วันนี้ (17 เมษายน) กลุ่ม 7 ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ประกอบด้วย ประยูร ครองยศ ผู้สมัครหมายเลข 12, ธเนตร วงษา ผู้สมัครหมายเลข 14, พล.อ.ต. ทูตปรีชา เลิศสันทัดเวที ผู้สมัครหมายเลข 15, วรัญชัย โชคชนะ ผู้สมัครหมายเลข 22, ภูมิพัฒน์ อัศวภูภินทร์ ผู้สมัครหมายเลข 27, กฤตชัย พยอมแย้ม ผู้สมัครหมายเลข 29 สังกัดพรรคประชากรไทย และ วิทยา จังกอบพัฒนา ผู้สมัครหมายเลข 31 ร่วมการแถลงเรียกร้องสื่อมวลชน ให้ความสนใจและนำเสนอผลงานของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักให้มากขึ้น
โดยวรัญชัยระบุว่า ที่มาของการแถลงร่วมกันครั้งนี้คือ อยากให้สื่อมวลชนเปิดพื้นที่ให้ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. คนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลัก มีพื้นที่นำเสนอตัวตนและนโยบายต่อประชาชน โดยหลังจากนี้ กลุ่มผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กลุ่มนี้จะมีแนวทางการหาเสียงร่วมกัน ส่วนจะไปแบบรวมหรือไปแบบเดี่ยวจะมีการปรึกษากันอีกครั้ง และจะมีการแจ้งข่าวถึงสื่อมวลชนทุกครั้งที่ไปลงพื้นที่และปราศรัย
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงในเรื่องข้อกฎหมายว่า สามารถหาเสียงร่วมกันได้หรือไม่นั้น วรัญชัยกล่าวว่า ตนสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. มาแล้ว 7 ครั้ง ยืนยันว่าไม่มีปัญหาในเรื่องกฎหมาย เพราะกลุ่มนี้แม้จะมีการลงหาเสียงพร้อมกัน แต่ถึงเวลาจะเป็นการหาเสียงตามรูปแบบของแต่ละคน เพราะแต่ละผู้สมัครมีแนวทาง มีเบอร์ และนโยบายที่ต่างกันอยู่แล้ว อีกทั้งตนเข้าใจว่าสื่อมวลชนจะไม่มีเวลามาติดตามผู้สมัครลงพื้นที่ได้ครบทุกคน ตนและผู้สมัครในกลุ่มนี้จึงตัดสินใจที่จะลงหาเสียงไปเป็นกลุ่ม เพื่อให้สื่อมวลชนได้ติดตามการลงพื้นที่ของผู้สมัครกลุ่มนี้ ที่มีผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หลายเบอร์ในคราวเดียวกัน
ด้านประยูรกล่าวว่า ตนเคยบอกเสมอว่า การที่ตนจะได้รับคะแนนโหวตกี่คะแนนนั้นอยู่ที่การตัดสินใจของพี่น้องประชาชน แต่อย่างน้อยการทำหน้าที่อย่างเป็นกลางของสื่อมวลชนจะช่วยให้ประชาชนได้รับรู้ว่า ตนเป็นใคร มาจากไหน การศึกษาสำเร็จจากที่ไหนมาบ้าง ประสบการณ์ทำงาน แนวความคิดด้านการเมืองเป็นอย่างไร โดยตนเชื่อว่าถ้าประชาชนรู้จักมากกว่ากลุ่มผู้สมัครในกระแสหลัก 6-7 คน ประชาชนจะหันมาให้ความสนใจมากขึ้น ฉะนั้นกระแสต่างๆ ที่ออกมาจากสื่อไม่ว่าทางใดก็ตาม จะมีผลต่อการตัดสินใจของประชาชนส่วนหนึ่งเสมอ
ขณะที่กฤตชัยบอกว่า วันนี้เรามาแถลงเพื่อเน้นให้สื่อมวลชนเปิดโอกาสให้กลุ่มผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. กลุ่มนี้ ไม่ว่าจะมาจากอิสระหรือสังกัดพรรคอะไรก็ตาม ได้นำเสนอนโยบายและตัวตนอย่างทัดเทียมกัน หลายคนบอกเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. รอบนี้มีผู้สมัครเยอะ แต่ขอให้ทุกท่านดูดีๆ ผู้สมัครที่ทำงานจริงมีเพียงไม่กี่คน โดยสิ่งหนึ่งที่มาพร้อมกับการที่ตนตัดสินใจเปิดหน้าลงเล่นการเมืองเป็นครั้งแรก คือความมุ่งมั่นและตั้งใจจริงที่จะบอกว่า การเมืองของคนไทยควรเปลี่ยนได้แล้ว รวมถึงพี่น้องสื่อมวลชนก็ควรมีแนวคิดใหม่ๆ ในการนำเสนอข่าวในปัจจุบัน