×

5 บทสรุปที่น่าสนใจ ในวันที่จีนใกล้ชิดซาอุดีอาระเบีย (แทนพันธมิตรเก่าอย่างสหรัฐฯ)

11.12.2022
  • LOADING...

หลังจากเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ G20 ที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย และการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC ที่ประเทศไทย เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้นำจีนยังคงเดินทางเยือนต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเพิ่งจะเดินทางเยือนกรุงริยาด เมืองหลวงของซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 7-9 ธันวาคมที่ผ่านมา 

 

นอกจากจะเป็นการเดินทางเยือน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างจีนและซาอุดีอาระเบียแล้ว ในโอกาสนี้ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนยังได้เข้าร่วมการประชุมคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (GCC) ครั้งที่ 43 ที่จัดขึ้นในกรุงริยาด เพื่อขยายความร่วมมือและขอบเขตการเป็นหุ้นส่วนในมิติต่างๆ กับบรรดาประเทศแถบอ่าวอาหรับอีกด้วย

 

นี่คือ 5 บทสรุปที่น่าสนใจจากการเดินทางเยือนซาอุดีอาระเบียของผู้นำจีนในครั้งนี้

 

1. นโยบายส่วนใหญ่ของจีนและซาอุดีอาระเบียมีความสอดคล้องกัน

 

ผู้นำทั้งสองประเทศได้ออกแถลงการณ์ร่วมกันในหลากหลายประเด็น และให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกันในมิติต่างๆ อย่างแนบแน่นยิ่งขึ้น ตั้งแต่ความร่วมมือเกี่ยวกับงานวิจัยด้านอวกาศ เศรษฐกิจดิจิทัล โครงสร้างขั้นพื้นฐาน ตลอดจนโครงการนิวเคลียร์ในอิหร่าน สงครามในเยเมนและสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้งจีนและซาอุดีอาระเบียต่างมีจุดยืนที่สอดคล้องกันในประเด็นเหล่านี้ อีกทั้งยังเห็นพ้องที่จะใช้ประโยชน์จากพลังงานนิวเคลียร์ในเชิงสันติและร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และนวัตกรรมด้านพลังงาน

 

โดย โจนาธาน ฟูลตัน ธิงก์แทงก์ จากกลุ่ม Atlantic Council ของสหรัฐฯ ระบุว่า สิ่งที่ผู้นำทั้งสองประเทศกำลังทำ สะท้อนให้เห็นว่าประเด็นที่พวกเขาสนใจหรือให้ความสำคัญต่างมีความเกี่ยวพันกับพวกเขาทั้งในมิติระดับชาติและระดับภูมิภาค พวกเขาต่างมองกันและกันในฐานะหุ้นส่วนที่สำคัญและมีความใกล้ชิดกันจริงๆ ถ้าถามว่าพวกเขามีความเห็นสอดคล้องกันในทุกประเด็นหรือไม่ คำตอบอาจจะเป็นไม่ แต่พวกเขาก็ใกล้ชิดกันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้แล้วในขณะนี้ 

 

2. ทั้งจีนและซาอุดีอาระเบียต่างมีแผนการใหญ่ด้านความมั่นคงและน้ำมัน

 

ข้อตกลงที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างซาอุดีอาระเบียและสหรัฐฯ ตามที่ทราบกันดีคือ ซาอุดีอาระเบียจะเป็นผู้ผลิตและจัดหาน้ำมันรายใหญ่ให้แก่สหรัฐฯ ในขณะที่สหรัฐฯ เองก็จะมอบความมั่นคงทางด้านการทหารและสนับสนุนซาอุดีอาระเบียรับมือกับความท้าทายภายในภูมิภาค โดยเฉพาะ อิหร่านและสงครามตัวแทนทั้งหลายในแถบตะวันออกกลาง ก่อนที่ซาอุดีอาระเบียจะส่งสัญญาณ ต้องการที่จะก้าวออกจากข้อตกลงดั้งเดิมนี้ โดยอ้างว่าการกระจายความหลากหลายถือเป็นสิ่งสำคัญต่อวิสัยทัศน์ของซาอุดีอาระเบียในช่วงเวลานี้ 

 

ขณะที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงที่เดินทางมาเข้าร่วมการประชุม GCC ที่กรุงริยาดได้กล่าวว่า ทางรัฐบาลจีนต้องการที่จะพัฒนาความร่วมมือทางด้านพลังงานกับกลุ่มประเทศแถบรัฐอาหรับให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น หลังจากที่จีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ที่นำเข้าน้ำมันดิบจากประเทศแถบนี้อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงเพิ่มการนำเข้าก๊าซธรรมชาติในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาอีกด้วย โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านน้ำมันของซาอุดีอาระเบียอย่าง Aramco และ Shandong Energy Group ของจีน ได้ประกาศว่าพวกเขากำลังสำรวจหาความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือกันในกระบวนการกลั่นปิโตรเลียมเชิงบูรณาการ

 

นอกจากนี้จีนยังมีความกระตือรือร้นที่จะร่วมมือด้านความมั่นคงกับซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นสาขาสำคัญที่ครั้งหนึ่งเคยสงวนไว้ให้กับพันธมิตรตะวันตกที่ใกล้ชิดอย่างสหรัฐอเมริกา โดยมีบริบทแวดล้อมทางการเมืองภายในภูมิภาคที่ทำให้ซาอุดีอาระเบียและประเทศเพื่อนบ้านในรัฐอ่าวอาหรับกังวลใจอย่างเช่น ภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นจากอิหร่าน และการลดบทบาทด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ ในภาคภูมินี้ลง เป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ทั้งสองประเทศเห็นโอกาสในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกันมากยิ่งขึ้น 

 

3. การไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกันถือเป็นกฎเหล็กที่ใช้ร่วมกัน 

 

หนึ่งในแนวคิดที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์และเป็นกฎเหล็กของจีนคือ การไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกัน โดยเป็นหลักการที่พัฒนามาจากหลัก 5 ประการของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างจีน อินเดีย และเมียนมาในปี 1954 ก่อนที่จะได้รับการยอมรับจากหลายประเทศที่ไม่ประสงค์จะเลือกข้างระหว่างสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพโซเวียตในช่วงยุคสงครามเย็น

 

ซาอุดีอาระเบียพยายามที่จะนำแนวคิดนี้มาใช้ในเชิงวาทศิลป์ ควบคู่ไปกับการดำเนินความสัมพันธ์กับพันธมิตรตะวันตกดั้งเดิม รวมถึงพันธมิตรในตะวันออกและรัสเซียไปพร้อมๆ กัน ซึ่งในแง่หนึ่ง การไม่แทรกแซงกิจการภายในระหว่างกันอาจหมายถึง การไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายภายในประเทศหรือวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของกันและกัน

 

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอเมริกา และมหาอำนาจตะวันตกอื่นๆ ซับซ้อนมากยิ่งขึ้นอาจมาจากการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายภายในประเทศและต่างประเทศซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะกรณีข่าวการเสียชีวิตของ จามาล คาช็อกกี คอลัมนิสต์ของ The Washington Post สงครามเยเมน รวมถึงนโยบายด้านพลังงานของซาอุดีอาระเบีย หรือแม้แต่มุมมองของนักวิชาการสหรัฐฯ ที่ชี้ว่า ทางการซาอุดีอาระเบียสนับสนุนรัสเซียในการทำสงครามกับยูเครน 

 

ขณะที่จีนเองก็มักจะไม่พอใจที่สื่อตะวันตกมักรายงานข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งกรณีไต้หวัน รวมถึงประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษชนต่อชาวอุยกูร์และชาติพันธ์ุอื่นๆ ในเขตซินเจียงของจีน ซึ่งจุดยืนที่เหมือนกันนี้ของทั้งจีนและซาอุดีอาระเบียก็ยิ่งทำให้ทั้งสองประเทศใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นไปอีก

 

4. ทั้งสองประเทศยังไม่ละทิ้ง ‘เปโตรดอลลาร์’ ในช่วงเวลานี้

 

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เรียกร้องให้คู่ค้าน้ำมันในแถบอ่าวอาหรับใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มการขายน้ำมันและก๊าซโดยใช้สกุลเงินหยวนของจีนอย่าง Shanghai Petroleum and Gas Exchange มากยิ่งขึ้น ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะยิ่งทำให้จีนเข้าใกล้เป้าหมายที่จะทำให้ค่าเงินของตนแข็งค่ามากยิ่งขึ้นในระดับสากลและทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างมาก จนอาจส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ 

 

ในขณะที่หลายฝ่ายกำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์ว่า ทั้งทางการจีนและซาอุดีอาระเบียกำลังจะละทิ้ง ‘เปโตรดอลลาร์’ หรือการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมาเป็นตัวกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนน้ำมันหรือไม่ โดยนักวิเคราะห์มองว่า การที่จะละทิ้งเปโตรดอลลาร์นั้น อาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในช่วงท้ายสุด เนื่องจากจีนเป็นลูกค้ารายใหญ่ของซาอุดีอาระเบีย แต่คาดว่าสิ่งนี้จะยังไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้

 

5. ทางการสหรัฐฯ อาจไม่สบายใจต่อสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ของจีนและซาอุดีอาระเบียพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง การเปิดกว้างและเปิดใจเพื่อค้นหาเพื่อนใหม่ของซาอุดีอาระเบียนี้ อาจทำให้พันธมิตรเก่าแก่กว่า 8 ทศวรรษอย่างสหรัฐอเมริกาเริ่มรู้สึกเป็นกังวล เกี่ยวกับการขยายขอบเขตอำนาจและอิทธิพลของจีนในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง

 

โดยซาอุดีอาระเบียปฏิเสธแนวคิดของการแบ่งขั้วหรือการเลือกข้างบนเวทีการเมืองโลก พร้อมทั้งยังแสดงให้เห็นว่า ซาอุดีอาระเบียสามารถพัฒนาและกระชับความสัมพันธ์เชิงลึกกับจีนได้ โดยปราศจากการแทรกแซงหรือวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งจุดนี้ทำให้พันธมิตรตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ไม่สบายใจมาอย่างยาวนาน 

 

ขณะที่ เจ้าชายไฟซาล บิน ฟาร์ฮาน อัล ซาอุด รัฐมนตรีต่างประเทศซาอุดีอาระเบียได้เน้นย้ำว่า “ซาอุดีอาระเบียให้ความสำคัญกับความร่วมมือกับทุกฝ่าย การแข่งขันเป็นสิ่งที่ดี และเราอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันสูง” พร้อมทั้งประกาศเดินหน้าพัฒนาความสัมพันธ์และความร่วมมือกับฝ่ายต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ 

 

ภาพ: Royal Court of Saudi Arabia / Anadolu Agency via Getty Images

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X