แม้จะเปลี่ยนปีปฏิทินมาได้สักระยะ แต่สิ่งที่นักกลยุทธ์การลงทุนอย่างผมยังคงถูกถามอย่างต่อเนื่องกลับเป็นเรื่องเดิมเรื่องเดียวว่า
“ธีมลงทุนหลักของปี 2023 คืออะไรกันแน่?”
ปกติแล้วคำตอบของคำถามนี้ไม่ยาก แต่สำหรับปีนี้ธีมลงทุนดูจะเกิดขึ้นหรือดับลงตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง โดยไล่ตั้งแต่
- จีนปิดประเทศ พลิกมาเปิดประเทศ (China Reopening)
- คาดการณ์เศรษฐกิจ จากถดถอย พลิกเป็นไม่ถดถอย (No Landing)
- ความหวังของตลาดว่าธนาคารกลางต้องลดดอกเบี้ย กลายเป็นคงดอกเบี้ยสูง (Higher for Longer) ก็รับได้
นอกจากนี้รถไฟฟ้า (EV) หรือปัญญาประดิษฐ์ (ChatGPT) ก็ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง
การจะบอกว่าธีมไหนคือธีมหลักดูจะไม่มีคำตอบที่ชัดเจน
อย่างไรก็ดี ในปีที่ความไม่แน่นอนยังปกคลุมตลาด การกระจายการลงทุนให้หลากหลายธีมเพื่อลดความเสี่ยง อาจดีกว่าการพุ่งเป้าไปที่แค่บางธีมก็เป็นได้
ดังนั้น นอกจาก 5 ธีมข้างต้นที่ตลาดคุ้นกันแล้ว ผมอยากเสนออีก ‘5 ธีมนอกกระแส’ ที่ผลงานเด่นในช่วงต้นปี มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดี มาแชร์ให้พวกเราคิด และกระจายการลงทุนได้มากขึ้นไปอีก
1. ธีม ‘ทางเลือก’ ของการลงทุนที่เพิ่มขึ้น
ตลาดมักใช้คำย่อว่า ‘From TINA to TARA’ หรือจาก There Is No Alternative ไปเป็น There Are Reasonable Alternatives
ล่าสุดในรายงาน Global Fund Manager Survey ของ Bank of America ยืนยันว่านักบริหารเงินทั่วโลกยกให้เงินสด สินค้าโภคภัณฑ์ และสินทรัพย์ทางเลือก เป็นสาม Assets ที่ต้องมีในปีนี้ เพราะด้วยดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ที่ใกล้แตะ 5.0% สภาพคล่องในระบบต้องออกจากสินทรัพย์หลักอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับนักลงทุนไทย ผมมองว่าโอกาสของ Alternative Assets อยู่ที่ ‘กองทุนอสังหาฝั่งเอเชีย’ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากดอกเบี้ยสหรัฐฯ ไม่มาก ไม่เสีย FX Hedging Cost แถมยังได้แรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน
2. ธีมลงทุนนอกสหรัฐฯ หรือ The Rest of World (ROW)
เราคุยกันไปในบทความเดือนก่อนหน้าว่า ROW หรือ ‘หุ้นนอกสหรัฐฯ ’ อาจเป็นได้ถึงการลงทุนแห่งทศวรรษ เช่นเดียวกับ BRICs ในช่วงปี 2000 หรือ FANGs ในช่วงทศวรรษ 2010
ดัชนี MSCI ACWI Excluding US ที่ทำผลงานได้ดีกว่า S&P 500 ต่อเนื่องมาตั้งแต่พฤศจิกายนปีที่แล้วเป็นเครื่องยืนยันผลงานธีม ROW ได้อย่างดี
แม้ระยะสั้นอาจเห็นหุ้นจีนกลับตัว แต่ผมเชื่อว่าการปรับฐานเกิดจากการพุ่งขึ้นแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่วนที่อื่นของโลกจะยิ่งเห็นโอกาสชัดเจนขึ้นเมื่อใดที่ Fed หยุดขึ้นดอกเบี้ย
นักลงทุนสามารถจับตาธีม ROW ทั้ง จีน ยุโรป ญี่ปุ่น และ EM ไปพร้อมกันได้
3. ธีมเงินเฟ้อสูง
เป็นหนึ่งในธีมที่มีโอกาสสร้างเซอร์ไพรส์ได้ตลอดปี เพราะแรงสนับสนุนหลักมีทั้งจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ดีกว่าคาด Deglobalization แรงงานที่มีอำนาจต่อรอง และการปรับ Supply Chain ทั่วโลก
ที่ธีมนี้ไม่เด่นเท่าที่ควร ผมเชื่อว่าเกิดจากการที่นักลงทุนในตลาดมีอายุเฉลี่ยราว 45 ปี ไม่กี่คนที่เคยผ่านช่วงเงินเฟ้อสูง นอกจากนี้ ผลกระทบของเงินเฟ้อกับการลงทุนปัจจุบันก็ไม่ชัดเจนว่าจะบวกหรือลบ กับสินทรัพย์หรืออุตสาหกรรมไหนเสมอไป
อย่างไรก็ดี เราสามารถใช้ประโยชน์จากธีมเงินเฟ้อด้วยการ ‘จับจังหวะลงทุน’ เพราะเงินเฟ้อสูงจะส่งผลให้การลดลงของเงินเฟ้อไม่เป็นเส้นตรง เป็นโอกาสเข้าลงทุน (หรือขายทำกำไร) เมื่อเงินเฟ้อปรับตัวสูง (หรือต่ำ) ผิดปกติ
4. ธีมความขัดแย้ง ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
เป็นธีมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา กระทบกับการลงทุนได้สองรูปแบบหลัก
หนึ่งคือการเมืองในประเทศ เป็นรูปแบบที่ต้องระวังมากที่สุด เพราะภาพเศรษฐกิจแทบทุกมุมโลกอยู่ในช่วงที่ความเหลื่อมล้ำสูง หนี้สูง และเงินเฟ้อสูง ทั้งสามสูง มักนำไปสู่ความไม่พอใจของประชาชน ตามมาด้วยความขัดแย้ง
กลุ่มที่สอง คือความขัดแย้งด้านการเมืองระหว่างประเทศ ในปี 2023 คาดว่าจะต้องเจอกับทั้งเรื่องการปรับ Supply Chains ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน Cyber ไปจนถึงอวกาศ ความเสี่ยงเหล่านี้กลับทิศยากแต่คาดเดาจังหวะลำบาก
สำหรับการลงทุนธีมความขัดแย้งจะทำให้สินทรัพย์ปลอดภัยเปลี่ยนสถานะ เงินเฟ้อสูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงด้านเครดิต เพิ่มความสำคัญของ ‘สินค้าโภคภัณฑ์’ ในพอร์ตลงทุน
5. Next-Generation Commerce and Finance
เป็นธีมลงทุนใต้เรดาร์ที่ทำผลงานดีกว่าธีมหลักของตลาดอย่างน่าประหลาด
ชัดเจนที่สุดคือ Crypto ที่ปรับตัวขึ้นแรงสวนทางกับสภาพคล่องที่ลดลง ตามมาด้วยกลุ่ม FinTech Online Retails และ E-Commerce ที่นอกจากจะกลับตัวได้ ยังสามารถรักษา Market Share ส่วนใหญ่ไว้ได้ แม้ธุรกิจต่างๆ กลับมาเปิดเป็นปกติแล้ว
ผมมองธีม Next-Generation Finance and Commerce อาจเป็น ‘ธีมม้ามืด’ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับตลาดไม่แพ้กับธีม AI ที่เห็นไปแล้วในช่วงต้นปี สามารถเข้าลงทุนได้ในจังหวะที่ตลาดปรับฐาน
ทั้งหมดคือ ‘5 ธีมนอกกระแส’ ที่คุ้มค่ากับจับตา
แต่ไม่ว่าธีมลงทุนของปี 2023 จะเป็นธีมไหน ผมชื่อว่ากลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนที่ไม่ได้ติดตามตลาดรายวัน ยังคงเป็นการลงทุนต่อเนื่องหรือ Stay Invest เพื่อสร้างผลตอบแทนระยะยาว
การปรับพอร์ตหรือเปลี่ยนธีมไม่ได้ทำได้แค่ ‘เน้น’ ธีมหลัก แต่สามารถ ‘กระจาย’ ไปในหลายๆ ธีม เพื่อลดความเสี่ยงในปีที่ความไม่แน่นอนปกคลุมตลาดเช่นปีนี้ครับ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คัด 10 หุ้นราคาต่ำ 10 บาท P/E ต่ำ ปันผลสูง ราคา YTD ยังบวก
- ทองคำ กำลังไหลเข้าเอเชีย ท่ามกลางดอกเบี้ยโลกที่กำลังขึ้นต่อเนื่อง
- เงินบาทอ่อนค่าทะลุ 37 บาทต่อดอลลาร์เป็นที่เรียบร้อย ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 16 ปี