“ผมเชื่อมั่นว่าประเทศนี้ควรมุ่งมั่นที่จะส่งมนุษย์ไปลงจอดบนดวงจันทร์ และพาเขากลับโลกอย่างปลอดภัย ก่อนที่ทศวรรษนี้ (ทศวรรษ 1960) จะสิ้นสุดลง” คือบางส่วนที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี กล่าวต่อสภาคองเกรสสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 1961
เวลาล่วงเลยไป 8 ปีจากวันนั้น วันที่ 20 กรกฎาคม 1969 ภารกิจอพอลโล 11 ได้เดินทางไปลงจอดบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรกด้วยยานลงดวงจันทร์ ‘อีเกิล’ ที่นำพา นีล อาร์มสตรอง และ เอ็ดวิน อัลดริน ไปลงสำรวจบนพื้นผิวดาวต่างดวงได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ พร้อมกับเดินทางกลับมาลงจอดบนโลกได้อย่างปลอดภัย
แต่ภารกิจอพอลโล 11 ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสียเลย เพราะมีปัญหามากมายเกิดขึ้นตั้งแต่จุดเริ่มต้นของโครงการอพอลโล จวบจนวินาทีที่ยานเดินทางขึ้นจากดวงจันทร์ ที่แม้แต่ข้อผิดพลาดเพียงนิดเดียวก็อาจพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ไปได้ตลอดกาล…
เราจะไปดวงจันทร์ได้อย่างไร ถ้าคุยกัน 2-3 ช่วงตึกไม่รู้เรื่อง
โครงการอพอลโลก่อตั้งขึ้นด้วยเป้าหมายของการส่งมนุษย์ไปลงดวงจันทร์ให้สำเร็จตามคำมั่นของประธานาธิบดีเคนเนดีผู้ล่วงลับ แต่เพียงภารกิจแรกของโครงการก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นตั้งแต่ช่วงการทดสอบระบบแล้ว
วันที่ 27 มกราคม 1967 ลูกเรือ 3 คนของอพอลโล 1 อยู่ระหว่างการฝึกซ้อมแบบ ‘Plugs-Out Test’ เพื่อทดสอบว่ายานสามารถทำงานได้ภายใต้พลังงานภายในเพียงอย่างเดียวหรือไม่ และมีปัญหาเกิดขึ้นมากมายในการทดสอบนี้ จนทำให้ กัส กริสซัม ผู้บัญชาการของภารกิจ พูดออกไมค์กลับมาว่า “เราจะไปดวงจันทร์ได้อย่างไร ถ้าคุยกัน 2-3 ช่วงตึกไม่รู้เรื่อง”
น่าเศร้าที่อีกไม่นานหลังจากนั้นเกิดเหตุไฟฟ้าลัดวงจรภายในยาน ทำให้ลูกเรืออพอลโล 1 ทั้ง เอ็ด ไวท์ ฮีโร่ชาวอเมริกันที่ออกไปเดินอวกาศคนแรก, โรเจอร์ แชฟฟี ผู้กำลังจะได้ไปอวกาศครั้งแรก และกริสสัม ที่มีโอกาสเป็นมนุษย์คนแรกบนดวงจันทร์ เสียชีวิตแทบจะในทันที พร้อมกับเสียงกรีดร้องโอดครวญที่ดังออกมาผ่านระบบสื่อสารเพียงไม่กี่วินาทีก่อนที่การสนทนาทั้งหมดจะเงียบหายไป
ความผิดพลาดในครั้งนี้ทำให้โครงการทั้งหมดล่าช้าไป 20 เดือนเต็มๆ เพื่อรื้อระบบมาแก้ปัญหาแบบใหม่หมด แต่ก็เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้การเดินทางไปลงดวงจันทร์ของอพอลโล 11 เกิดขึ้นได้
บทพูดหากนักบินตายบนดวงจันทร์
เนื่องจากไม่เคยมีมนุษย์คนไหนไปอยู่บนดวงจันทร์ และยานเหล่านี้ก็ไม่เคยได้รับการทดสอบในสภาพแวดล้อมจริงๆ มาก่อน ทำให้ วิลเลียม แซไฟร์ นักเขียนสุนทรพจน์ของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ได้เตรียมบทพูด ‘ในกรณีที่เกิดโศกนาฏกรรมบนดวงจันทร์’ เผื่อเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นได้
ในระหว่างที่ยานอีเกิลกำลังลดระดับลงจอด ระบบคอมพิวเตอร์นำทางได้ขึ้นแจ้งเตือนจากโปรแกรมด้วยรหัส 1201 และ 1202 อันหมายถึงระบบไม่สามารถประมวลผลคำสั่งทั้งหมดได้ในเวลาเดียวกัน จนทำให้ทีมวิศวกรบนโลกต้องรีบหาวิธีแก้ไข ซึ่งเคราะห์ดีที่มีวิศวกรรายหนึ่งเคยเจอปัญหาดังกล่าวในระหว่างการซ้อมภารกิจมาแล้ว และอนุมัติให้การลงจอดดำเนินต่อไปได้
นอกจากนี้จุดลงจอดที่ถูกวางไว้ในตอนแรกนั้นเต็มไปด้วยก้อนหินน้อยใหญ่กระจายอยู่ทั่ว ทำให้อาร์มสตรองต้องจับคันบังคับเพื่อควบคุมการลงจอดยานด้วยตนเอง โดยพวกเขาสามารถลงจอดได้โดยเหลือเชื้อเพลิงพอสำหรับการบินแค่ 25 วินาที ก่อนที่ระบบยกเลิกภารกิจอัตโนมัติจะเริ่มทำงาน
เมื่ออยู่บนพื้นผิว นอกจากจะพูดประโยคอมตะ “นั่นคือก้าวเล็กๆ ของชายคนหนึ่ง แต่เป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ” อาร์มสตรองยังต้องเร่งรีบเก็บตัวอย่างหินฉุกเฉินจากบนพื้นผิวบางส่วน เผื่อในกรณีเกิดเหตุต้องยกเลิกภารกิจกะทันหัน อย่างน้อยนักวิทยาศาสตร์บนโลกจะได้มีหินจากดวงจันทร์กลับมาศึกษาได้
และหลังจากการปฏิบัติภารกิจบนพื้นผิวนานกว่า 2 ชั่วโมง 31 นาที พร้อมกับการเก็บตัวอย่างหิน ถ่ายภาพสภาพแวดล้อม ทดลอง ติดตั้งอุปกรณ์วัดแผ่นดินไหวบนดวงจันทร์ และแผ่นสะท้อนเลเซอร์สำหรับการวัดระยะทางจากโลก ก็ถึงเวลาที่ยานอีเกิลจะได้จุดเครื่องยนต์และแยกส่วนบินขึ้นจากดวงจันทร์
อย่างไรก็ตาม ระหว่างเคลื่อนไหวภายในยานที่มีขนาดค่อนข้างแคบ อัลดรินได้ไปชนเข้ากับสะพานไฟตัวหนึ่งในยานจนหัก ซึ่งเจ้าหน้าที่ภาคพื้นบนโลกเป็นกังวลว่า หากไม่ได้รับการแก้ไขได้ทันเวลา เครื่องยนต์บนยานจะไม่สามารถเดินเครื่องได้ แต่เคราะห์ดีที่นักบินอวกาศยังใช้หัวปากกาลูกลื่นไปต่อวงจรแทนได้ และนักบินอวกาศทั้งสองก็ขึ้นบินไปพบกับ ไมเคิล คอลลินส์ ในยานบังคับการได้โดยสวัสดิภาพ
ก้าวกระโดดครั้งต่อไป
แม้จะเป็นภารกิจที่ถูกนักทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมากพยายามส่องหา ‘จุดบอด’ จากการลงดวงจันทร์ครั้งดังกล่าว เพื่อชี้ให้เห็นว่าการลงดวงจันทร์นั้นเป็นเรื่องหลอกลวง แต่ท้ายที่สุดโครงการอพอลโลก็สามารถส่งมนุษย์เดินทางไปดวงจันทร์ได้ถึง 24 คน โดยที่ครึ่งหนึ่งในจำนวนดังกล่าวได้ลงไปสำรวจบนพื้นผิว
จาก 12 คนที่เคยลงบนพื้นผิว ตอนนี้เหลือเพียงแค่ 4 คนเท่านั้นที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้แก่ เอ็ดวิน อัลดริน นักบินยานลงดวงจันทร์อพอลโล 11, เดวิด สกอตต์ ผู้บัญชาการอพอลโล 15, ชาร์ลส์ ดูค นักบินยานลงดวงจันทร์อพอลโล 16, และ แฮริสัน ชมิดต์ นักบินยานลงดวงจันทร์อพอลโล 17 นักธรณีวิทยาหนึ่งเดียวที่ได้ไปดวงจันทร์ ก่อนที่โครงการอพอลโลจะถูกตัดงบประมาณลง
