งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร PLOS Biology เมื่อเดือนธันวาคม 2022 เปิดเผยผลการศึกษาที่น่าวิตกกังวลว่า พืชและสัตว์ถึง 65% ในแอนตาร์กติกา รวมถึงเพนกวินจักรพรรดิ อาจตายหมดภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากมนุษย์ยังไม่ร่วมมือกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดการใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้ธารน้ำแข็งในทะเลละลายตัวหายไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์น้ำในกลุ่มนกทะเลหลายชนิด รวมถึงเพนกวินจักรพรรดิและเพนกวินอาเดลี ซึ่งต้องใช้แผ่นน้ำแข็งเพื่อเลี้ยงดูลูกๆ ของพวกมันในช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคมของทุกปี หากน้ำแข็งละลายเร็วขึ้นหรือแข็งตัวช้าลงเนื่องจากภาวะโลกร้อน ก็อาจกระทบต่อวงจรการสืบพันธุ์ของเพนกวินได้
ปัจจุบันปริมาณน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติกาลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ โดยรายงานจากศูนย์ข้อมูลหิมะและน้ำแข็งแห่งชาติของสหรัฐอเมริกาในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 ระบุว่า พื้นที่น้ำแข็งในมหาสมุทรใต้ (ซึ่งเป็นผืนน้ำที่ล้อมรอบทวีปแอนตาร์กติกา) ลดลงต่ำกว่า 2 ล้านตารางกิโลเมตรเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ที่เก็บข้อมูลมากว่า 40 ปี
การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature เมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ระบุว่า หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่เกินจากความตกลงปารีส จะส่งผลให้แผ่นน้ำแข็งในแอนตาร์กติกาละลายตัวหนัก และอาจทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ‘หลายเมตร’ ในช่วงเวลาหลายศตวรรษข้างหน้า โดยหากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังอยู่ในระดับสูง แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันออก (EAIS) อาจมีส่วนทำให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้นประมาณ 1-3 เมตรภายในปี 2300 และ 2-5 เมตรภายในปี 2500
อย่างไรก็ตาม หากทั่วโลกร่วมใจกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมาก แผ่นน้ำแข็งแอนตาร์กติกาตะวันออกอาจทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นราว 2 เซนติเมตรภายในปี 2100
แฟ้มภาพ: HUM Images / Universal Images Group via Getty Images
อ้างอิง: