หลังจากมีรายงานข่าวว่าทางกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นราชการส่วนท้องถิ่นได้อนุญาตให้ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในความควบคุมของกรุงเทพมหานคร ดำเนินการตาม ‘โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร’ ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร
และปรากฏต่อมาว่ากรุงเทพธนาคมได้ทำการคัดเลือกโดยให้มีการยื่นข้อเสนอ ซึ่งมีผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมเอกชนเพียงรายเดียวที่ยื่นข้อเสนอ และทำให้กรุงเทพธนาคมอนุญาตให้เอกชนรายนั้นแสวงหาประโยชน์จากท่อร้อยสายของรัฐไปโดยปริยาย แสดงให้เห็นถึงการให้สิทธิ์ผูกขาดเอกชนรายใดรายหนึ่งเพียงรายเดียว
ล่าสุด (27 มิ.ย.) 6 ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมได้เข้ายื่นหนังสือต่อ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกรายมีโอกาสเข้าถึงบริการท่อร้อยสายสื่อสารของหน่วยงานของรัฐโดยตรง โดยผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้ง 6 ราย ประกอบด้วย
- บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด
- บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด
- บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน)
- บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เทเลคอม จำกัด (มหาชน)
- บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด
- บริษัท เอแอลที เทเลคอม จำกัด (มหาชน)
วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าการยื่นหนังสือครั้งนี้เป็นการยื่นเพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณาใหม่อีกครั้ง ควรจะต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบ เพราะการกระทำครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างแน่นอน พร้อมยอมรับว่าที่ผ่านมาการเดินสายบนเสาโดยโอเปอเรเตอร์เป็นปัญหาจริง ไม่ว่าจะทำให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่สวยงาม รวมถึงก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน และมองว่าการย้ายสายไปอยู่ใต้ดินไม่ใช่การแก้ไขปัญหา แต่เป็นการเปลี่ยนปัญหาไปอยู่อีกจุดหนึ่งมากกว่า
“การเดินท่อร้อยสายใต้ดินคือการทำให้สายที่อยู่บนเสาย้ายไปรกอยู่ในใต้ดิน ดังนั้นการเดินท่อร้อยสายใต้ดินไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่เป็นการเปลี่ยนปัญหาไปอยู่อีกที่หนึ่งมากกว่า ผลก็คือจะมีการเปิดท่ออยู่เป็นประจำ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอยู่เสมอ วิธีการแก้ไขปัญหาจริงๆ คือการจัดการมากกว่า ซึ่งการจัดการคือการทำให้มีการพาดสาย ไม่ใช่เพิ่มสายขึ้นมาจนเป็นดินพอกหางหมู”
ทั้งนี้วีรวัฒน์เผยต่อว่าตอนนี้มีการคุยกับโอเปอเรเตอร์เพื่อร่วมกันตั้งหน่วยงานกลางขึ้นมาเพื่อเดินสายรายเดียวไปตามบ้านเช่นเดียวกับสายไฟฟ้าที่มีเส้นเดียว ดังนั้นสายสื่อสารก็ควรมีเส้นเดียวเช่นกัน ซึ่งเวลามีลูกค้ารายใหม่มาก็จะไปจัมป์ตรงกลางสาย หากทำได้ ปัญหาสายรกก็จะไม่เกิดขึ้นอีก
นอกจากนี้ 6 ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมยังได้ให้ความเห็นว่า กรุงเทพมหานคร โดยกรุงเทพธนาคม ในฐานะหน่วยงานของรัฐ ควรให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมทุกรายเข้าถึงท่อร้อยสายของรัฐจากหน่วยงานของรัฐได้โดยตรงตามหลักเกณฑ์ของ กสทช. ด้วยเหตุผลดังนี้
1. หน่วยงานของรัฐควรให้ผู้รับใบอนุญาตทุกรายเข้าถึงสาธารณูปโภคนี้จากหน่วยงานของรัฐได้โดยตรง และมิควรมอบสิทธิผูกขาดให้แก่เอกชนรายใดรายหนึ่งไปแสวงหาประโยชน์จากสาธารณสมบัติของแผ่นดินได้
2. ผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่สอดคล้องกับกฎหมาย
3. การดำเนินการดังกล่าวทำลายการแข่งขันที่เป็นธรรมและไม่มีหลักประกันใดให้แก่ผู้บริโภค ผู้ผูกขาดจะอยู่ในฐานะที่สามารถหากำไรส่วนเกินในระยะยาว เปรียบเสมือนค่าสัมปทานที่เรียกเก็บและสามารถนำกลับมาแข่งขันกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่น อันเป็นการบิดเบือน การแข่งขัน ซึ่งผู้บริโภคก็จะเป็นผู้ได้รับความเสียหายในท้ายที่สุด
4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าการดำเนินโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานครดังกล่าวจะเข้าข่ายที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
5. กลุ่มผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต่างให้ความสนับสนุนในการจัดระเบียบสายสื่อสารให้เป็นระเบียบเรียบร้อยและมองเห็นผลประโยชน์แก่ประชาชนเป็นที่ตั้ง พร้อมมองว่า บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ก็มีความเชี่ยวชาญที่อาจช่วยให้บริการท่อร้อยสายดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและสิ้นเปลืองน้อยกว่า รวมถึงวิธีแก้ปัญหาสายสื่อสารพาดบนเสาไฟฟ้าที่อาจไม่จำเป็นต้องปลดลงทุกเส้นทางเสมอ เช่น หากดำเนินการจัดระเบียบให้เรียบร้อยก็จะมีภาระการลงทุนใหม่เพียง 490 ล้านบาท และต้นทุนค่าเช่าประมาณ 5.4 ล้านบาท เป็นต้น
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์