ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคราวที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นพิเศษหนีไม่พ้นเรื่องของ ‘ธนาคารเซเว่น’ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการให้บริการทางการเงินแก่ผู้บริโภคที่ครอบคลุมถึงระดับชุมชนผ่านร้านสะดวกซื้อ เซเว่น อีเลฟเว่น
ล่าสุดแบงก์ชาติออกมายืนยันว่า ไม่มีแบงก์เซเว่นแน่นอน เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะเป็นเรื่องของตัวแทนให้บริการทางการเงิน (Banking Agent) ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (Commercial Bank) อย่างที่เข้าใจ
น่าสังเกตที่ข้อมูลดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกมาก่อนที่เจ้าของเรื่องผู้รับผิดชอบอย่างแบงก์ชาติจะแถลงเสียอีก หากมองข้ามข้อสงสัยเรื่องการชิงจังหวะในการสื่อสารการตลาดแล้ว เรื่องนี้จะสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราอย่างไร?
บริการถึงปากซอย
ก่อนหน้านี้สื่อหลายสำนักรายงานข่าวอ้างอิงผู้บริหารระดับสูงของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติ โดยระบุว่าอนุมัติให้ร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่นเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์ในการรับทำธุรกรรมทางการเงิน ทั้งรับเงิน ฝากเงิน ถอนเงิน ให้ประชาชนได้เข้าถึงการให้บริการได้มากขึ้น และบรรดาธนาคารก็สามารถลดต้นทุนจากการเปิดสาขาลง รวมถึงต้นทุนจากการขนย้ายเงินด้วย โดยการเลือกตัวแทนของธนาคารก็ขึ้นอยู่กับแผนธุรกิจของแต่ละธนาคารเอง
ขณะที่กระทรวงการคลังก็รับลูกเรื่องนี้ สมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลังออกมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว โดยเชื่อว่าแบงก์ชาติจะมีการกำกับดูแลที่ดี รัดกุม ไม่เปิดให้ใครมาทำธุรกิจนี้ได้ง่ายๆ ถ้าไม่พร้อม แบงก์ชาติคงไม่คิดทำ โดยเห็นว่าเรื่องนี้จะเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงระบบการเงินที่ขยายวงกว้างขึ้น
นอกจากนี้ปลัดกระทรวงการคลังยังมองว่า เครือข่ายร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่น อีเลฟเว่นมีความเหมาะสมสำหรับการเป็นตัวแทนธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากที่ผ่านมาเซเว่น อีเลฟเว่น ก็รับชำระค่าบริการต่างๆ อยู่แล้ว ยังบริหารงานโดย CP All ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เชื่อว่าจะมีหลักธรรมาภิบาลที่ดีด้วย
จนเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฤชุกร สิริโยธิน รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาให้ข้อมูลว่า ขณะนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องตัวแทนการให้บริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ โดยชี้แจงว่าไม่ได้เป็นการอนุญาตให้เอกชนมาขอใบอนุญาตทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ใหม่ และยังไม่มีนโยบายให้ใบอนุญาตใหม่กับองค์กรไหนแต่อย่างใด จึงเป็นข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะไม่มี ‘ธนาคารเซเว่น’ ที่ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อย่างที่เข้าใจกัน และขอบเขตการให้บริการของตัวแทนให้บริการนั้นจำกัดพอสมควร
หากแต่แบงก์ชาติได้ปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับช่องทางการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการการเงินได้สะดวกและทั่วถึงมากขึ้นซึ่งธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้เลือกตัวแทนเอง โดยเปิดกว้างให้ได้ทั้งนิติบุคคลและบุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่แบงก์ชาติกำหนด และธนาคารพาณิชย์จะต้องระบบควบคุมและบริหารความเสี่ยงสำหรับธุรกรรมที่ทำผ่านตัวแทนเหล่านี้ด้วย
หากพิจารณาหลักเกณฑ์การแต่งตั้งตัวแทนของสถาบันการเงินของเดิมปี 2553 ของแบงก์ชาติมีรายละเอียดที่สำคัญคือ เป็นนิติบุคคลที่สถาบันการเงินแต่งตั้งเพื่อให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าโดยเป็นตัวแทน 6 ประเภทคือ
- ตัวแทนรับฝากเงิน
- ตัวแทนรับถอนเงิน
- ตัวแทนโอนเงิน
- ตัวแทนรับชำระเงิน
- ตัวแทนจ่ายเงิน
- ตัวแทนในกรณีอื่น
ล่าสุด วันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยแถลงชี้แจงว่า แบงก์ชาติปรับปรุงหลักเกณฑ์เรื่องช่องทางให้บริการของธนาคารพาณิชย์ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น โดยสาระสำคัญของเกณฑ์ฉบับใหม่นี้แบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักคือ
- สาขาของธนาคารพาณิชย์ จะปรับให้ยืดหยุ่นขึ้นทั้งเรื่องธุรกรรม วันเวลาทำการ และการให้บริการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Mobile Banking
- การแต่งตั้งตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ได้อยู่แล้ว เดิมสามารถแต่งตั้งตัวแทนทั้งธนาคารอื่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจและไปรษณีย์ได้ และเกณฑ์ใหม่จะครอบคลุมนิติบุคคลอื่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมด้วย โดยตัวแทนของธนาคารพาณิชย์สามารถให้บริการได้ทั้งการรับฝากเงิน ถอนเงิน โอนเงิน ชำระเงินสำหรับลูกค้ารายย่อย
คุณสมบัติของตัวแทนที่แบงก์จะแต่งตั้งต้องมีสถานที่ให้บริการเป็นหลักแหล่งที่ชัดเจน มีเครื่องมือและระบบการให้บริการรองรับ การปฏิบัติงานที่ปลอดภัย ส่วนแบงก์ต้องรับผิดชอบการให้บริการของตัวแทนเหมือนเป็นผู้ให้บริการเอง ซึ่งตัวแทนเหล่านี้เป็นเพียงผู้ที่ให้บริการแทนในธุรกรรมบางประเภท มิใช่การจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ใหม่ที่มีใบอนุญาต (Banking License) จากแบงก์ชาติแต่อย่างใด
นอกจากนี้แบงก์ที่แต่งตั้งตัวแทนต้องจัดทำแผนกลยุทธ์เกี่ยวกับสาขาและช่องทางให้บริการที่ผ่านการพิจารณา โดยต้องแจ้งให้แบงก์ชาติทราบทุกปี รวมถึงกำหนดให้มีช่องทางทดแทนการให้บริการลูกค้าที่เพียงพอ รวมถึงการดูแลพนักงานที่เหมาะสมด้วย
หากพิจารณาเปรียบเทียบกับธนาคารเซเว่นที่ประเทศญี่ปุ่นแล้ว พบว่าสามารถทำธุรกรรมพื้นฐานอื่นๆ ได้ครบเหมือนธนาคารทั่วไป ทั้งการเปิดบัญชีเงินฝาก การรับโอนเงินจากต่างประเทศผ่าน Western Union ตู้กดเงินสดของธนาคารเซเว่น ไปจนถึงบัญชีรับเงินเดือนผ่านธนาคารเซเว่นด้วย
แม้จะยังไม่มีธนาคารเซเว่นเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย แต่สิ่งที่น่าจับตาคือจำนวนสาขาที่ทาง CP All คาดการณ์ว่าจะขยายเป็น 1 หมื่นสาขาในปี 2561 นี่คือเป็นช่องทางอันทรงพลังที่บรรดาธนาคารต่างต้องการใช้ข้อได้เปรียบที่เข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรงเพื่อการแข่งขันตลาดรายย่อยที่นับวันจะดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ
หาก Mobile Banking ใช้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มลูกค้าชนชั้นกลางและบนที่คุ้นเคยกับเทคโนโลยีอยู่แล้ว การใช้หน้าร้านเซเว่น อีเลฟเว่นแทนบริการจากเคาน์เตอร์ธนาคารที่เคยมีถือเป็นการกินรวบผู้บริโภคในระดับฐานรากที่ทำได้อย่างเบ็ดเสร็จชนิดไร้รอยต่อ
ไม่ใช่เรื่องที่ไกลความจริงเลยที่ตอนนี้หลายธนาคารประกาศลดคน ลดต้นทุนลงถึง 1 ใน 3 และต้องทำให้ได้ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีต่อจากนี้
คำถามคือ พนักงานสาขาที่ปิดตัวจะไปอยู่ที่ไหน และเซเว่น อีเลฟเว่นจะเป็นผู้เล่นเพียงรายเดียวของตลาดตัวแทนให้บริการนี้หรือไม่?
อ้างอิง:
- www.msn.com/th-th/news/finance/%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%B4%E0%B8%94%E0%B8%8A%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%81%E0%B8%97%E0%B8%99%E0%B8%98%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%B2%E0%B8%A3/ar-BBJ1mDU?li=BBr8Hnw
- www.bot.or.th/Thai/fipcs/Documents/FPG/2553/ThaiPDF/25530235.pdf