×

6 องค์กรวิชาชีพสื่อยื่น กสม. ตรวจสอบตำรวจ กรณีสื่อบาดเจ็บจากเหตุปะทะชุมนุม APEC

โดย THE STANDARD TEAM
01.12.2022
  • LOADING...
องค์กรวิชาชีพ

วันนี้ (1 ธันวาคม) ผู้แทนจาก 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เข้าพบ วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เพื่อยื่นหนังสือให้ กสม. ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนอย่างน้อย 4 คน ได้รับบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุมกลุ่ม ‘ราษฎรหยุด APEC’ บริเวณถนนดินสอ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้บาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ และสื่อมวลชน

 

ธีรนัย จารุวัสตร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการตรวจสอบและรับฟังข้อมูลเบื้องต้น ตนได้รับรายงานว่าลักษณะอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘ลูกหลง’ หรือจังหวะชุลมุน แต่เป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจบางส่วนที่มีลักษณะขาดความยับยั้งชั่งใจ เช่น การใช้กระบองฟาดและรุมเตะผู้สื่อข่าว หรือการขว้างขวดแก้วจากแนวตำรวจมายังทิศทางของกลุ่มสื่อมวลชน จนทำให้มีช่างภาพบาดเจ็บบริเวณลูกตา เป็นต้น จึงสุ่มเสี่ยงว่าอาจเป็นการคุกคามเสรีภาพของสื่อมวลชนในการเสนอข่าวสารตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

 

ธีรนัยกล่าวด้วยว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพียงเพื่อปกป้องสิทธิ์ของสื่อมวลชน 4 คนที่ได้รับบาดเจ็บในเหตุครั้งนี้เท่านั้น แต่เพื่อปกป้องสิทธิ์ของเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อทังหมด 

 

“หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุในลักษณะนี้ขึ้นอีก สื่อมวลชนภาคสนามทุกคน ทุกสังกัด จะได้ปฏิบัติหน้าที่รายงานข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะอย่างปลอดภัยและปราศจากการคุกคาม” ธีรนัยกล่าว

 

ธีรนัยเสริมว่า การยื่นหนังสือครั้งนี้มีจุดประสงค์ให้ กสม. ตรวจสอบว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ และละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ โดยจะมีการยื่นหนังสือไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบในกระบวนการของตำรวจอีกทางหนึ่งด้วย ในส่วนนี้กำลังอยู่ระหว่างการประสานวันเพื่อนัดพบ ผบ.ตร. หากได้วันและเวลาที่ชัดเจนแล้วจะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบในลำดับต่อไป

 

สำหรับรายละเอียดในหนังสือที่ยื่น กสม. ระบุว่า ขอให้สอบสวนข้อเท็จจริงกรณีสื่อมวลชนบาดเจ็บจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียน ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

 

ด้วยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 กลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า ‘ราษฎรหยุด APEC’ ได้พยายามเดินขบวนไปยังสถานที่จัดการประชุม APEC ต่อมาเกิดการปะทะกันระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงสื่อมวลชนภาคสนามจำนวนหนึ่ง ตามที่ปรากฏในรายงานข่าวจำนวนมากแล้วนั้น 

 

หลังจากเหตุดังกล่าว ฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวฯ ได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพ คลิปวิดีโอ และคำบอกเล่าของสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บ ได้ความว่า มีผู้สื่อข่าวและช่างภาพอย่างน้อย 4 คน ได้รับบาดเจ็บจากกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประกอบด้วย 

 

  1. ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว The MATTER ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กระบองและโล่กระแทกจนล้มลงกับพื้นขณะกำลังรายงานสถานการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกลุ่มเดิมเตะซ้ำๆ เข้าที่ศีรษะ และมีการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสมจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

  1. ช่างภาพจากสำนักข่าว TOP NEWS ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้โล่และกระบองฟาดขณะกำลังเก็บภาพจังหวะกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม โดยที่ช่างภาพคนดังกล่าวกำลังยืนอยู่บนทางเท้า ส่งผลให้ฟกช้ำเล็กน้อยและแว่นสายตาเสียหาย 

 

  1. ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวประชาไทถูกเจ้าหน้าที่ใช้โล่ทิ่มเข้าใส่ขณะรายงานสถานการณ์การปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม โดยที่ผู้สื่อข่าวคนดังกล่าวยืนอยู่บนทางเท้าเช่นกัน ส่งผลให้ผู้สื่อข่าวบาดเจ็บที่มือ

 

  1. ช่างภาพจากสำนักข่าว Reuters ถูกเศษแก้วจากขวดแก้วกระเด็นเข้าที่ใบหน้าขณะกำลังบันทึกภาพแนวตำรวจใกล้กับอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนได้รับบาดเจ็บบริเวณลูกตา โดยวัตถุดังกล่าวลอยมาจากทิศทางของกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างชัดเจน

 

สื่อมวลชนที่บาดเจ็บในทั้ง 4 กรณี ทำหน้าที่รายงานเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริง แสดงสัญลักษณ์สื่อมวลชนชัดเจน และไม่ได้กีดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ นอกจากนี้ผู้บาดเจ็บยังระบุว่า ไม่ได้รับแจ้งให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องและสื่อมวลชนคอยระวังหรือหลบหลีก เมื่อเจ้าหน้าที่จะดำเนินการผลักดันหรือตอบโต้ผู้ชุมนุม 

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย, สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ในฐานะองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน มีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบวิชาชีพ จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะองค์กรอิสระที่มีพันธกิจผดุงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในเหตุดังกล่าวละเมิดหลักสิทธิมนุษยชนหรือไม่ และชี้แจงผลการตรวจสอบให้สาธารณชนได้รับทราบตามลำดับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising