×

7 วันแรกปลดล็อกกัญชาเสรีแบบไม่มีอะไรกั้น สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปมีอะไรบ้าง

16.06.2022
  • LOADING...
ชนาธิป ไชยเหล็ก

7 วันแรกของการปลดล็อกกัญชาออกจากยาเสพติด มีความคึกคักจากทั้งฝั่งการเมืองและสาธารณสุขที่ขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์มาตลอด 3 ปี ฝั่งประชาชนที่ปลูกกัญชาจนขึ้นชื่อว่าเป็นพืชที่โตเร็วมาก เพียงวันแรกกัญชาก็โตเต็มที่และออกดอกพร้อมนำไปใช้ประโยชน์ต่างๆ แล้ว และฝั่งที่กังวลผลกระทบจากภาวะสุญญากาศทางกฎหมายที่เปิดช่องให้การใช้กัญชาเสรียิ่งกว่าประเทศที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเสียอีก

 

ในช่วงแรกของการปลดล็อกกัญชามีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้าง นโยบายกัญชาทางการแพทย์จะ ‘ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา’ เหมือนเพลงเก่าหรือไม่ และสิ่งที่ต้องจับตาต่อไปมีอะไรบ้าง

 

นับตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา ‘ทุกส่วน’ ของต้นกัญชา เช่น ใบ ช่อดอก รวมถึงสารสกัดจากกัญชาที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2% ไม่จัดเป็นยาเสพติดตามกฎหมายอีกต่อไป ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชาและนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือนได้อย่างเสรี รวมถึงการขายกัญชาสด/แห้งด้วย ส่วนการแปรรูปเป็นอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารและยาเพื่อจำหน่าย ยังต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่

 

ทั้งนี้ กฎหมายที่กำกับการใช้กัญชา เช่น การจำกัดอายุในการซื้อขายกัญชา ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา โดยเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2565 ก่อนหน้าการปลดล็อกกัญชาเพียง 1 วัน ส.ส. ประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่เสนอโดยพรรคภูมิใจไทย และร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์กัญชา กัญชง ที่เสนอโดยพรรคพลังประชารัฐ มีมติรับหลักการ 373 เสียง แต่เป็นเพียงวาระแรกเท่านั้น ยังต้องมีการปรับปรุงแก้ไขและผ่านอีกหลายขั้นตอนถึงจะมีผลบังคับ

 

ฝั่งการเมือง

 

ในทางการเมือง ‘นโยบายกัญชาทางการแพทย์’ ถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญของ อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และทุกคนไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้จะกล่าวถึงเขาไปอีกนาน เพราะพรรคภูมิใจไทยเสนอนโยบาย ‘กัญชาไทยปลูกได้เสรี’ แก้ พ.ร.บ.ยาเสพติด กัญชาเพื่อการแพทย์ พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ สร้างความร่ำรวยให้คนไทยมาตั้งแต่ช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

 

อนุทินกล่าวในงาน ‘มหกรรม 360 องศา ปลดล็อกกัญชา ประชาชนได้ประโยชน์อะไร’ ที่ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ซึ่งถือเป็นงานฉลองความสำเร็จในครั้งนี้ว่า “ขอขอบคุณพี่น้องชาวบุรีรัมย์ที่ทำให้นโยบายกัญชาของพรรคภูมิใจไทยประสบความสำเร็จ กัญชาเสรีเริ่มที่บุรีรัมย์แห่งนี้ครับ… ภูมิใจไทยปลดล็อกกัญชา พูดแล้วทำครับ” วลีสุดท้ายนี้ตรงกับข้อความบนป้ายฉากหลังของเวทีกลางสนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิตว่า ‘พูดแล้วทำ ปลดล็อกกัญชา’

 

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2565 กระทรวงสาธารณสุขได้จัดกิจกรรม ‘เดินหน้า… กัญชาเสรี แก้เจ็บแก้จน’ ที่ กทม. อนุทินได้ปาฐกถาพิเศษยืนยันว่าการปลดล็อกกัญชามุ่งใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ ซึ่งอธิบายด้วยคำจำกัดความอยู่แล้วว่าไม่มีเสรีกัญชาเพื่อสันทนาการ การสูบ และการเสพ ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นปัญหาของการใช้ในขณะนี้คือการเสพและการใช้เกินจากระดับที่ปลอดภัย ซึ่งกัญชาไม่ต่างกับพืชหรือยาอื่นๆ ที่ต้องมีการใช้อย่างเหมาะสม

