คำว่า ‘ใกล้และสะดวก’ ที่เป็นจุดแข็งของ 7-Eleven ดูเหมือนว่าจะไม่เพียงพออีกแล้วสำหรับรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคต่อไป เพราะ ริวอิจิ อิซากะ ประธานของ Seven & i Holdings อันเป็นบริษัทแม่ของยักษ์ใหญ่ร้านสะดวกซื้อแห่งแดนซามูไร บอกกับ Nikkei Asia เองว่า “ต้องนำเสนอบางสิ่งบางอย่างที่มากกว่าร้านค้าแบบดั้งเดิมจะจัดหาให้ได้” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านออนไลน์
7-Eleven ครอบครองตลาดร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่น โดยมีร้านมากกว่า 21,000 แห่งทั่วประเทศ สร้างรายได้ 5 ล้านล้านเยน หรือราว 1.45 ล้านล้านบาทต่อปี ทิ้งห่างคู่แข่งอย่าง Lawson ที่มีเพียง 14,444 ร้าน สร้างรายได้ 2.5 ล้านล้านเยน หรือ 7.25 แสนล้านบาท และ FamilyMart ที่มี 16,656 ร้าน สร้างรายได้ 5.17 แสนล้านเยน หรือ 1.5. แสนล้านบาท
สิ่งที่ทำให้ 7-Eleven ประสบความสำเร็จจนทำให้ลูกค้าแวะเวียนมาทุกวันคือการมีสินค้าตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ในพื้นที่ขนาดเล็กกลับอัดแน่นไปด้วยสินค้ามากมายตั้งแต่นิตยสารไปจนถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บะหมี่ถ้วยไปจนถึงเนกไท ATM และเครื่องถ่ายเอกสารที่สามารถออกใบรับรองภาษีหรือเอกสารราชการอื่นๆ จึงทำให้ร้านสะดวกซื้อเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้อีกแล้วสำหรับชาวอาทิตย์อุทัย
ทว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอาจไม่หวนกลับไปสู่สิ่งที่เคยเป็น ทำให้ 7-Eleven พยายามกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งอีกด้านหนึ่งอาจเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจแบบเดิมได้
“สิ่งที่เรากำลังพิจารณาในตอนนี้คือการสร้างระบบ (ซึ่ง) ผู้บริโภคสามารถเลือกสถานที่และวิธีการรับสินค้าที่ซื้อทางออนไลน์” แม่ทัพ 7-Eleven กล่าว พร้อมกับวาดภาพการจัดการแบบรวมศูนย์ของโลจิสติกส์การจัดส่งของธุรกิจในเครือ เพื่อให้เข้าใจได้ดีขึ้นว่ามีคำสั่งซื้อจำนวนเท่าใดในพื้นที่เดียว และในที่สุดก็จะแนะนำการกำหนดราคาแบบไดนามิกที่สามารถเสนอราคาจัดส่งที่ลดลงเมื่อความต้องการต่ำ
เมื่อสั่งซื้อทางออนไลน์ 7-Eleven ได้เตรียมวิธีรับสินค้าให้กับผู้บริโภคถึง 3 ช่องทางด้วยกันคือ จัดส่งถึงบ้าน, รับเองที่ร้าน 7-Eleven และรับจากตู้เก็บของที่ติดตั้งภายนอก ซึ่งกำลังพิจารณาติดตั้งตู้เก็บของให้ใกล้ชิดกับผู้บริโภคมากขึ้น เช่น ในสำนักงาน และอาคารอพาร์ตเมนต์ รวมไปถึงกำลังทดลองติดตั้งในสถานรับเลี้ยงเด็ก
ทว่าความท้าทายยังไม่หมดไป เพราะนักวิเคราะห์จาก Jefferies Japan กล่าวว่าร้านสะดวกซื้อจะประสบความสำเร็จทางออนไลน์ได้ยาก เนื่องจากสิ่งที่ผู้บริโภคซื้อในร้านสะดวกซื้อคือ ‘ของที่คุณคิดไม่ถึงจริงๆ จนกว่าจะซื้อ’ โดยอาหารมีสัดส่วนถึง 70% ของยอดขายใน 7-Eleven และมักถูกบริโภคทันที ซึ่งแตกต่างจากช่องทางอีคอมเมิร์ซที่มักเป็นเรื่องของการซื้อตามแผน
ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตาต่อคือ 7-Eleven จะสามารถฝ่าความท้าทายนี้ไปได้หรือไม่ ท่ามกลางคู่แข่งยักษ์ใหญ่ที่เริ่มขยับไปช่องทางออนไลน์เช่นเดียวกัน
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: