่มีการจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถือเป็นหุ้นที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ มีน้ำหนักต่อการเคลื่อนของ SET Index ปัจจุบันมีจำนวน 8 บริษัท
ล่าสุดรายงานผลประกอบปี 2566 ออกมาครบแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มีข้อมูลตัวเลขกำไรสุทธิที่ออกมาเติบโตขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยบริษัทแม่คือ บมจ.ปตท. หรือ PTT ที่มีกำไรสุทธิออกมาทะลุระดับ 1 แสนล้านบาท เพราะได้รับแรงหนุนรับรู้กำไรจากการถือหุ้นในบริษัทลูกที่มีกำไรโดดเด่น โดยเฉพาะ บมจ.ปตท.สผ. หรือ PTTEP ปี 2566 มีกำไร 2,208 ล้านดอลลาร์ หรือ 7.67 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2565
ไล่เลียงข้อมูลรายตัวของทั้ง 8 บริษัทในกลุ่ม ปตท. ถึงผลการดำเนินงานปี 2566 มีรายละเอียดดังนี้
- บมจ.ปตท. หรือ PTT ในปี 2566 มีกำไรสุทธิ 1.12 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปี 2565 โดยหลักจากขาดทุนตราสารอนุพันธ์ลดลง ส่วนรายได้จากการขายจำนวน 3.14 ล้านล้านบาท ลดลง 6.6% จากปี 2565 โดยสัดส่วนกำไรส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยแบ่งตามประเภทธุรกิจได้เป็นธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัทลูก บมจ.ปตท.สผ. หรือ PTTEP สัดส่วน 45%, ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น สัดส่วน 9%, ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและบริษัทย่อยอื่นๆ สัดส่วน 17% และกลุ่มธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก 7% ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจน้ำมันและธุรกิจ Non-Oil ขณะที่เป็นกำไรจากการดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจการค้าระหว่างประเทศของ ปตท. เพียง 22%
- บมจ.ปตท.สผ. หรือ PTTEP ปี 2566 จำนวน 2,208 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2565 แม้ว่ารายได้จากการขายลดลง แต่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น โดยหลักจากขาดทุนจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน และขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์มีจำนวนลดลง รวมถึงปีนี้มีกำไรจากการขายสัดส่วนการลงทุนในโครงการเอซี / อาร์แอล 7 (Cash-Maple)
- บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC มีกำไรสุทธิรวม 999 ล้านบาท เติบโต 111% จากปี 2565 แม้ขาดทุนจากการดำเนินงานปกติ แต่มีกำไรทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนและกำไรจากตราสารอนุพันธ์ทางการเงินรวม 790 ล้านบาท นอกจากนี้จากการขายหุ้น GCL ตามที่ได้กล่าวข้างต้น คิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,640 ล้านบาท
- บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์ (OR) ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 1.11 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปี 2565 โดยจาก EBITDA ที่เพิ่มขึ้น 598 ล้านบาทจากปี 2565 จากปริมาณขายน้ำมันที่เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศในภูมิภาค รวมทั้งการกลับมาของภาคท่องเที่ยว ส่งผลให้ปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันอากาศยานเพิ่มขึ้น
- บมจ.ไออาร์พีซี หรือ IRPC ปี 2566 มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 2.92 พันล้านบาท ลดลง 33% จากปี 2565 โดยมีสาเหตุจากราคาขายเฉลี่ยลดลง 22% จากปี 2565 ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง สำหรับธุรกิจปิโตรเลียมมีกำไรขั้นต้นจากการกลั่นราคาตลาด (Market GRM) ที่ลดลงจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบดูไบ
- บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 3.69 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 314% จากปี 2565 มีรายได้ที่ 9.03 หมื่นล้านบาท ลดลง 27% จากปีก่อน สาเหตุหลักจากต้นทุนพลังงานที่ลดลง ทำให้ราคาขายไฟฟ้าและไอน้ำเฉลี่ยลดลง ขณะที่โรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ได้รับคำสั่งหยุดเดินเครื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม-ธันวาคม 2566 จาก กฟผ. ซึ่งทำให้รายได้ค่าพลังงานไฟฟ้า (EP) ลดลงตามแผนการเรียกรับไฟฟ้า แต่โรงไฟฟ้าเก็คโค่-วัน ยังได้รับรายได้ค่าความพร้อมจ่ายจากความพร้อมในการเดินเครื่องตลอดทั้งปี ทำให้กำไรขั้นต้นของ IPP ยังอยู่ในระดับที่ดี
- บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP ปี 2566 มีกำไรสุทธิ 1.94 หมื่นล้านบาท ลดลง 40% จากปี 2565 ส่วนรายได้จากการขายอยู่ที่ 4.59 แสนล้านบาท ลดลง 9% จากปี 2565 โดยในปี 2566 โรงกลั่นไทยออยล์มีอัตราการใช้กำลังการกลั่นเพิ่มขึ้น โดยมีปริมาณจำหน่ายผลิตภัณฑ์โดยรวมใกล้เคียงเดิม ในขณะที่ราคาขายเฉลี่ยที่ปรับลดลงอย่างมากส่งผลให้มีรายได้จากการขาย
- บมจ.โกลบอลกรีนเคมิคอล หรือ GGC ปี 2566 มีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 262 ล้านบาท ลดลง 29% จากปี 2565 มีรายได้จากการขาย 1.77 หมื่นล้านบาท ลดลง 29% จากปี 2565 โดยมี Adjusted EBITDA จำนวน 812 ล้านบาท ลดลง 62% จากปี 2565 ทั้งนี้ บริษัทฯ รับรู้ผลกระทบจาก Stock Loss & NRV จำนวน 341 ล้านบาท
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดประวัติ ‘คงกระพัน อินทรแจ้ง’ ซีอีโอป้ายแดง คนที่ 11 ‘ปตท.’
- PTT – 4Q66 กำไรสุทธิสูงกว่าคาดจากกำไรพิเศษ