 

ส่วนฝั่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 ก่อนการปลดล็อกกัญชาได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชง’ 30 คน เช่น รมว.กระทรวงสาธารณสุข รมว.กระทรวงยุติกรรม ปลัดกระทรวง คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิริราชพยาบาล และโรงพยาบาลรามาธิบดี นายกแพทยสภา นายกสภาการแพทย์แผนไทย นายกสภาเภสัชกรรม และผู้แทนภาคประชาชน

 

คณะกรรมการดังกล่าวประชุมครั้งแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2565 โดยมีอนุทินเป็นประธานการประชุม และมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 6 คณะ ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการด้านการแพทย์และการบำบัดรักษา ด้านการให้ความรู้แก่เยาวชนและประชาชน ด้านการผลิตทางเกษตรกรรม ด้านการป้องกันการลักลอบนำเข้า การผลิตที่ผิดกฎหมาย ด้านกฎหมาย และด้านการสื่อสารประชาสัมพันธ์ เพื่อวางมาตรการกำกับการใช้ประโยชน์จากกัญชาจนกว่า พ.ร.บ.กัญชา กัญชง จะมีผลบังคับ

 

ด้านกฎหมายยังมีกรณีนักโทษและผู้ต้องขังคดีกัญชา เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมชี้แจงว่า มีผู้ต้องขังคดีกัญชา 4,075 ราย แบ่งเป็นมีความผิดเกี่ยวกับกัญชาเพียงคดีเดียว 3,071 ราย และมีความผิดฐานอื่นด้วย 1,004 ราย โดยนักโทษเด็ดขาดและผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีเกี่ยวกับกัญชาคดีเดียว ศาลจะปล่อยตัวและพิพากษายกฟ้อง ส่วนที่มีฐานความผิดอื่นด้วยจะไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่ศาลแก้ไขยกเลิกโทษที่เกี่ยวกับคดีกัญชาให้

 

ฝั่งสาธารณสุข

 

กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงที่รับบทหนักที่สุดในการขับเคลื่อนนโยบายกัญชาทางการแพทย์ เพราะเดิมรับผิดชอบกัญชาในฐานะ ‘ยาเสพติด’ ทั้งควบคุมการใช้และบำบัดรักษาผู้ที่ใช้เกินขนาดหรือเสพติดกัญชา มารับผิดชอบการใช้กัญชาในฐานะ ‘ยา’ ตามนโยบายกัญชาทางการแพทย์ของฝั่งการเมืองเพิ่มเติมด้วย ทำให้เห็นบทบาทผู้บริหารส่งเสริมประโยชน์ ในขณะที่ผู้ปฏิบัติงานตักเตือนโทษของกัญชา ขณะเดียวกันผู้บริหารก็บังคับใช้กฎหมายเท่าที่มีในมือมาคุ้มครองสุขภาพของประชาชนด้วย

 

การนำกัญชามาประกอบอาหารจำหน่าย มีกฎหมายที่สำคัญ 2 กลุ่ม คือ

  • อาหารที่จำหน่ายในร้าน เช่น ก๋วยเตี๋ยวใส่ใบกัญชา เครื่องดื่มที่จำหน่ายเป็นแก้ว ต้องปฏิบัติตามประกาศกรมอนามัย เรื่อง การนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร พ.ศ. 2565 (ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535)
  • ‘ผลิตภัณฑ์อาหาร’ ที่บรรจุในภาชนะพร้อมจำหน่าย เช่น คุกกี้ใบกัญชาที่บรรจุในซอง เครื่องดื่มที่บรรจุในขวด ต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 424 เรื่อง กำหนดอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย และฉบับที่ 427 เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง (ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522)

 

