เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 นพ.ธนิศ เสริมแก้ว นายแพทย์สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตที่ต้องสังสัยว่าเป็นโรคพิษสุนัขบ้า 1 ราย เป็นชายอายุ 39 ปี อยู่ในพื้นที่ อ.บางแก้ว จ.พัทลุง เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพัทลุงเมื่อวันที่ 23 มีนาคม
โดยมีอาการคอแข็ง กลืนลำบาก กลัวลม ซึ่งเป็นอาการที่เข้าได้กับอาการของโรคพิษสุนัขบ้า อีกทั้งยังมีประวัติว่าถูกลูกสุนัขที่เลี้ยงไว้ข่วนเมื่อประมาณ 1 เดือนเศษ แต่ไม่ได้มารับวัคซีน
ทั้งนี้หลังผู้ป่วยเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้วก็ได้ให้วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ระหว่างการรักษาอาการทรุด หายใจลำบาก และเสียชีวิตในวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลจึงได้เก็บเนื้อสมองส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
โดยขณะนี้โรงพยาบาลมีการติดตามญาติ และเพื่อนของผู้เสียชีวิตที่อาจจะมีการสัมผัสโรคประมาณ 20 คน เพื่อมารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งมีบางส่วนได้รับไปแล้ว บางส่วนยังไม่ได้รับก็พยายามตามให้ครบ ส่วนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีการสัมผัสโรคกว่า 30 คนนั้นได้รับวัคซีนครบแล้ว
ขณะที่รายงานข่าวจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่าจากการตรวจสอบตัวอย่างเนื้อสมองของผู้เสียชีวิตพบว่า เกิดจากเชื้อพิษสุนัขบ้าจริง
สถิติผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-27 มีนาคม รวม 7 ราย จากจังหวัดสุรินทร์ ตรัง สงขลา นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ บุรีรัมย์ และล่าสุดที่พัทลุง
ทั้งนี้ไม่นับรวมกรณีเด็กชาวเมียนมาที่ถูกกัดจากประเทศเมียนมาก่อนเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลพบพระ จังหวัดตาก และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ดังนั้นช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้ว 7 ราย ขณะที่ปี 2560 ตลอดทั้งปีมีผู้เสียชีวิต 11 ราย
สำหรับสาเหตุที่โรคพิษสุนัขบ้าระบาดหนักในปีนี้ กรมปศุสัตว์ยอมรับว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาการประมูลจัดซื้อวัคซีนฉีดหมา-แมวที่ไม่สามารถทำได้ตั้งแต่ปี 2559-2560 เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สั่งระงับและให้มีการตรวจสอบงบประมาณ
โดยเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2561 นายสัตวแพทย์จีระศักดิ์ พิพัฒนพงศ์โสภณ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ ยอมรับว่า การประมูลที่ถูกยกเลิกและไม่สามารถจัดซื้อได้ เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ขณะนี้วัคซีนไม่เพียงพอ โดยในปี 2560 มีการฉีดวัคซีนให้หมา-แมว จำนวน 3 ล้านตัวเท่านั้น ขณะที่ปี 2559 ไม่มีข้อมูลตัวเลขยืนยัน
ขณะที่ คณิตา ราษฎร์นุ้ย ผอ. กองพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ยอมรับว่ามีรายงานการทุจริตจริงในท้องถิ่น แต่ไม่ใช่ อปท. ทั้งประเทศ จึงต้องขอตรวจสอบอีกครั้ง และขอยืนยันว่าใช้ระบบการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบราชการ