แม้ช่วงปลายปี 2563 จะมีความหวังว่างานวิ่งหลายๆ งานกลับมาจัดได้อีกครั้ง แต่สุดท้ายเราต่างหนีไม่พ้นระลอกใหม่ของไวรัสโควิด-19 อยู่ดี ทำให้ช่วงต้นปีนี้งานวิ่งทยอยเลื่อนกันออกไปหมด สร้างความปั่นป่วนตั้งแต่นักวิ่งเองที่เตรียมตัวมาพร้อมแต่ก็ต้องพบเซอร์ไพรส์ ไปจนถึงผู้จัดงานที่มีเรื่องให้แก้ปัญหากันอย่างต่อเนื่อง แม้แต่แหล่งออกกำลังกาย เช่น สวนสาธารณะหรือสนามกีฬาหลายที่ก็ปิดให้บริการตามไปด้วย นอกจากสภาพร่างกายที่ต้องเตรียมความฟิตให้พร้อมไว้อยู่เสมอ เรายังต้องสู้กับสภาพจิตใจในช่วงเวลานี้ที่ต้องอดทนไปด้วยกัน ดังนั้นทางเลือกที่เราพอจะมีเหลือตอนนี้คือการออกไปวิ่งซิตี้รันละแวกบ้าน นอกจากจะเป็นการหลีกเลี่ยงพบปะผู้คนแล้ว ยังได้สำรวจพื้นที่รอบๆ บ้านของตัวเองไปในตัวอีกด้วย
THE STANDARD POP จึงขอเสนอวิธีการเตรียมตัวออกไปวิ่งซิตี้รันให้สนุก ปลอดภัย และได้ขยับเขยื้อนร่างกายอีกครั้ง ผ่อนคลายความตึงเครียดจากสถานการณ์ไม่ปกติ แล้วจัดระเบียบชีวิตต้อนรับปีใหม่อย่างเข้าอกเข้าใจมากขึ้นกันเถอะ
1. ทำความรู้จักเส้นทาง
หลายคนมองว่าความสนุกของการวิ่งซิตี้รันคือได้ออกไปผจญภัยตามซอกซอยต่างๆ ที่ไม่รู้ว่าจะเจอหมาวิ่งไล่หรืออะไรบ้าง ถือเป็นความท้าทายไปอีกแบบ แต่มันเป็นความคิดที่ผิดนะครับ เพราะนั่นอาจนำมาซึ่งอุบัติเหตุหรืออันตรายโดยไม่รู้ตัว ไม่ใช่แค่ซิตี้รันเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงการวิ่งในสนามด้วยเช่นกัน นักวิ่งควรทำความรู้จักเส้นทางก่อนไปวิ่งเสมอ อย่างน้อยให้พอรู้ว่าระยะทางประมาณเท่าไร สภาพพื้นถนนเป็นอย่างไร มีจุดไหนที่ควรระวัง สามารถเข้าห้องน้ำที่ไหนได้บ้าง ไปจนถึงวิ่งเสร็จแล้วจะกินอะไรต่อ อันนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน
ทริก: ใน Google Maps สามารถตีเส้นทางคร่าวๆ ได้ ให้เรารู้ว่าระยะทางประมาณเท่าไร รวมถึงสามารถเช็กสภาพถนนและทางเท้าตลอดเส้นทางที่ต้องวิ่งผ่านได้อีกด้วย
2. เลือกรองเท้าวิ่งให้เหมาะสม
ปัจจุบันมีรองเท้าวิ่งมากมายหลากหลายแบรนด์ แต่หลายคู่ก็ไม่ได้เหมาะกับการออกมาใช้วิ่งซิตี้รัน เช่น รองเท้าคู่ที่มีพื้นค่อนข้างสูง พื้นเรียวหรือพื้นที่ใต้เท้าค่อนข้างน้อย เพราะยิ่งพื้นสูงหรือพื้นเรียวทำให้ความรู้สึกมั่นคงในการลงน้ำหนักน้อยลงตามไปด้วย อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขาพลิกได้ หรือพื้นยางบางประเภทยึดเกาะถนนบริเวณที่มีน้ำขังได้ไม่ดี มีโอกาสลื่นได้มากกว่าปกติ ฉะนั้นควรเลือกรองเท้าที่ใส่แล้วรู้สึกทะมัดทะแมง เคลื่อนไหวได้คล่องตัว ใส่แล้วไม่ต้องกลัวว่ารองเท้าจะพังก่อน ที่สำคัญหลีกเลี่ยงรองเท้าสีขาว เพราะเราต่างรู้กันดีว่ากับดักบนทางเท้านั้นคืออะไร
