เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ภาพและข้อความของศูนย์ข้อมูลราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Opass Putcharoen’ เกี่ยวกับรายงานผู้ป่วยเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากกัญชา นับจากการปลดล็อกกัญชาในวันที่ 9 มิถุนายน 2565
โดยข้อมูลช่วงวันที่ 21-26 มิถุนายน มีรายงานพบเด็กได้รับผลกระทบจากกัญชา 6 ราย มีรายละเอียดดังนี้
คนที่ 1 เพศชาย อายุ 14 ปี กรุงเทพฯ
เป็นผู้ป่วยจิตเวช ไม่ได้กินยามา 2 สัปดาห์ ได้รับกัญชาโดยไม่รู้ตัวจากการสูบบุหรี่ที่มีกัญชาผสมจากเพื่อน โดยมีอาการสับสน กระวนกระวาย พฤติกรรมเปลี่ยนแปลง ตรวจกัญชาในปัสสาวะได้ผลบวก ให้การรักษาเบื้องต้นแล้วกลับบ้าน
คนที่ 2 เพศชาย อายุ 17 ปี 6 เดือน จังหวัดพิจิตร
ได้รับกัญชาจากเพื่อนโดยการใช้ส่วนช่อดอกสูบเพื่อนันทนาการ มีอาการสับสนกระวนกระวาย หูแว่ว ภาพหลอน ทำลายข้าวของ ก้าวร้าว ทำร้ายตัวเอง ให้การรักษาเบื้องต้นแล้วกลับบ้าน
คนที่ 3 เพศชาย อายุ 17 ปี 10 เดือน จังหวัดนครศรีธรรมราช
ได้รับกัญชาจากเพื่อนโดยใช้ส่วนใบสูบเพื่อนันทนาการ ครูสังเกตว่าผอมลง หน้าตาไม่สดใส พบบ้องกัญชาในกระเป๋า โดยเยาวชนผู้ป่วยยอมรับว่าสูบมา 1 ปี มีอาการง่วงนอน ซึม คิดมาก เบลอ มึนงง ให้การรักษาเบื้องต้นแล้วกลับบ้าน
คนที่ 4 เพศชาย อายุ 16 ปี 4 เดือน กรุงเทพฯ
ได้รับกัญชาโดยการสูบจากเพื่อน มีอาการสับสน กระวนกระวาย ใช้มีดทำร้ายตัวเองแต่แม่ห้ามไว้ได้ทัน ให้การรักษาเบื้องต้นและกลับบ้าน ให้หยุดพักการเรียนในระหว่างเริ่มยาทางจิตเวชและนัดติดตาม รอผลส่งตรวจสารเสพติดในปัสสาวะ
คนที่ 5 เพศหญิง อายุ 3 ปี 3 เดือน กรุงเทพฯ
ได้รับกัญชาโดยไม่รู้ตัวจากการรับประทานคุกกี้ผสมกัญชาไม่ทราบยี่ห้อที่ญาติซื้อมาวางไว้ในบ้าน มีอาการง่วงนอน ซึม ให้การรักษาเบื้องต้นและส่งต่อรักษาตามสิทธิ
คนที่ 6 เพศชาย อายุ 15 ปี 9 เดือน กรุงเทพฯ
มีปัญหาด้านจิตเวช มีอาการหวาดระแวงนำมาก่อน ทดลองกินกัญชาโดยซื้อช็อกโกแลตผสมกัญชามาลองกิน มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหลังกิน มีเสียง/ภาพหลอน วิตกกังวล ซึมเศร้า คลื่นไส้ อาเจียน รักษาโรคหลักทางจิตเวชและป้องกันการใช้สารเสพติด (กัญชา) ซ้ำ
อ้างอิง: