มีเพลงไทยอยู่จำนวนมากจากศิลปินหญิงที่น่าจดจำ และเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายที่พวกเธอซ่อนไว้ภายใต้เสียงร้อง ทำนอง หรือเนื้อหาเหล่านั้น ทั้งการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ การนำเสนอความสวยความงามในแบบของตัวเอง หรือบางเพลงที่แทบจะไม่มีอะไรนอกจากเป็นเพลงรัก แต่ทว่าซ่อนเสียงเพรียกจากก้นบึ้งของความรู้สึกที่พวกเธออยากให้คุณได้เข้าใจเท่านั้นเอง
วันสตรีสากลเวียนมาทั้งที เราอยากชวนคุณไปสำรวจเสียงของผู้หญิงในเพลงไทยทั้ง 7 เพลงนี้ว่ามีความน่าสนใจอย่างไร และพวกเธอกำลังส่งเสียงเรียกร้องอะไรให้ทุกคนได้ยิน นี่เป็นเพียงส่วนเล็กส่วนน้อยเท่านั้นที่เราพอจะนึกออก
ใครมีเพลงไหนแนะนำ ส่งมาให้เราได้ฟังได้ เติมเต็มพลังหญิงกันในวันนี้!
เราจะไม่พูดถึงเพลงนี้ได้อย่างไรกัน เพลงไทยจังหวะสนุกๆ จากเดบิวต์อัลบั้มของ คริสติน่า อากีล่าร์ ที่ชื่อว่า นินจา ในปี 2534 เพลง ประวัติศาสตร์ เล่าเรื่องง่ายๆ ของความเท่าเทียมทางเพศ เพราะถ้าเธอบอกว่าผู้หญิงยังต้องเดินตามหลังผู้ชาย มันโบราณไปไหมคะ! เป็นหนึ่งเพลงไทยที่ไม่มีวันเก่าและยังสามารถนำมาเปิดฟังได้เรื่อยๆ และนับเป็นหนึ่งในมูฟเมนต์สำคัญของวงการเพลงไทยที่หยิบประเด็นนี้มาเล่าอย่างตรงไปตรงมา และปีนี้เพลงนี้มีอายุครบ 30 ปีเต็มแล้วนะ!
Bowkylion คือศิลปินหญิงไทยแห่งยุคคนหนึ่งที่มีทักษะการใช้ภาษาในเพลงอย่างลุ่มลึกน่าสนใจ และเพลงไตเติลแทร็กจากอัลบั้มแรกของเธอที่ชื่อว่า ‘เจ้าป่า’ ก็น่าจะเล่าเรื่องทุกอย่างได้อย่างชัดเจนถึงความนึกคิด ความรู้สึกของผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับชีวิตที่ผ่านมา เพลงนี้เป็นเหมือนคำปลอบใจและส่งพลังให้ผู้ฟังว่าเราอ่อนแอได้ เพราะเราต่างมีความรู้สึก และจงภูมิใจให้กับทุกสิ่งที่เราเผชิญมาเสียเถิด
“ไงครับ น้องใหม่ วันนี้เหนื่อยไหมฮะ”
ถ้าคุณเคยชมเอ็มวีเพลงนี้น่าจะนึกออกถึงซีนเปิดที่เล่าเรื่องความเหนื่อยล้าของ ใหม่ เจริญปุระ ที่เธอต้องพบเจอ ก่อนจะหนีไปทะเลแบบเงียบๆ โทรไปก็ไม่รับสาย!
ดอกไม้กับแจกัน หยิบยกเอาความรู้สึกของดอกไม้บนแจกันมาเปรียบเปรยกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องอยู่ภายใต้ความกดดัน การไม่ได้เป็นตัวเอง หรือการถูกตีกรอบความคิดจนเธอรู้สึกอึดอัด ดอกไม้จึงขอเดินเชิดไปตามทางของตัวเองแบบสวยๆ ยกให้เป็นอีกหนึ่งเพลงผู้หญิงไทยที่นำเสนอความรู้สึกนึกคิดได้อย่างน่าจดจำ
Milli คือหนึ่งในศิลปินหญิงแห่งยุคที่ปล่อยเพลงชื่อว่า ‘สุดปัง’ ขึ้นมาเพื่อสรรเสริญความงามทุกรูปแบบ ส่งพลังให้กับทุกคนที่ล้วนมีความงามในแบบของตัวเอง และอยากให้ทุกคนได้เดินตามเส้นทางที่ตัวเองเชื่อและมั่นใจ ซึ่งไอเดียหลักของเพลงนี้เป็นเรื่องราวของยุคสมัยที่แท้จริง และถูกพูดในเพลงนี้อย่างตรงไปตรงมา ทั้งยังมีไอเดียการเติมแต่งภาษาท้องถิ่นจากทุกภาคเข้าไป เพื่อบ่งบอกว่านี่คือตัวแทนของเสียงที่หลากหลาย และเธอก็สามารถส่งให้เพลงนี้สุดปังได้สมชื่อ!
หนึ่งเพลงที่สั่นสะเทือนวงการดนตรีถึงขนาดที่ ระเบียบรัตน์ พงษ์พานิช อดีต ส.ว. ขอนแก่น ในยุคนั้นต้องยื่นเรื่องถึงสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในปัจจุบันว่าเพลงนี้มีเนื้อหา ‘ยั่วยุและทำลายระบบครอบครัว ส่อไปในทางเสื่อมเสียศีลธรรมจรรยาอันดีงามของไทย มีเนื้อหาหมิ่นเหม่ ส่งเสริมยั่วยุให้ผู้คนในสังคมขาดความยับยั้งชั่งใจ ยั่วยุให้ประพฤติผิดศีลธรรม’ – ขนาดนั้นเชียว!
แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง เพลงนี้คือตัวแทนของผู้หญิงที่ศรัทธาในความรักและปฏิเสธกรอบหรือขนบประเพณีของสังคมอย่างชัดเจนตรงไปตรงมา เป็นตัวแทนความรู้สึกที่มีอยู่จริง และชุดความคิดแบบนี้มักถูกตัดสินว่า ‘ผิด’ ต่อสังคมหรือกลุ่มคนที่เชื่อในเรื่องผัวเดียวเมียเดียว การมีอยู่ของเพลง คนเลวที่รักเธอ นี้ก็นับว่าค่อนข้างท้าทายความเชื่อและสั่นคลอนไอเดียเรื่องความรักของใครหลายๆ คนทีเดียว
นอกเหนือจากลุคผมสั้นแดงกุดสุดเปรี้ยวของ มาช่า วัฒนพานิช ในอัลบั้ม In Love (2005) นี้แล้ว ตัวเพลงที่เธอเปลี่ยนสไตล์มาร้องป๊อปอาร์แอนด์บีก็เข้ากับปากและเสียงของเธออย่างเหลือเชื่อ โดยเฉพาะเพลง ไม่อยากให้เธอไว้ใจ ที่แสดงทัศนะและขับเสน่ห์ความเป็นหญิงของเธอออกมาอย่างชัดเจน พร้อมด้วยเนื้อเพลงเข้มๆ ที่ไม่ต้องตีความให้มากมายว่า ต่อให้ฉันเป็นผู้หญิง ไม่ใช่ว่าฉันจะต้องทนที่ถูกละเลยนะคะ! เพราะฉันสวยและแซ่บมาก อยากให้รู้ไว้!
ใครจะไปคิดว่า นิโคล เทริโอ จะมาทำเพลงดุๆ แบบเพลงนี้ในปี 2001 ทั้งยังบอกอย่างโต้งๆ ว่า ‘ฉันก็สู้คนค่ะ ฉันก็สู้คน’ แสดงให้เห็นถึงพลังหญิงในตัวเพลงแบบตรงไปตรงมา โดยในเนื้อเพลงทั้งหมดคือการพูดถึงความรู้สึก ความไม่ชอบใจ หรือความไม่ถูกต้องบางอย่างที่เธออยากให้ผู้ชายได้รับรู้ไว้ และไม่ใช่ว่าเพศหญิงต้องเป็นคนที่ยอมเสมอไป และที่น่าจดจำมากๆ คือมิวสิกวิดีโอนี้ที่นิโคลยืนหน้ากองไฟ หลบกระสุน ขี่มอเตอร์ไซค์ และยิงปืนใส่เฮลิคอปเตอร์ บ้าไปแล้ว!
แต่ทั้งหมดทั้งมวลก็ไม่น่าสนใจเท่าการใส่คำว่า ‘อิสรภาพ’ หรือคำว่า ‘สิทธิสตรี’ ลงไปในเพลงได้เนียนสนิท
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย