×

‘6 ความกลัว’ ต้องพิชิตเพื่อความสำเร็จ

โดย THE STANDARD TEAM
10.01.2021
  • LOADING...
‘6 ความกลัว’ ต้องพิชิตเพื่อความสำเร็จ

ผู้เชี่ยวชาญแนะความกลัวที่ต้องเร่งจัดการรับมือ เพื่อให้สามารถยืนหยัดได้อย่างแข็งแกร่ง ทั้งยังจะมีส่วนช่วยให้ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ในปี 2021

 

ผลการศึกษาวิจัยหลายชิ้นออกมายืนยันแล้วว่า อุปสรรคขัดขวางใหญ่ที่ทำให้คนๆ หนึ่งไม่อาจประสบความสำเร็จ ไม่ใช่ปัจจัยเรื่องเวลา เงินทุน หรือทรัพยากร แต่เป็นความสามารถในการยืดหยัดอดทนต่อการเปลี่ยนแปลงและความเสี่ยงต่างๆ ได้

 

งานนี้ Scott Steinberg นักอนาคต (Futurist) ผู้เชี่ยวชาญ ที่ปรึกษา และนักพูดด้านนวัตกรรมอนาคต ทิศทาง และกลยุทธ์ทางธุรกิจ เปิดเผยผ่านเว็บไซต์สถานีโทรทัศน์ CNBC ว่าหลายปีที่ทำงานวิจัยมานาน ทำให้ค้นพบความจริงอย่างหนึ่งว่าความกลัวทั้งหมดทั้งมวลที่เกิดขึ้นปรากฏตัวอยู่ใน 6 รูปแบบด้วยกัน ซึ่งหากสามารถปรับมุมมองและเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามเอาชนะความกลัวเหล่านี้ได้ ย่อมเกิดความเป็นไปได้ที่ไม่มีที่สิ้นสุดมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยากจนบีบให้ผู้คนต้องปรับตัวชนิดวันต่อวัน

 

ความกลัว 6 รูปแบบในมุมมองของ Scott คือ

 

1. Fear of Change and Uncertainty

ความกลัวการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอน ซึ่ง Scott ระบุว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว หากกลัวที่จะเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ต่างอะไรกับการโดนทิ้งไว้เบื้องหลังและไม่มีวันได้เติบโต โดยเคล็ดลับในการจัดการกับความกลัวความไม่แน่นอนก็คือ อย่าพยายามคาดการณ์คาดเดาอนาคตใดๆ ตรงกันข้ามให้เรียนรู้ที่จะอยู่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและปรับตัวให้เข้ากัน หรือหากจะวางแผนทำงานใดๆ ก็ให้เตรียมเผื่อช่วงเวลาที่อาจต้องเปลี่ยนการตัดสินใจหรือเปลี่ยนวิธีทำงาน ซึ่งการเปลี่ยนนั้นๆ ให้ขึ้นอยู่กับข้อมูลใหม่ๆ ที่ได้รับมาเป็นหลัก 

 

2. Fear of Isolation

ความกลัวโดดเดี่ยว โดยความรู้สึกนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่จะรู้สึกได้ เมื่อต้องโดนทิ้งให้เผชิญหน้าจัดการปัญหาในบริษัทตามลำพัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาวิกฤต กระนั้น ก็ใช่ว่าจะไม่มีวิธีจัดการความโดดเดี่ยวเหล่านี้ โดย Scott แนะนำว่า ให้เริ่มลงมือด้วยการสร้างความเชื่อมั่นและสานสายสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานหรือสมาชิกในทีม จากจุดเล็กๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ขยายออกไปเพื่อให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของทีมได้อย่างกลมกลืน จำไว้ว่าความโดดเดี่ยวแก้ได้จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ และสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นต้องใช้เวลา 

 

3. Fear of Confrontation

การเผชิญหน้าตอบโต้กับเพื่อนร่วมงานหรือเจ้านายในที่ทำงานย่อมไม่ใช่เรื่องที่คนส่วนใหญ่ปรารถนา ดังนั้นเมื่อเลี่ยงได้ คนส่วนใหญ่จึงมักหลีกเลี่ยง แต่ให้จำไว้เสมอว่า การหลีกเลี่ยงไม่ได้ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นหมดไปแต่อย่างใด สิ่งที่จะต้องทำเมื่อประสบกับสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้าก็คือการหันกลับมาถามตนเองว่า “อะไรคือสิ่งที่คู่ควรกับคุณ แล้วอะไรไม่ใช่” จากนั้นก็ถอยหลังมาหนึ่งก้าว เพื่อมานั่งคิดหาวิธีการที่ดีที่สุดในการรับมือกับคนที่จำเป็นต้องเผชิญหน้า เริ่มด้วยปัญหาเล็กๆ ก่อน ไปทีละเรื่อง ก่อนค่อยๆ ขยายออกไปเมื่อได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจแล้ว

 

4. Fear of Rejection

การโดนปฏิเสธเป็นเรื่องธรรมดาสามัญในชีวิตที่คนทุกคนต้องเผชิญ แม้แต่ผู้บริหาร มหาเศรษฐี และนักธุรกิจมือฉมังล้วยเคยโดนปฏิเสธมาแล้วทั้งสิ้น ไล่เรียงตั้งแต่โดนปฏิเสธเรื่องงาน โดนปฏิเสธจากลูกค้า หรือสินค้าและบริการไม่เป็นที่ต้อนรับ

 

Scott กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำเมื่อโดนปฏิเสธคือ ไม่ต้องทำอะไร นอกจากการปรับเปลี่ยนทัศนคติของตนเองให้ยอมรับคำปฏิเสธนั้นโดยดี และเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมาเพื่อให้เดินไปข้างหน้าต่อได้ โดยสิ่งที่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจก็คือว่า ในชีวิตนี้ยังต้องเผชิญกับคำว่า “ไม่” มากกว่าคำว่า “ใช่ / ได้” อีกมาก และบางครั้งคำว่าไม่ที่เกิดขึ้น มักจะหมายถึง “ไม่ ในตอนนี้” ดังนั้นอย่าลังเลหรือล้มเลิกที่จะพยายามต่อไป 

 

5. Fear of Losing Control

งานวิจัยส่วนหนึ่งระบุว่า ความรู้สึกที่ต้องการเอาชนะและเป็นหนึ่งในทุกสิ่งอยู่เสมอ รวมถึงต้องการที่จะเข้าไปจัดการกะเกณฑ์ผู้คนและสถานการณ์รอบตัวอยู่ตลอด มักจะทำให้บุคคลนั้นหวาดกลัวต่อการสูญเสียความสามารถในการควบคุมทุกสิ่งที่อย่างไป

 

Scott แนะว่า แทนที่จะตั้งคำถามถึงความสามารถในการควบคุมบริหารจัดการของตนเองเมื่อคนหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามที่หวังไว้ ก็ให้พยักหน้ายอมรับความจริงที่เกิดขึ้นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมานี้อยู่นอกเหนือการควบคุมของตน แล้วหันความสนใจใส่ใจของตนไปอยู่ในสิ่งที่ขอบเขตอำนาจและความสามารถของตนที่จะเข้าไปจัดการได้

 

6. Fear of Failure

ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งบางสถานการณ์ที่วางแผนมาอย่างรัดกุมที่สุดก็ยังมีโอกาสที่จะล้มเหลวได้ Scott กล่าวว่า เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ทุกเป้าหมายล้วนต้องอาศัยเวลากว่าจะบรรลุผลสำเร็จ ดังนั้น ระหว่างทางที่เดินไปย่อมมีล้ม สะดุด หรือล้มเหลวได้ทั้งสิ้น

 

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้แนะนำว่า ให้ลงมือทำบ่อยๆ เพราะถึงจะล้มบ่อยและล้มมาก แต่ก็จะทำให้ล้มอย่างฉลาดมากขึ้น ใช้ความล้มเหลวเป็นวิธีในการทดสอบกลยุทธ์หรือทางออก (Solutions) ใหม่ จนกระทั่งพบทางที่ถูกต้องในการแก้ไขและนำไปสู่ความสำเร็จ และสิ่งที่ต้องใส่ใจกคือ อย่าทำผิดซ้ำรอยเดิมเป็นครั้งที่ 2 ก็พอ 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X