ความร้อนแรงของการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เกิดข้อถกเถียงวงกว้างถึงการรุกคืบชิงส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ของผู้ประกอบการจีน อาจสร้างความน่ากังวลต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมากขึ้น หนึ่งในปัจจัยที่ว่านั้นคือความพร้อมการพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีในไทย ภายใต้ตลาดรถยนต์ของไทยที่ปรับแย่ลง ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมีโอกาสสูงที่จะนำไปสู่การปิดโรงงานผลิตรถยนต์ของบางรายที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ในสมรภูมิใหม่
ทว่าล่าสุด BOI ดึง 7 ค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากจีนโชว์แผนจัดซื้อชิ้นส่วนในประเทศ ยกระดับผู้ประกอบการไทย เข้าสู่ซัพพลายเชนยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก โดยบรรดา CEO ค่ายรถ EV จีนย้ำว่านี่คือโอกาสระยะยาวที่จะใช้ชิ้นส่วนในประเทศถึงร้อยละ 90 สร้างฐานผลิตเพื่อส่งออกสู่ตลาดโลก
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดเผยว่า 7 ค่ายรถยนต์ชั้นนำของจีน ได้แก่ BYD, MG, Great Wall Motor, NETA, CHANGAN, GAC Aion และ OMODA & JAECOO ได้มาร่วมแสดงวิสัยทัศน์การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
“ปัจจุบันผู้ผลิตรถยนต์จากจีนที่ได้เริ่มผลิต EV ในประเทศไทยแล้วมี 3 ราย ได้แก่ Great Wall Motor, NETA และ MG ส่วน BYD และ GAC Aion มีแผนเริ่มผลิตในช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ และ CHANGAN จะเริ่มผลิตในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศทยอยเพิ่มสูงขึ้น ยกระดับซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้เข้มแข็ง เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
อัดเม็ดเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท ให้สิทธิประโยชน์ EV ทุกเซ็กเมนต์
นฤตม์กล่าวอีกว่า BOI ได้ให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าทุกเซ็กเมนต์ และชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ ที่ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด 17 ชิ้น รวมทั้งแบตเตอรี่และสถานีชาร์จ
“โดยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมเงินลงทุนกว่า 80,000 ล้านบาท มีโครงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่ (BEV) 18 โครงการ เงินลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท มีกำลังการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารวม 400,000 คัน”
GAC Aion, BYD และ CHANGAN ยึดไทยฮับอาเซียน
Ma Haiyang ผู้จัดการทั่วไปด้านธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท GAC Aion New Energy Automobile หรือ GAC Aion กล่าวว่า บริษัทมุ่งมั่นพัฒนาห่วงโซ่การผลิตในประเทศไทยให้แข็งแกร่ง และต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งจะมีการลงทุนในส่วนโรงงานผลิต รวมทั้งจัดจำหน่ายในไทยและต่างประเทศ โดยจะร่วมมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน
ด้าน Yubin Ke ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปี 2023 BYD เป็นผู้ผลิตรถยนต์พลังงานใหม่ยอดขายอันดับ 1 ของโลก และมียอดขายสะสมทั่วโลกกว่า 7 ล้านคันในเดือนมีนาคม 2024
ปัจจุบันโรงงาน BYD เตรียมใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่าร้อยละ 40 จากผู้ผลิตชิ้นส่วนหลายรายในประเทศไทย และมีแผนการจัดซื้อเพิ่มขึ้นทุกปี ในอนาคตจะยกระดับการผลิตและพัฒนาชิ้นส่วนในประเทศให้เป็น ‘Made in Thailand’ เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน
ขณะที่ Shen Xinghua ประธาน บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า CHANGAN มีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน โดยมีแผนลงทุนมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อผลิตรถยนต์พลังงานใหม่กว่า 1.5 ล้านคัน
“CHANGAN ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอาเซียน ทั้งการผลิตและการขาย รวมถึงการวิจัยและพัฒนา โดยจะมีการลงทุนราว 10,000 ล้านบาท และจะเริ่มผลิตรถยนต์ได้ในไตรมาสแรกของปี 2568 มีกำลังการผลิตมากกว่า 100,000 คัน โดยใช้ชิ้นส่วนในประเทศถึงร้อยละ 60 และมีโอกาสที่จะเพิ่มไปถึงร้อยละ 90 จากมาตรการสนับสนุนของรัฐบาลไทย”
Great Wall Motor และ NETA เริ่มไลน์ผลิต ขณะที่ Chery น้องใหม่ไฟแรงพร้อมบุกไทย
Michael Chong ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า Great Wall Motor ต้องการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน โดยปัจจุบันบริษัทได้ลงทุนตั้งโรงงานผลิตที่จังหวัดระยองแล้วกว่า 12,500 ล้านบาท มีการจ้างแรงงานกว่า 3,000 คน กำลังการผลิตรถยนต์ 80,000 คันต่อปี
“ในอนาคตมีแผนลงทุนในไทยเพิ่มเป็น 22,500 ล้านบาท โดยจะร่วมมือกับซัพพลายเออร์ในประเทศไทยในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงยกระดับซัพพลายเชนของไทยให้แข็งแกร่งมากขึ้น และสร้างการเติบโตให้กับประเทศไทยในระยะยาว โดยจะเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศร้อยละ 80-90 ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า”
Shu Gangzhi ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เนต้า ออโต้ (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า NETA ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดในประเทศไทย โดยปี 2022 ได้เปิดตัวรถยนต์ 1 รุ่นเพื่อทำตลาดในประเทศไทย โดยมียอดขายเป็นอันดับ 2
“ปีนี้โรงงาน NETA ในประเทศไทยจะเริ่มเดินเครื่อง โดยมีการใช้ชิ้นส่วนในประเทศมากกว่า 60% จากผู้ผลิต 16 ราย และตั้งเป้าเพิ่มการใช้ชิ้นส่วนในประเทศให้ได้ถึง 85%
Qi Jie ประธานบริษัท โอโมดา แอนด์ เจคู (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ Chery Group กล่าวว่า บริษัทถือเป็นน้องใหม่ที่เข้ามาทำตลาดในประเทศไทย แต่ ‘เป็นน้องใหม่ไฟแรง’ ที่พร้อมทำงานร่วมกับผู้ผลิตชิ้นส่วนในแต่ละประเทศ บริษัทมีโรงงานผลิตรวม 10 แห่งทั่วโลก
โดยรถยนต์ของบริษัทมีการส่งออกไปยัง 80 ประเทศทั่วโลก และไทยจะเป็นฐานผลิตหลักในอาเซียน โดยจะยกระดับผู้ผลิตชิ้นส่วนในแต่ละประเทศ ดึงผู้ผลิตชิ้นส่วนจากจีนเข้ามาร่วมมือกันให้เกิด ‘Win-Win’ ทั้งสองฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาห่วงโซ่การผลิตรถยนต์พลังงานใหม่อย่างสมบูรณ์ให้เกิดขึ้นทั่วโลก
MG ลงทุนทั้งห่วงโซ่สร้างโรงประกอบแบตเตอรี่ Cell to Pack 50,000 แพ็กต่อปี
นอกจากนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมา ‘THE STANDARD WEALTH’ มีโอกาสเยี่ยมชมโรงงาน MG จังหวัดชลบุรี และได้พูดคุยกับ สุโรจน์ แสงสนิท รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ผู้ผลิตรถยนต์ MG
สุโรจน์ระบุว่า MG กล้าพูดเลยว่าเป็นผู้บุกเบิกยานยนต์ไฟฟ้าไทย มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางผลิตและส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าทั่วภูมิภาคอาเซียน ด้วยการทุ่มงบลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท มีบุคลากรในการทำงานมากกว่า 1,000 คน โดยเป็นบุคลากรคนไทยกว่า 98%
สุโรจน์ย้ำว่า “EV ไทยจะไม่มีคำว่าทัวร์ศูนย์เหรียญแน่นอน”
โดย MG ได้เข้ามาทำตลาดในไทยปีนี้เป็นปีที่ 11 มีการผลิตรถยนต์หลากหลายรุ่น รวมยอดขายสะสม 225,000 คันในประเทศไทย
“เมื่อต้นปี 2024 ได้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV รุ่นแรก MG4 เพื่อจำหน่ายในตลาดประเทศไทย โดยบริษัทได้ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ และร่วมมือกับซัพพลายเออร์ไทย พัฒนานวัตกรรม รวมทั้งสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย เพื่อมุ่งสู่การเป็นฐานผลิตเพื่อส่งออกยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดโลก”
ท้ายสุด สุโรจน์ย้ำว่าปี 2566 MG ได้ลงทุนครั้งใหญ่เพื่อพัฒนาพื้นที่ในส่วนที่เหลืออีกกว่า 137.5 ไร่ ให้เป็นส่วนของ New Energy Industrial Park เพื่อรองรับการเติบโต สร้างโรงประกอบแบตเตอรี่ EV Cell to Pack กำลังผลิต 50,000 แพ็กต่อปี จึงทำให้แบรนด์สามารถผลิตและประกอบรถยนต์ได้ครบทุกรูปแบบ ขับเคลื่อนจากฐานการผลิตภายในประเทศ กับกำลังการผลิตสูงสุด 100,000 คันต่อปี