ระหว่างงานประชุมใหญ่ประจำปีของธนาคารโลก (World Bank Group) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ภายใต้ชื่องานว่า Marrakech 2023 World Bank Group – IMF Annual Meetings ระหว่างวันที่ 9-15 ตุลาคม ณ เมืองมาราเกซ ประเทศโมร็อกโก
หนึ่งในเวทีที่ผู้ร่วมงานให้ความสนใจเป็นจำนวนมากคือ Analytical Corner: Seven Lessons from One Hundred Inflation Shocks ซึ่ง Lev Ratnovski, European Department ของ IMF เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทเรียนจากการศึกษาช่วงเวลาที่เงินเฟ้อสูง 100 ครั้งในอดีตที่ผ่านมา
Lev กล่าวว่า จากการศึกษาภาวะ Inflation Shock หรือการที่เงินเฟ้อพุ่งขึ้นกว่า 2% ภายใน 1 ปี จำนวน 100 ครั้ง ใน 56 ประเทศ ตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ผลการศึกษาพบว่า เหตุการณ์ Inflation Shock กว่า 60 ครั้งจะเชื่อมโยงกับวิกฤตราคาน้ำมันพุ่งสูง (Oil Shock)
สำหรับบทเรียน 7 ข้อที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ ได้แก่
- เงินเฟ้อจะค้างอยู่สูงยาวนานกว่าที่คิด
- ปัญหาเงินเฟ้อสูงที่ไม่สามารถแก้ไขได้ส่วนมากแล้วเป็นเพราะสิ่งที่เรียกว่า ‘Premature Celebrations’ หรือการตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วเกินไป
- ประเทศที่แก้ไขปัญหาเงินเฟ้อสูงได้ เลือกใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด
- ประเทศที่แก้ไขปัญหาเงินเฟ้อสูงได้ คงนโยบายการเงินแบบเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง จนกว่าเงินเฟ้อจะลดลงสู่ระดับเป้าหมาย
- ประเทศที่แก้ไขปัญหาเงินเฟ้อสูงได้ พยายามควบคุมให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นไปในทางอ่อนค่า
- ประเทศที่แก้ไขปัญหาเงินเฟ้อสูงได้ มีอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าแรงต่ำกว่า
- ประเทศที่แก้ปัญหาเงินเฟ้อได้มักเผชิญกับการเติบโตต่ำในระยะสั้น แต่จะไม่เกิน 5 ปี
โดยสรุปแล้ว ผู้ศึกษาจาก IMF ย้ำว่า สิ่งที่สำคัญคือการระมัดระวังให้ไม่ผ่อนคลายนโยบายทางการเงินเร็วจนเกินไป และเชื่อว่าการต่อสู้กับเงินเฟ้อสูงจำเป็นจะต้องใช้เวลา เพราะฉะนั้นธนาคารกลางต่างๆ ควรจะยังคงนโยบายการเงินแบบเข้มงวด และระมัดระวังไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Wage-Price Spiral หรือวัฏจักรการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างและราคาสินค้าเป็นวงจรไม่รู้จบ
สำหรับงาน Annual Meetings ที่จะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 ตุลาคมนี้ ทีมงาน THE STANDARD จะอัปเดตข้อมูลที่สำคัญและบรรยากาศงานเป็นประจำทุกวัน ผ่านหลากหลายช่องทางทั้งรายการ Morning Wealth, เว็บไซต์ THE STANDARD WEALTH รวมทั้งโซเชียลมีเดียอื่นๆ ของ THE STANDARD