โดยประกาศของกรมอนามัยกำหนดมาตรฐานเฉพาะอาหารที่นำ ‘ใบกัญชา’ มาใช้ในการประกอบอาหารเท่านั้น ในขณะที่ประกาศฉบับที่ 424 ห้ามใช้ช่อดอกและเมล็ดกัญชามาใช้ผลิตอาหาร และประกาศฉบับที่ 427 กำหนดปริมาณสาร THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ และ CBD ไม่เกิน 1.41 มิลลิกรัมต่อหน่วยบรรจุ พร้อมติดฉลากเตือน ‘เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน’ และ ‘ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 หน่วยบรรจุ’

 

ส่วนการสูบกัญชา กรมอนามัยต้องใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข มาป้องปรามแทน โดยราชกิจจานุเบกษาเพิ่งเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กลิ่น ควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565 เมื่อ 14 มิถุนายน 2565 และมีผลบังคับในวันถัดมา กำหนดให้การกระทำให้เกิดกลิ่นหรือควันกัญชาจนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัยบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นเป็น ‘เหตุรำคาญ’ ซึ่งต่างจากการสูบบุหรี่ที่มีกฎหมายเฉพาะ

 

ฝั่งที่กังวลผลกระทบ

 

ก่อนและหลังที่ประกาศปลดล็อกกัญชาจะมีผลบังคับใช้ องค์กรแพทย์และนักวิชาการต่างออกมาแสดงความกังวลถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปิดเสรีกัญชา โดยเฉพาะในช่วงที่ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณากฎหมาย ได้แก่ สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย (6 มิถุนายน 2565) ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย (8 มิถุนายน 2565) ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย (11 มิถุนายน 2565) เครือข่ายนักวิชาการและภาคประชาชนต้านภัยยาเสพติด (14 มิถุนายน 2565)

 

ประเด็นหลักคือไม่มีการห้ามจำหน่ายกัญชาแก่ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะเป็นกลุ่มเปราะบางทั้งในแง่พัฒนาการของสมองและยังไม่บรรลุนิติภาวะ (ตัวเลขอายุยังไม่ตรงกัน โดยประกาศกรมอนามัยกำหนดการแสดงคำเตือนว่าเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ไม่ควรรับประทาน) ซึ่งถ้าขยายประเด็นออกมาคือการควบคุมกัญชาตลอดกระบวนการผลิต ขาย และบริโภค โดยอาจแยกระหว่างการใช้กัญชาในครัวเรือน ในทางการแพทย์ ในเชิงพาณิชย์ และในทางนันทนาการ

 

ยกตัวอย่างราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ เสนอให้มีมาตรการควบคุม การผลิต และขายอาหารหรือผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาผสม และให้มีเครื่องหมายหรือข้อความเตือนอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยระบุ ‘ห้ามเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริโภค’ และควรควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์ ควบคุมไม่ให้มีการจงใจออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เช่น ภาพการ์ตูน หรือใช้คำพูดสื่อไปในทางให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นอาหารหรือขนมที่เด็กและวัยรุ่นบริโภคได้

 

เพราะถึงแม้กัญชาจะไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษแล้ว แต่กัญชามีสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ส่งผลต่อสุขภาพกายและจิตใจในระยะเฉียบพลัน อาจรุนแรงถึงกับชีวิต เสี่ยงต่อการเสพติดและใช้สารเสพติดชนิดอื่นๆ อีกทั้งหากขับขี่ยานพาหนะหรือใช้เครื่องจักรหลังบริโภคกัญชาอาจเกิดผลเสียต่อผู้อื่นได้ และข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติดพบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี มีการใช้กัญชาแบบสูบเพิ่มมากขึ้น ส่วนการกิน การดื่มพบเพิ่มทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะวัยกลางคน

 

ฝั่ง กทม.

 

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2565 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักการแพทย์ว่า พบผู้ป่วยจากการเสพกัญชาเกินขนาด 4 ราย และในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย เป็นชายอายุ 51 ปี มีอาการแน่นหน้าอกหลังเสพกัญชา รักษาตัวที่โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ อีก 2 ราย เป็นชายอายุ 17 ปี และ 25 ปี มีอาการใจสั่น รักษาตัวที่โรงพยาบาลตากสิน และอีก 1 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจและรักษาตัวในห้องไอซียู โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายกัญชาในแง่ลบ

 

วันเดียวกัน อนุทินตอบผู้สื่อข่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นการเสียชีวิตที่มาจากการใช้ ‘โอเวอร์โดส’ หรือเกินขนาด เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด ตรงนี้ก็ต้องสื่อสารให้ชัด และตามธรรมชาติทุกอย่างถ้าใช้มากไปมันไม่ดี ตอนลงมติรับร่าง พ.ร.บ.กัญชา เสียงในสภาเห็นด้วยเกือบหมด มีรายชื่อครบ มีทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ล่าสุดไปงานที่จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ประกอบการมาเปิดบูธนับ 100 บูธ มีผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพมากมาย เป็นรายได้ เป็นทางเลือกด้านสุขภาพของประชาชน ตรงนี้เรื่องที่เป็นประโยชน์ก็ต้องไปสอบถามบ้าง

 

ต่อมาวันที่ 15 มิถุนายน 2565 อนุทินให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่า ได้ทำความเข้าใจกับชัชชาติแล้ว โดยมีผู้ประสานให้ต่อสายคุยกัน และมีข่าวว่าไม่ได้เสียชีวิตจากกัญชา ส่วนชัชชาติชี้แจงเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวต้องรอผลที่ชัดเจนอีกครั้งว่าเสียชีวิตจากโรคประจำตัวหรือสาเหตุใด เพราะรายงานเบื้องต้นพบว่ามีการสูบกัญชาร่วมด้วย และเนื่องจาก กทม. เป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ได้ขัดข้องกับนโยบายของรัฐบาล แต่ได้สั่งให้โรงพยาบาลสังกัด กทม. เฝ้าระวัง เพื่อส่งให้กระทรวงสาธารณสุข

 

ล่าสุดค่ำวานนี้ (15 มิถุนายน) กทม. ออกมาตรการการเฝ้าระวังปัญหาที่เกิดจากการใช้กัญชาหรือกัญชงในนักเรียนโรงเรียนสังกัด กทม. จำนวน 9 ข้อ ซึ่งมีสาระสำคัญคือให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ ‘ปลอดกัญชาหรือกัญชง’ งดจำหน่ายและห้ามโฆษณาอาหาร ขนม และเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชาหรือกัญชง ครูปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างและดูแลนักเรียนไม่ให้มีการบริโภคกัญชาหรือกัญชง ให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงการเฝ้าระวังการจำหน่ายอาหาร ขนม และเครื่องดื่มในร้านค้ารอบโรงเรียนด้วย

 

ประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป

 

‘ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา’ เป็นท่อนฮุกของเพลงเก่าเมื่อ 30-40 ปีก่อน แต่อาจทันสมัยกับนโยบายกัญชาในปัจจุบัน เพราะการปลดล็อกกัญชาที่ผ่านมาขึ้นต้นด้วยกัญชาทางการแพทย์ อย. ควบคุมการปลูกและมาตรฐานยาที่ผลิต กรมการแพทย์กำหนดข้อบ่งใช้สารสกัดกัญชา และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกพัฒนาตำรับยากัญชาแผนไทย แต่พอเหลาลงไปกลับทำให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาได้ง่ายและสามารถใช้กัญชาได้ค่อนข้างเสรี 

 

กัญชามีประโยชน์ แต่ไม่ใช่สารพัดประโยชน์ ปัจจุบันตามแนวทางของกรมการแพทย์แนะนำให้ผลิตภัณฑ์กัญชาใน 6 โรค ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด โรคลมชักที่รักษายากและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ภาวะปวดประสาท ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีน้ำหนักตัวน้อย และการเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ส่วนประโยชน์อื่นยังต้องมีการศึกษาวิจัย และกัญชายังมีโทษต่อผู้ใช้

 

ในขณะที่กฎหมายควบคุมการใช้กัญชายังไม่มีความพร้อม บางส่วนเพิ่งออกตามหลังมาจากวันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มีผลบังคับใช้ ทั้งที่มีเวลาเตรียมความพร้อมก่อนหน้านั้น ต่อจากนี้จึงต้องติดตามการพิจารณา พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ในวาระที่ 2-3 และระหว่างนี้คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชงของนายกฯ หรือกระทรวงสาธารณสุขจะออกมาตรการอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้ประชาชนใช้กัญชาอย่างเหมาะสม

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการห้ามขับขี่ยานพาหนะหลังเสพกัญชา ถึงแม้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 จะห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถในขณะเมาสุราหรือของมึนเมาอย่างอื่น แต่ปัจจุบันยังไม่มีระเบียบข้อกำหนดรองรับว่าปริมาณสาร THC ในเลือดเกินกว่าเท่าไรจะถือว่าเมากัญชาเหมือนกรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นจึงได้แต่หวังว่าภาครัฐจะรับผิดชอบความปลอดภัยของประชาชน โดยเร่งออกมาตรการและกฎหมายอย่างรัดกุม และร่วมกับทุกภาคส่วนสร้างความรอบรู้เกี่ยวกับกัญชาแก่ประชาชน

 

อ้างอิง:

  • กัญชา กัญชง : ระดม อสม. ทั่วบุรีรัมย์ ฟังอนุทินปราศรัยในงานนิทรรศการกัญชา ชวนฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น: https://www.bbc.com/thai/61758948 
  • “อนุทิน” รับมอบตำรับยากัญชาหมอพื้นบ้านเป็นตำรับยาแผนไทยของชาติ ยันรับฟังทุกฝ่าย เพื่อให้ กม. ออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด: https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/175179/ 
  • รองนายกฯ “อนุทิน” นั่งหัวโต๊ะถกบอร์ดบูรณาการนโยบายพืชกัญชาและกัญชงนัดแรก ตั้งอนุฯ 6 ชุดดันภารกิจตามเป้าหมาย: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/55549 
  • รมว.ยุติธรรมสั่งกรมราชทัณฑ์ปล่อยตัวนักโทษคดีกัญชา หลังปลดล็อกกัญชามีผล 9 มิ.ย. นี้: https://www.hfocus.org/content/2022/06/25260 
  • กรมอนามัย ห่วงความปลอดภัยผู้บริโภค ได้ออกประกาศกรมอนามัยว่าด้วยเรื่องการนำใบกัญชามาใช้ในการทำ ประกอบ หรือปรุงอาหาร ในสถานประกอบกิจการอาหาร: https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/130665/ 
  • กรมอนามัย เผย ราชกิจจาฯ ประกาศให้ ‘ประกาศ สธ. เรื่อง กลิ่น ควันกัญชา กัญชง หรือพืชอื่นใด เป็นเหตุรำคาญ พ.ศ. 2565’ มีผลบังคับใช้เริ่ม 15 มิ.ย. 65: https://multimedia.anamai.moph.go.th/news/150665-01/ 
  • เครือข่ายนักวิชาการฯ เสนอ 4 ข้อเสนอคุมกัญชาในภาวะสุญญากาศทาง กม.: https://siamrath.co.th/n/356662 
  • นักวิชาการ-อัยการ กะเทาะจุดอ่อน “ร่าง พ.ร.บ.กัญชา” ฉบับพรรคภูมิใจไทย: https://www.bangkokbiznews.com/social/1003133 
  • “อนุทิน” ตอบปมเสียชีวิตจากกัญชา เพราะใช้เกินขนาด “โอเวอร์โดส” ขอสังคมเข้าใจ ด้านบวกก็มี: https://www.hfocus.org/content/2022/06/25298 
  • “อนุทิน” คุย “ชัชชาติ” เคลียร์เคสเสียชีวิตไม่ใช่เสพกัญชา! พร้อมกำชับ รพ. เฝ้าระวังหากมาจากทางการแพทย์: https://www.hfocus.org/content/2022/06/25306 
  • คำแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์: https://mnfda.fda.moph.go.th/narcotic/wp-content/uploads/2021/04/Guidance-Updated-v-update-V.4260464.pdf 
  • ตำรวจเร่งศึกษาหาข้อมูลมีปริมาณสาร THC ในเลือดเท่าไรจึงจะถือว่าเมากัญชา: https://www.thairath.co.th/news/crime/2417217
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising