×

ผอ. ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลฯ เผย พบพะยูนเกยตื้น 7 ตัวในรอบ 4 เดือน วอนชาวประมงระวังการวางอวน

15.07.2019
  • LOADING...

สืบเนื่องจากระยะเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมา กระแสข่าวการพบพะยูนเกยตื้นมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างน่าตกใจ ซึ่งล่าสุดวันที่ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการรายงานเพิ่มเติมว่า พบพะยูนเกยตื้นเข้าสู่ชายฝั่งและเสียชีวิตอีก 2 ตัว

 

 

โดยเมื่อวานนี้ (14 ก.ค.) ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ภูเก็ต) ได้อัปเดตสถานการณ์ของพะยูนเกยตื้นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Kongkiat Kittiwatanawong’ โดยเผยว่า ล่าสุดพบพะยูนเสียชีวิตอีก 2 ตัว รวมเป็น 5 ตัวที่เสียชีวิต ทั้งในจังหวัดตรังและกระบี่ ไม่นับรวมกับมาเรียมและยามีล พร้อมข้อความระบุว่า

 

ตอนนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกำลังเร่งศึกษาพิกัดที่เกิดเหตุ โดยความร่วมมือของนักวิชาการด้านสมุทรศาสตร์โมเดล เมื่อรวมกับข้อมูลการชันสูตรจะทำให้เราทราบว่าเหตุเกิดที่ไหนและเกิดอย่างไร นอกจากนี้อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังครอบคลุมพื้นที่การแพร่กระจายของพะยูนทั้งหมด

 

“มีข้อสังเกตว่า ระยะนี้ชาวบ้านทำประมงพื้นบ้านมากขึ้น เพราะสัตว์น้ำเยอะขึ้นผิดกับปีที่แล้ว อย่างช่วงนี้ปกติอวนสามชั้นกุ้งจะไม่ทำแล้ว แต่ปีนี้กุ้งเยอะ อวนสามชั้นก็ยังทำอยู่ กุ้งก็ตัวโตๆ เรือจับสัตว์น้ำได้ เรือหนักจนแทบจะจมในบางลำ ซึ่งจากข้อมูลการเสียชีวิตของพะยูนในรอบ 30 ปี เราพบว่า เกือบ 90% เกิดจากการติดเครื่องมือประมง ‘โดยบังเอิญ’

 

“คงต้องฝากความหวังเรื่องการทำประมงพื้นบ้านที่ทำในบริเวณใกล้แหล่งหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแหล่งหากินของพะยูนและเต่าทะเลให้ช่วยระวังและป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์สงวนและคุ้มครองทั้งสองสายพันธุ์นี้ด้วยครับ ถ้าวางอวน ก็ขอให้ช่วยเฝ้าเครื่องมือ เผื่อกรณีติดอวนจะได้ช่วยเหลือได้ทัน

 

“ส่วนประเด็นเรื่องการล่าเพื่อเอาเขี้ยวพะยูน ส่วนตัวผมคิดว่า มีความเป็นไปได้น้อยกว่า แต่คิดว่าเป็นการพยายามตัดเอาหลังจากพบซากแล้วมากกว่า เพราะร่องรอยการกระทำเกิดหลังจากที่พะยูนเสียชีวิตแล้ว เรื่องนี้อยู่ที่จิตสำนึกเป็นหลักแล้วครับ ถ้าพบการครอบครองก็ผิดกฎหมายอยู่แล้ว

 

“หมายเหตุ ข้อมูลจากการบินสำรวจโดยศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันร่วมกับนักบินอาสาสมัคร Eduardo และ Tom Potisit พบว่า พะยูนส่วนใหญ่จะหากินอยู่ในรัศมี 6 กิโลเมตร จากแนวแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ดังกล่าว จึงควรช่วยกันดูแลและป้องกัน”

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising