ที่ผ่านมา องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. มักเป็นหนึ่งรัฐวิสาหกิจที่ถูกเรียกร้องให้รื้อระบบ โครงสร้าง และปรับปรุงการบริการอยู่เสมอ อย่างล่าสุด กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้ทำการสำรวจเรื่อง ‘รถเมล์แบบไหนถูกใจคนกรุง’ เก็บข้อมูลจากประชาชนที่ใช้บริการรถเมล์ ประชาชนส่วนใหญ่ 46.7% มีความพึงพอใจต่อรถเมล์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนในระดับน้อย รองลงมา 33% พึงพอใจปานกลาง และ 20.3% พึงพอใจมากในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
เมื่อถามถึงภาพลักษณ์ของรถเมล์ที่วิ่งอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร พบว่าส่วนใหญ่ 61% ระบุว่ารอรถเมล์นาน รถไม่พอกับความต้องการ รองลงมา 51.7% ระบุว่ารถมีสภาพเก่า ชำรุดทรุดโทรม และ 41.2% ระบุว่ารถปล่อยควันดำ ส่งผลเสียด้านมลพิษ
สำหรับความคาดหวังว่าอยากได้รถเมล์แบบใดนั้น พบว่าส่วนใหญ่ 61.6% อยากให้รถเมล์มาตรงเวลา ผู้โดยสารไม่ต้องรอนาน จะได้เดินทางรวดเร็วขึ้น รองลงมา 53.1% ระบุว่าอยากให้รถเมล์ใหม่ทุกคัน ทุกสาย เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และ 51.9% ระบุว่าอยากให้ออกรถถี่ขึ้น มีที่นั่งเพียงพอ ไม่ต้องเบียดเสียดแออัดตามรูปแบบการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)
นอกจากนี้ยังมีความต้องการอื่นๆ จากเสียงของผู้ใช้บริการ เช่น 37.6% อยากให้รถโดยสารเป็นรถชานต่ำ เป็นมิตรกับผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และ 26.8% มีความคาดหวังให้ชำระค่าบริการผ่าน E-Ticket แทนการใช้เงินสด เพื่อความสะดวก ลดการสัมผัส และปรับราคาค่าโดยสารแบบเหมาจ่าย 30 บาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพประชาชน
หลังจากมีผลสำรวจออกมา สุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ได้ออกมากล่าวถึงการปรับแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. ที่ได้มีการปรับแผนใหม่ล่าสุด โดยระบุว่า ขสมก. ได้เคยจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเมื่อปี 2562 โดยได้รับความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรี แต่เนื่องจากยังมีโจทย์ที่จะต้องปรับแผนให้รอบคอบ รัดกุม สามารถแก้ปัญหาเรื้อรังทั้งสถานะทางการเงิน สภาพรถเก่า และจำนวนรถโดยสาร การปรับโครงสร้างองค์กร ต้นทุนการดำเนินงานที่สูง และการปรับปรุงระบบเทคโนโลยีด้านไอทีของหน่วยงานให้ทันต่อยุคสมัย โดยล่าสุดได้มีการปรับแผน ได้แก่
- ประชาชนจะได้ใช้รถใหม่ มีบริการที่สะอาด สะดวกสบาย ปลอดภัย ผ่านการตรวจสอบคุณภาพตัวรถ ทั้งระบบคันเร่ง เบรก เป็นอย่างดี และเป็นรถเย็น ติดแอร์ทั้งหมด ทำให้พนักงานขับรถไม่รู้สึกเครียด
- ราคาค่าบริการเหมาจ่ายทั้งวัน 30 บาท สามารถโดยสารกี่เที่ยวก็ได้ไม่จำกัด ทั้งรถของ ขสมก. และรถร่วม ทั้งนี้คนที่ขึ้นเที่ยวเดียวคิดราคาเพียง 15 บาท
- ปัญหาการจราจรลดลง เนื่องจากจะมีจำนวนรถประจำทางลดลงจาก 6,000 คัน เหลือเพียง 2,500 คัน เท่ากับการลดพื้นที่การใช้ถนนลง
- คุณภาพอากาศดีขึ้น โดยเปลี่ยนมาใช้พลังงานไฟฟ้าเอ็นจีวีและไฮบริดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์รูปแบบใหม่ที่จะครอบคลุมทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีเส้นหลัก เส้นรอง และวงกลม ตามโปรแกรมคำนวณจากระบบคอมพิวเตอร์ของกรมการขนส่งทางบก ทำให้รถไม่ต้องวิ่งทับเส้นทางกันเอง
- ระยะเวลารอรถสั้นลง 5-10 นาที โดยการปรับเส้นทางวิ่งระยะสั้น แต่มีความถี่เพิ่มขึ้น
- ประชาชนโดยรวมทั้งประเทศไม่มีภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น เนื่องจากหนี้สินเดิมได้มีการจัดการ
แผนดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) แล้ว และเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในเดือนสิงหาคมนี้
“หากทำตามแผนที่วางไว้ มีการคำนวณว่าจะขอรับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเป็นระยะเวลา 7 ปี ตั้งแต่ปี 2564-2571 และในปี 2572 ขสมก. จะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ไม่เป็นภาระให้ภาครัฐในอนาคต ซึ่งนับเป็นการเตรียมแผนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน” สุระชัยกล่าว
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์