ทริก: รองเท้าวิ่งซิตี้รันควรจะมีพื้นหนาๆ แต่ไม่ต้องขนาดใส่แล้วรู้สึกสูงขึ้นมาก โฟมหนามีไว้เพื่อซัพพอร์ตเท้า เพราะพื้นถนนแต่ละที่แข็งไม่เท่ากัน บางคนนำรองเท้าวิ่งเทรลมาใส่วิ่งซิตี้รันด้วย แนะนำให้เลือกคู่ที่เขาเขียนว่า All Terrain แล้วกัน แปลว่าใส่ลุยได้ทุกสภาพพื้น ดอกยางจะได้ไม่สึกไวหน่อย
3. วิ่งด้วยแฮปปี้เพซ
เผื่อใครยังไม่รู้ว่าเพซ (Pace) คือความเร็วในการวิ่งที่คำนวณจากเวลาต่อ 1 กิโลเมตร แล้วแฮปปี้เพซคืออะไร มันคือเพซที่ใช้วิ่งสบายๆ ไม่ใช่ความเร็วที่ใช้วิ่งวันแข่ง การวิ่งซิตี้รันไม่จำเป็นต้องทำเวลาดีที่สุด เพราะจุดมุ่งหมายของซิตี้รันอยู่ที่การเปลี่ยนบรรยากาศออกมาวิ่งนอกสนามบ้าง อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ไม่สามารถทำเวลาดีได้อยู่แล้ว ฉะนั้นวิ่งให้ช้าลงหน่อย เพื่อความปลอดภัยของตัวนักวิ่งเองและคนอื่นด้วย
ทริก: ปกติวิ่งอยู่เพซเท่าไร เวลาวิ่งซิตี้รันให้ลบออกไป 1 เช่น ปกติวิ่งด้วยเพซ 6 เวลาวิ่งซิตี้รันก็ประมาณเพซ 7-8
4. ปักจุดเติมน้ำและเกลือแร่
นักวิ่งบางคนสามารถวิ่งได้เป็นสิบๆ กิโลเมตรโดยไม่ต้องดื่มน้ำ แต่ส่วนใหญ่แล้วการจิบน้ำระหว่างวิ่งนอกจากจะช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำแล้ว ยังเพิ่มกำลังใจเล็กๆ น้อยๆ แก่นักวิ่งด้วย ไม่ว่าจะเป็นน้ำเปล่า น้ำหวานหรือน้ำอัดลมก็ตาม (โดยเฉพาะอย่างหลังนี่ของโปรดผมเลย) บางคนถนัดที่จะถือขวดน้ำเล็กๆ ติดตัวไปจะได้ไม่ต้องแวะซื้อข้างทางบ่อย หรือบางคนชอบวิ่งเสร็จแล้วค่อยดื่มทีเดียวก็ไม่มีปัญหา ถ้าคุณไม่ได้วิ่งไกล แต่สำหรับคนที่ไม่ชอบถืออะไรให้รุงรังเราแนะนำว่าควรเลือกเส้นทางที่ผ่านร้านค้า สามารถเติมเชื้อเพลิงระหว่างทางจะได้ไม่คอแห้งกลับบ้านเหมือนเพิ่งผ่านซาฮารามาอย่างไรอย่างนั้น อย่าลืมพกหน้ากากอนามัยติดตัวไปด้วย สร้างปลอดภัยไว้ก่อนทั้งผู้ซื้อและผู้ชาย
ทริก: ดื่มน้ำสลับกับเกลือแร่ช่วยให้โอกาสเกิดตะคริวน้อยกว่าการดื่มน้ำเพียวๆ
5. อุปกรณ์มีไว้อย่าให้ขาด
แม้การวิ่งซิตี้รันจะไม่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์มากมายเหมือนไปวิ่งเทรล คุณสามารถออกไปวิ่งตัวเปล่าได้เลยโดยไม่ต้องพะวงว่าจะลืมอะไร หรือใครคิดว่าควรมีอะไรติดตัวสักหน่อย (อย่างน้อยก็เป็นพร็อพถ่ายรูปได้) เราขอแนะนำไอเท็มเหล่านี้ ได้แก่ หมวกและแว่นตากันแดดสำหรับนักวิ่งที่ออกไปวิ่งยามเช้าหรือเย็นแต่ยังมีแสงแดดแยงตาอยู่ อุปกรณ์สองสิ่งนี้จะช่วยให้คุณผ่านอุปสรรคของพระอาทิตย์ไปได้อย่างราบรื่น กระเป๋าใส่โทรศัพท์สำหรับใครอยากพกโทรศัพท์ติดตัวไปด้วย มีให้เลือกทั้งแบบคาดเอวหรือรัดต้นแขนเอาตามที่ตัวเองถนัด แต่ถ้าใครอุปกรณ์เยอะจัดจะใส่เป้น้ำไปวิ่งก็ไม่ว่า อุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้อีกอย่างคือนาฬิกา นอกจากจะช่วยบันทึกสถิติเก็บไว้ดูความก้าวหน้าของตัวเองแล้ว บางรุ่นยังสามารถดาวโหลดเส้นทางวิ่งที่เราเตรียมไว้มาดูในนาฬิกาได้อีกด้วย
ทริก: กระเป๋าใส่โทรศัพท์ให้ระวังเรื่องกันน้ำไว้นิดหนึ่ง แม้พนักงานที่ร้านจะบอกว่ากระเป๋ารุ่นนี้กันเหงื่อกันน้ำ แต่เรื่องความชื้นอย่างไรก็เอาไม่อยู่ วิธีป้องกันคือหาถุงซิปล็อกใส่โทรศัพท์ไว้อีกชั้น รับรองปัญหาเรื่องความชื้นจะไม่เข้าถึงตัวเครื่องแน่นอน
6. ไม่ลืมความบันเทิงส่วนตัว
การฟังเพลงหรือพอดแคสต์ไปด้วยขณะวิ่งไม่ได้ช่วยแค่ในเรื่องความบันเทิงเท่านั้น หารู้ไม่ว่าการฟังอะไรสักอย่างจะช่วยให้เราจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นและมีโฟกัสมากขึ้น สิ่งที่ตามมาเมื่อเรามีสมาธิแล้วคือร่างกายทำงานได้ดีขึ้นด้วย เพราะเราไม่ได้ไปพะวงกับการควบคุมร่างกายหรือจังหวะหายใจมากนัก (อันนี้อาจจะแล้วแต่คน เพราะบางคนไม่ชอบฟังอะไรเวลาวิ่ง แต่สำหรับผมตอนวิ่งแล้วฟังพอดแคสต์ไปด้วย รู้สึกว่าเหนื่อยช้าลง) นอกจากนี้การที่ได้ฟังเพลงที่ชอบย่อมมาพร้อมความรู้สึกอิ่มเอมใจและพร้อมที่จะทำอะไรเสมอ จริงไหมล่ะครับ ว่าแล้วก็เปิดเพลงของ อิ้งค์ วรันธร วนไปก่อนเลย
ทริก: ขณะวิ่งซิตี้รันไม่ควรเปิดเพลงเสียงดังมาก เปิดให้พอได้ยินเสียงแตรของรถยนต์หรือเวลามีคนทักเตือนว่า “เชือกรองเท้าหลุดแล้ว” ด้วย ส่วนตัวรู้สึกว่าเพลงของ Moderndog ฟังแล้ววิ่งเพลินดี
7. ไปเป็นแก๊งสนุกกว่า
ความสนุกของการวิ่งซิตี้รันคือการพากันไปเป็นทีม บอกได้เลยว่าสนุกกว่าการไปวิ่งคนเดียวเป็นไหนๆ โดยเฉพาะตอนที่พากันเลี้ยวผิดซอยนี่แหละ หรือจะหาธีมสำหรับการวิ่งในแต่ละครั้ง เช่น วันนี้จะไปวิ่งรีวิวร้านอาหารหรือร้านกาแฟแถวบ้าน อย่างน้อยถ้าการวิ่งยังจูงใจได้ไม่พอ ขอให้อาหารเยียวยาคุณเอง ฉะนั้นจะออกไปวิ่งชมเมืองทั้งทีอย่าลืมชวนมิตรสหายมาร่วมแจมด้วยแล้วความสนุกที่ว่าจะเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าตัว
ทริก: หากหลอกล่อด้วยการวิ่งไม่ได้ ให้ใช้อาหารเป็นจุดขาย วิ่งไปกินตรงโน้นตรงนี้เดี๋ยวก็มีคนหลงตามมาเองแหละ ไหนๆ ไปวิ่งกันหลายคน ช่วยกันดูเวลาข้ามถนนด้วย หลายตาดีกว่าคู่เดียวเสมอ ด้วยความปรารถนาดีจาก THE STANDARD POP
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า