สาขาวิชาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบการ 450 ราย ผลสำรวจพบว่าผู้ประกอบการจำนวน 78% หรือจำนวน 350 ราย ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 โดยในจำนวนนี้ 74% มีรายได้ลดลง
ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงสุด 6 อันดับแรกคือ
- ธุรกิจท่องเที่ยว รายได้ลดลง 73%
- ธุรกิจบันเทิง รายได้ลดลง 59%
- ธุรกิจรับจ้าง บริการ รายได้ลดลง 44%
- ธุรกิจการผลิต รายได้ลดลง 42%
- ธุรกิจอาหาร รายได้ลดลง 41%
และ 6. ธุรกิจค้าขายปลีก-ส่ง และธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจเกษตร ขนส่ง ซ่อมอะไหล่ เอเจนซี และนำเข้าสินค้า รายได้ลดลง 38%
ผลกระทบดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อภาคธุรกิจ แบ่งเป็น
70% ของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์
18% ดำเนินการปกติ
6% ลดขนาดธุรกิจ
4% เปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่น และ
อีก 2% เลิกกิจการ
นอกจากนี้ หนึ่งตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ประเทศจีน มีการเติบโตสวนกระแสดังนี้ 1. การศึกษาออนไลน์ 2. ระบบทำงานออนไลน์ 3. ธุรกิจส่งสินค้าอุปโภคบริโภค 4. ธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรม 5G ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การแพทย์/ทำงานทางไกล และการรักษาความปลอดภัย และ 5. ซูเปอร์แอปฯ อย่าง วีแชท (WeChat) บริการหลากหลายที่จบในแพลตฟอร์มเดียว
อย่างไรก็ตาม จากวิกฤตดังกล่าวส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างมาก เกิดพฤติกรรมของผู้บริโภค ‘4 NO’ อันนำไปสู่การตลาดที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป (Never Normal Marketing) ได้แก่ หลีกเลี่ยงการสัมผัส (No Touching) ออกจากบ้านลดลงและซื้อสินค้าออนไลน์ (No Moving) ทำกิจกรรมร่วมกันน้อยลง (No Sharing) และลดค่านิยมการใช้สินค้าฟุ่มเฟือย (No Brand)
จากผลสำรวจดังกล่าวได้นำมาสู่การคิดค้นวัคซีน ‘กลยุทธ์การสร้างภูมิคุ้มกันให้ธุรกิจ’ หรือ VACCINES Strategy กลยุทธ์การตลาดสำหรับผู้ประกอบการไทย ในการบริหารธุรกิจในภาวะวิกฤต หรือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิม ได้แก่
- NE(V)ER NORMAL รอดในโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ทุกธุรกิจต้องพร้อมในการปรับ-เปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ เมื่อมีวิกฤตที่คาดไม่ถึง ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทางตรงและทางอ้อม
- DAT(A) DRIVEN ใช้ดาต้า หาทางรอด ธุรกิจต้องเก็บข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อสร้างคลังข้อมูลสำหรับการบริหารจัดการและต่อยอดธุรกิจ รวมถึงหาทางออกที่ดีที่สุดในการรับมือภาวะวิกฤต
- (C)OLLABORATION รวมกันเราอยู่ การทำพาร์ตเนอร์ชิป มาร์เก็ตติ้ง สร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจที่ดี จะช่วยเสริมความรู้เกี่ยวกับภาคธุรกิจอื่นๆ และคอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน
- (C)ONTENT สื่อสารให้คลิก พลิกด้วยคอนเทนต์ เนื้อหาที่น่าสนใจเพื่อใช้สื่อสารกับผู้บริโภค ถือเป็นหนึ่งในหัวใจหลักของการตลาดที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ เพราะเนื้อหาเหล่านั้นจะช่วยสร้างการรับรู้ และความเข้าใจของผู้บริโภคไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกับดึงดูดความสนใจของผู้บริโภค
- NEW BUS(I)NESS รู้ รับ ปรับท่าใหม่ ทุกธุรกิจต้องพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยการปฏิรูปธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการปรับเปลี่ยนฟีเจอร์ และผลิตภัณฑ์ รวมทั้งปรับปรุงกลยุทธ์ขององค์กร ผ่านการวิเคราะห์องค์กร และสถานการณ์ต่างๆ ดังนี้ วิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจ ศึกษาโอกาสและอุปสรรคในสังคมหรือเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ (SWOT) วางแผนการขยายธุรกิจ (Ansoff’s Matrix) วิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย (Target Analysis) รวมถึงการสร้างคุณค่าให้ธุรกิจผ่านการพัฒนา และสื่อสารความแตกต่างจากธุรกิจอื่นกับผู้บริโภคให้เข้าใจ (Build Value)
- RESILIE(N)CE ยืดหยุ่น พร้อมปรับ ธุรกิจในยุคนี้ต้องมีโครงสร้างองค์กรที่ยืดหยุ่น เช่น โครงสร้างองค์กรแบบแบนราบที่ลดลำดับชั้นในการบริหาร และเพิ่มอิสระในการทำงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเสมอ อีกทั้งมีแผนในการดำเนินงานระยะยาว มีความคล่องตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้สูงขึ้น
- T(E)CH ADOPTION ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินงาน สามารถช่วยให้ธุรกิจขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว และเกิดความยั่งยืนในอนาคตต่อไป
- GROWTH MIND(S)ET เติบโตแบบคิดต่าง ธุรกิจควรมองว่าวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นเหมือนโอกาสให้ธุรกิจได้พัฒนา ผ่านการปฏิรูปการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงการปรับโมเดลธุรกิจ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์