เวลาผ่านไปนานกว่าครึ่งศตวรรษ มีหลายแผนการถูกเสนอขึ้น ทั้งการส่งมนุษย์มุ่งหน้าไปดาวศุกร์และดาวอังคาร จนกลับมาสู่การกลับไปดวงจันทร์อีกครั้งให้ได้ แต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี งบประมาณ และความสำคัญของการสำรวจอวกาศในด้านต่างๆ ทำให้ภารกิจส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ยังเป็นเรื่องที่ดูห่างไกล จนกระทั่งการมาของโครงการอาร์ทิมิส
เมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2022 ภารกิจอาร์ทิมิส 1 ออกเดินทางจากโลกสู่ดวงจันทร์ เป็นภารกิจแบบไม่มีมนุษย์ควบคุม แต่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 49 ปีที่เรามียานอวกาศซึ่งมีศักยภาพเพียงพอสำหรับการส่งนักบินอวกาศเดินทางออกจากโลกกลับไปสู่บริวารเพียงหนึ่งเดียวได้อีกครั้ง
โดยในเดือนพฤศจิกายน ปี 2024 ภารกิจอาร์ทิมิส 2 พร้อมลูกเรือ 4 คน ได้แก่ รีด ไวส์แมน ผู้บัญชาการ, วิกเตอร์ โกลเวอร์ นักบิน ว่าที่คนดำคนแรกที่ได้ไปดวงจันทร์, คริสตีนา คอช วิศวกรภารกิจ ว่าที่สุภาพสตรีคนแรกที่ได้ไปดวงจันทร์ และ เจเรมี แฮนเซน ว่าที่ชาวแคนาดาคนแรกที่ได้ไปดวงจันทร์ จะออกเดินทางไปบินผ่านดวงจันทร์หนึ่งรอบ เพื่อทดสอบระบบและเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจอาร์ทิมิส 3 ที่จะเป็นการลงจอดบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ในปี 2026
ประธานาธิบดีเคนเนดีได้กล่าวปาฐกถา ณ มหาวิทยาลัยไรซ์ เมื่อปี 1962 ว่า “มีบางคนอาจถามว่าทำไมต้องไปดวงจันทร์ล่ะ พวกเขาก็อาจถามเหมือนกันว่าทำไมปีนยอดเขาสูงสุด ทำไมเมื่อ 35 ปีที่แล้วต้องบินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก ทำไมทีมไรซ์ต้องแข่งกับเท็กซัส (ทีมอเมริกันฟุตบอลระดับมหาวิทยาลัยที่เป็นคู่อริกัน)
“เราเลือกที่จะไปดวงจันทร์ เราเลือกที่จะไปดวงจันทร์ในทศวรรษนี้เพื่อทำสิ่งต่างๆ ไม่ใช่เพราะว่ามันง่าย แต่เพราะมันยาก…” และสิ่งที่ยากดังกล่าวก็ได้เป็นจุดเริ่มต้นการสำรวจอวกาศครั้งสำคัญที่จุดประกายผู้คนจำนวนมากและสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆ ที่ถูกนำมาปรับใช้ เพื่อประโยชน์แก่ชีวิตบนโลกใบนี้เช่นกัน
เพราะบนเส้นทางสู่ดวงดาวนั้นแสนลำเค็ญ ดั่งคำลาตินที่ว่า ‘Per Aspera Ad Astra’
ภาพ: Heritage Space / Heritage Images via Getty Images
อ้างอิง:
- https://www.nasa.gov/mission_pages/apollo/missions/apollo11.html
- https://history.nasa.gov/alsj/a11/a11fltpln_final_reformat.pdf
- https://history.nasa.gov/Apollo204/
- https://history.nasa.gov/as204_senate_956.pdf
- https://www.archives.gov/files/presidential-libraries/events/centennials/nixon/images/exhibit/rn100-6-1-2.pdf
- https://www.nasa.gov/feature/nasa-s-first-flight-with-crew-important-step-on-long-term-return-to-the-moon-missions-to