อีกเพียง 2 สัปดาห์ จะผ่านไตรมาสแรกของปี 2564 กันไปแล้ว หากมองย้อนกลับไปตั้งแต่ต้นปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน หมวดดัชนีที่ยังคงให้ผลตอบแทนแย่ที่สุดยังคงหนีไม่พ้นกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์ฯ (PF&REIT) ซึ่งติดลบอยู่ราว 27%
ขณะที่สถานการณ์ตลอด 2 เดือนครึ่งที่ผ่านมา ภาพรวมของกลุ่มยังคงแย่กว่าตลาดค่อนข้างมาก จากดัชนีกลุ่มที่ ‘ติดลบ’ 0.65% ขณะที่ภาพรวมตลาด ‘บวก’ 8.24% และมีเพียงแค่ 1 หมวดอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า คือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ (-23.43%)
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าภาพรวมของ PF&REIT จะแพ้ตลาด แต่หากนับเฉพาะเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผลตอบแทนของ PF&REIT สูงถึง 11.32%
ภาพรวมของกลุ่มกองทุนอสังหาริมทรัพย์ (PF&REIT) ปี 2564 ยังคงติดลบ 0.65% แย่กว่าภาพรวมตลาดที่ฟื้นตัวราว 8% ทำให้ผลตอบแทนของกลุ่ม PF&REIT ยังติดลบ 27% นับจากต้นปี 2563 อย่างไรก็ตาม ยังมีบางกองทุนที่สามารถฟื้นตัวได้ในปีนี้ และมี 7 กองทุนที่ให้ผลตอบแทนเกิน 5%
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ปัจจัยหลักที่หนุนให้หมวด PF&REIT ฟื้นตัวก่อนหน้านี้ เป็นผลจากการคาดหวังต่อการเปิดประเทศ ขณะเดียวกันหุ้นในกลุ่มนี้ถือว่ายัง Laggard อยู่ค่อนข้างมาก ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มหมุนเงินลงทุนมายังหุ้นกลุ่มนี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยฟื้นฐานของหุ้นกลุ่ม PF&REIT มีแนวโน้มว่าจะยังไม่ดีในปีนี้ และไม่น่าจะสร้างรายได้กลับไปเท่ากับระดับก่อนโควิด-19 ได้ทัน ขณะเดียวกันในบางเซกเตอร์ก็ยังคงเผชิญกับปัญหาโอเวอร์ซัพพลาย เช่น กลุ่มอาคารสำนักงาน และกลุ่มคอมมูนิตี้ มอลล์ รวมถึงแรงกดดันจากการลดค่าเช่าให้กับผู้เช่าอีกด้วย
“ในแง่ปัจจัยพื้นฐานต้องยอมรับว่ากลุ่ม PF&REIT ฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มอื่นๆ ค่อนข้างมาก แต่ในระยะสั้น 1-3 เดือน หุ้นกลุ่มนี้อาจจะน่าสนใจ ด้วยราคาหุ้นที่ยัง Laggard และความเสี่ยงที่น้อยกว่าตลาดในช่วงที่มูลค่าหุ้นโดยรวมค่อนข้างตึงตัว แต่การลงทุนในกลุ่มนี้สามารถคาดหวังได้เพียงแค่ ‘ส่วนต่างราคา’ เท่านั้น เพราะระดับเงินปันผลของกลุ่มตอนนี้ยังต่ำกว่าปกติมาก และยังถูกกดดันจากบอนด์ยีลด์ที่เพิ่มขึ้นด้วย”
ทั้งนี้ กลุ่ม PF&REIT จะกลับไปสู่ระดับปกติน่าจะใช้เวลาอีก 1-2 ปี ในเชิงกลยุทธ์จึงแนะนำสลับไปลงทุน PF&REIT ต่างประเทศ ซึ่งมีความน่าสนใจมากกว่า จากการเปิดประเทศที่เร็วกว่า และมีการกระจายลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ เช่น Data Center
ส่วนนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในประเทศ ส่วนตัวมองว่าควรจะหลีกเลี่ยงกลุ่มอาคารสำนักงาน เนื่องจากภาวะโอเวอร์ซัพพลาย ขณะที่แนวโน้มการทำงานจากบ้านที่เพิ่มขึ้น ทำให้ดีมานด์ในอนาคตมีโอกาสลดลงได้อีก
ด้าน พิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองว่า หุ้นในกลุ่ม PF&REIT ที่อาจจะฟื้นตัวได้ก่อนน่าจะเป็นกลุ่มที่อิงกับการเปิดประเทศ คือ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มค้าปลีก แต่โดยภาพรวมแล้วการฟื้นตัวอาจจะไม่เร็วนัก
อย่างไรก็ดี กลุ่ม PF&REIT ยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนระยะยาว โดยเฉพาะนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่ค่อนข้างแน่นอน ซึ่งจะเห็นว่าการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มนี้ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นแรงซื้อจากนักลงทุนสถาบัน เช่น บริษัทประกัน กองทุนระยะยาว ซึ่งเข้ามาซื้อเพื่อล็อกอัตราผลตอบแทนในระดับนี้
“หากมองในมุมของกลยุทธ์การลงทุนโดยรวม กลุ่มรีทอาจจะยังไม่น่าสนใจ และอาจจะถูกกดดันไปอีกสักระยะหนึ่ง แต่สำหรับบางตัวจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวได้เร็ว โดยเฉพาะกลุ่มที่อิงกับการเปิดประเทศ”
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล