นับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด ทุกองค์กรล้วนเจอกับการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ วัฒนธรรมองค์กร ไปจนถึงวิธีการทำงาน
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกำลังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ทั่วโลก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการช่วยพัฒนาบุคลากรในองค์กร เพื่อให้พร้อมกับการ Transformation องค์กร ให้ก้าวทันโลกใบเดิมที่ไม่มีอะไรเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือความท้าทาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จะให้สร้างตัวในเศรษฐกิจแบบนี้? ‘ปล่อยให้เน่าไป’ แนวคิดล่าสุดของหนุ่มสาวชาวจีนที่ขอยอมแพ้กับชีวิต
- ทำงานไม่หยุด เพราะ ‘คิดว่าไม่มีใครแทนตัวเองได้’ งานวิจัยค้นพบ นี่แหละสาเหตุหลักที่คน Gen Y หยุดทำงานไม่ได้สักที!
- ทำงานจนตาย เดี๋ยวไม่ได้ใช้เงิน! รับเงินเดือนน้อยลง แต่ได้เวลาชีวิตมากขึ้น เทรนด์ใหม่มาแรงในหมู่พนักงานทั่วโลก
เพื่อเป็นทางลัดให้ HR ที่กำลังรับมือกับการ Transformation ที่เกิดขึ้นไวแบบไม่มีใครคาดคิด เมื่อเร็วๆ นี้ SEAC ผู้นำด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์กร เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้จัดงานเสวนาหัวข้อ ‘ความสำเร็จของการปรับเปลี่ยนธุรกิจ! บทบาท HR ในปี 2023’ พร้อมเชิญ 3 ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญด้าน HR จากองค์กรชั้นนำของประเทศ ได้แก่ กลุ่มออนิกซ์ ฮอสพิทาลิตี้, เอสซีจี เคมิคอลส์ และเอไอเอ ประเทศไทย มาร่วมถอดบทเรียนนอกตำรา ซึ่งสามารถสกัดออกมาเป็น 5 บทเรียนที่สามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรต่างๆ
1. Look into the Mirror
ถ้าหลังจากวิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลาย แต่องค์กรของเรายังทำทุกอย่างเหมือนเดิม นั่นแปลว่าองค์กรของเราอาจต้องกลับมาส่องกระจกอีกครั้ง แล้วถามตัวเองว่า เราพอใจกับสิ่งที่เราเป็นวันนี้แล้วหรือยัง เพราะหลายครั้งที่เรายังไม่เห็นถึงความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง อาจเพราะยังส่องกระจกไม่ชัด เลยไม่รู้ว่าต้องปรับอะไรบ้าง
เมื่อเห็นถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงแล้ว ภารกิจสำคัญของ HR คือการปรับเลนส์หรือมายด์เซ็ตของคนในองค์กร ตั้งแต่ผู้บริหารไปจนถึงพนักงาน ให้เห็นถึงความจำเป็นของการ Transformation ซึ่งเป็นสิ่งที่องค์กรชั้นนำระดับท็อปของโลกต่างให้ความสำคัญ
เพราะมองว่าจากนี้ “เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เรากำลังอยู่กับความไม่แน่นอน จึงต้องปรับตัวให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงสำหรับมองหาโอกาสใหม่ๆ โดยมี HR เป็นตัวกลาง ช่วยให้ทุกฝ่ายเห็นภาพตรงกันและช่วยองค์กรสร้างทาเลนต์ด้วยการ UpSkill หรือ Reskill พนักงาน”
ดังนั้นต่อให้ตำแหน่งหรือบทบาทการทำงานจะเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือทักษะในการทำงานทุกตำแหน่ง จากในอดีตแต่ละทักษะอาจใช้ได้นานถึง 15-20 ปี แต่ตอนนี้ถ้าจะก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลกอาจต้องปรับกันทุก 3-4 ปี
2. ทำงานแบบกลุ่มย่อย
ตอนนี้แทบไม่มีองค์กรระดับโลกที่เชื่ออีกแล้วว่า องค์กรจะสามารถแก้ปัญหาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นได้สุดทางหากไม่ได้ความร่วมมือร่วมใจของคนในองค์กร นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมองค์กรหลายแห่งเริ่มหันมาสนใจการทำงานแบบ Tribe และ Scrum หรือที่บ้าน
เราคุ้นหูกับคำว่า ‘ลงแขก’ หรือการรวมพลพนักงานที่อาจจะอยู่คนละสายงานมาลงแขกกันทำงานแบบไม่ยึดติดตำแหน่งหรือบทบาทเดิม แต่ทำเพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างร่วมกัน มีวิธีทำงานที่ยืดหยุ่น Agile สูง เน้นการลองผิดลองถูก (Test and Learn) โดยที่ยังอยู่บนพื้นฐานความเสี่ยงที่องค์กรรับได้ เพื่อสร้างการเรียนรู้และทำให้องค์กรสามารถตอบโจทย์เป้าหมายที่วางไว้ได้เร็วขึ้น
3. Start with why
การ Transformation องค์กรที่ดีต้องตอบให้ได้ก่อนว่าเราจะเปลี่ยนแปลงเพราะอะไร ซึ่งแต่ละองค์กรอาจมีคำตอบที่แตกต่างกัน แต่หัวใจสำคัญคือการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต้องไม่ใช่เพื่อตอบโจทย์คนในองค์กร แต่ต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และนำไปสู่การตอบโจทย์โอกาสใหม่ๆ ในการทำธุรกิจ
4. HR ต้องเป็นนักฟังและนักสื่อสารที่ดี
รู้หรือไม่ว่าเบื้องหลังความสำเร็จในการ Transformation ของบริษัทเกมที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือการที่ฝ่าย HR เลือกที่จะใช้เวลาถึง 7 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อออกไปพูดคุยและทำความเข้าใจกับพนักงานเกี่ยวกับการ Transformation ซึ่งได้ผลลัพธ์ดีกว่าการใช้วิธีนั่งส่งอีเมลหรือจัดทาวน์ฮอลล์ เพราะการ Transformation องค์กร ก็เหมือนกับการพาองค์กรเดินทางสู่ดินแดนใหม่ (Journey to New Land)
หากจะทำให้ทุกคนออกเดินทางไปด้วยกันอย่างราบรื่น HR ก็ต้องพร้อมรับฟังความคิดเห็นของพนักงานในองค์กร ที่สำคัญรับฟังแล้ว HR ยังต้องสามารถจับประเด็น เพื่อนำไปต่อยอดในการสื่อสารหรือวางกลยุทธ์ เพื่อเข้าไปช่วยแก้ปัญหาให้พนักงานหรือฝ่ายต่างๆ ได้อย่างตรงจุด
5. ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) สำคัญกว่าความเก่ง (IQ)
เพราะในทุกเส้นทางไปสู่การเปลี่ยนแปลงย่อมเต็มไปด้วยอุปสรรค ซึ่งการจะข้ามผ่านไปได้ HR ต้องมี EQ ที่พร้อมทลายขีดจำกัดต่างๆ เพราะต่อให้จะมีเป้าหมายและกลยุทธ์ที่วางแผนมาดี ชัดเจนแค่ไหน แต่ถึงเวลาทำงานจริงทุกอย่างก็อาจไม่เป็นตามใจ ดังนั้น HR ต้องพร้อมยืดหยุ่นไปตามสถานการณ์ ต่อให้บางครั้งเส้นทางไปสู่เป้าหมายอาจจะต้องเดินอ้อมหรือเปลี่ยนจากเส้นทางที่คิดไว้ จนทำให้ต้องเสียเวลาไปบ้างก็ต้องยืดหยุ่น หากสุดท้ายแล้วเส้นทางใหม่นี้ยังสามารถพาไปถึงเป้าหมายที่วางไว้
นี่ก็คือ 5 บทบาทของ HR 2023 ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะ HR แห่งอนาคต ไม่ได้มีหน้าที่แค่จัดหาพนักงานหรือดูแลสวัสดิการของพนักงานเท่านั้น แต่ HR ที่องค์กรคาดหวังคือ HR ที่สามารถช่วยองค์กรพิชิตภารกิจ Transformation เพื่ออยู่รอดในโลกธุรกิจที่เต็มไปด้วยไม่แน่นอนได้อย่างยั่งยืนนั่นเอง