×

5 สถานที่ชมความดิบอันงดงามของธรรมชาติ กับสิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อคุณเดินเข้าป่า

08.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins read
  • ป่าดงใหญ่ เป็นป่าสงวนที่ขึ้นเป็นป่ามรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทย เป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์แห่งสุดท้ายของจังหวัดบุรีรัมย์ และพบเลียงผา สัตว์ป่าสงวนที่ป่าแห่งนี้ด้วย
  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติโดยองค์การยูเนสโก มีพื้นที่ติดกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ทำให้เป็นป่าอนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • ค่างแว่น เป็นหนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองที่มีจำนวนลดน้อยลงจนเกือบสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกล่าไปเป็นอาหารและถูกจับไปขายเป็นสัตว์เลี้ยง ค่างแว่นเกิดใหม่จะมีสีส้มเหลืองสดใส และเปลี่ยนเป็นสีเทาเมื่ออายุ 3 เดือน

การท่องเที่ยวที่พาเราให้ไปใกล้ชิดธรรมชาติ ทำให้เรารู้สึกสงบ ผ่อนคลาย และทำให้รู้ว่า ณ ตอนนี้เรายังมีธรรมชาติและสัตว์ป่าที่สวยงามให้ยังคงอยู่โดยไม่ถูกรบกวนโดยวิถีของมนุษย์ และหากสิ่งเหล่านี้หายไป เราเองคงต้องรับผิดชอบในการมีส่วนทำให้ธรรมชาติที่สมบูรณ์และสวยงามของชนรุ่นหลังต้องสูญหายไป

 

ประเทศไทยมีอุทยานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่สวยงาม น่าสนใจ และยังคงความสมบูรณ์ได้อย่างมหัศจรรย์อยู่หลายแห่ง แต่จะมีที่ไหนบ้าง ลองไปดูกัน

 

Photo: facebook.com/kuiburinp.thailand

 

อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

อุทยานแห่งชาติกุยบุรีเป็นผืนป่าที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติ อุดมสมบูรณ์และชุกชุมไปด้วยสัตว์ป่าและพรรณไม้ อุทยานแห่งนี้มีสัตว์ป่าอนุรักษ์ เช่น เนื้อทราย, เสือโคร่ง, หมีควาย, กระทิง, พันธุ์นกหายาก และช้างป่าทั้งเล็กใหญ่ที่ใครๆ ก็อยากเจอ มีน้ำตกและเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่น่าสนใจ พร้อมเจ้าหน้าที่คอยนำทางตลอดทริปด้วย ใครอยากใกล้ชิดกับธรรมชาติก็มีจุดกางเต็นท์ให้นอนพักท่ามกลางบรรยากาศผืนป่าสดชื่น

ข้อมูลเพิ่มเติม: park.dnp.go.th

 

Photo: facebook.com/naturreducation

 

อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์

อุทยานแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย แก่งกระจานเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และหลากหลาย เป็นที่อยู่อาศัยของทั้งสัตว์บกและสัตว์น้ำ หากมาที่นี่จะได้ชมทั้งน้ำตก ถ้ำ และหน้าผา รวมถึงทะเลหมอกยามเช้า นอกจากนั้นแก่งกระจานยังมีสัตว์ป่าหายากหลายชนิด เช่น เลียงผา, วัวแดง, ช้างป่า และค่างแว่น (รู้จักไหม?) หนึ่งในสัตว์ป่าคุ้มครองซึ่งกำลังมีจำนวนลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากถูกล่าหรือจับไปขายเป็นสัตว์เลี้ยงอีกด้วยข้อมูลเพิ่มเติม: park.dnp.go.th

 

Photo: facebook.com/Thungyaieast

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี และตาก

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติที่รับความคุ้มครองโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) โดยเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำแควน้อยและแม่น้ำแควใหญ่ มีธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ทั้งป่าเขา ทำให้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้มีทั้งสัตว์ป่าหายาก สัตว์คุ้มครอง และสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หลายชนิด อย่างเช่น ช้างป่า, เสือชนิดต่างๆ, วัวกระทิง, ไก่ฟ้าหลังเทา ไปจนถึงเสือดำที่หาชมได้ยาก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้มีจุดเปิดให้เที่ยวชมโดยเฉพาะเพื่อไม่เป็นการรบกวนธรรมชาติและสัตว์ป่า

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:  thai.tourismthailand.org

 

Photo: facebook.com/เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่-จบุรีรัมย์

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จังหวัดบุรีรัมย์

ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ หรือป่าดงใหญ่ เป็นป่ามรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทย และเป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์แห่งสุดท้ายของจังหวัดบุรีรัมย์ ป่าดงใหญ่เป็นแหล่งอนุรักษ์ อยู่อาศัย และขยายพันธุ์สัตว์และพรรณไม้หลายชนิดด้วยกัน ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ผืนป่าแห่งนี้มีสัตว์หลายพันธุ์ รวมถึงเลียงผา หนึ่งในสัตว์สงวนของไทย ทั้งยังมีสัตว์สำคัญอื่นๆ เช่น วัวแดง, เสือ, หมี, กระจง, อีเห็น, หมาใน, แมวดาว ฯลฯ

ข้อมูลเพิ่มเติม: web3.dnp.go.th/wildlifenew/animConserveDepView.aspx?depId=7

 

Photo: www.facebook.com/ทุ่งกะมัง-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว-ทุ่งกะมัง จังหวัดชัยภูมิ

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งนี้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติหนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้มีการอนุรักษ์สัตว์ป่าและคืนสัตว์ป่าสู่ถิ่น ที่แห่งนี้เต็มไปด้วยเนื้อทราย กวาง และเก้ง สัตว์ป่าถูกปล่อยให้สืบพันธุ์และขยายพันธุ์เองตามธรรมชาติ ที่ราบทุ่งกะมังในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเป็นที่ราบทุ่งหญ้ากว้าง มีธรรมชาติและอากาศที่บริสุทธิ์งดงาม ป่าไม้ยังคงอุดมสมบูรณ์และเงียบสงบ ที่นี่ยังเป็นสถานที่พักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติชวนผ่อนคลายอีกด้วย

 

คำถามคือเราพอใจหรือ ถ้าทางเดียวที่ลูกหลานของเราจะได้รู้จักช้างคือผ่านหนังสือภาพ?

– เซอร์ เดวิด แอทเทนเบอเรอห์ นักบรรยายและนักธรรมชาติวิทยาชื่อดัง

 

เข้าป่าอย่างไรจึงไม่ใจร้ายต่อธรรมชาติ

แต่การเที่ยวชมธรรมชาติอย่างใกล้ชิดอาจส่งผลเสีย หากเราไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ เพราะการท่องเที่ยวป่าเป็นการรบกวนธรรมชาติอย่างหนึ่ง เนื่องจากอาจส่งผลต่อระบบนิเวศหรือวิถีชีวิตสัตว์ป่าได้ ซึ่งจากการพูดคุยกับ ศุภณัฐ เบญจดำรงกิต และ สมาน คุณความดี นักส่องสัตว์และนักชมธรรมชาติ ทั้งสองพูดตรงกันว่า “ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่มีและเชื่อฟังเจ้าหน้าที่” เพื่อความปลอดภัยของตัวเรา และเป็นการไม่รบกวนธรรมชาติหรือสัตว์ป่า

 

สมาน: การเดินป่าจะมีเส้นที่กำหนดให้เพื่อไม่เป็นการรบกวนสัตว์หรือธรรมชาติ การปฏิบัติตามกฎไม่ใช่เรื่องยากหากเรามีจิตสำนึก เพราะคนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าการอนุรักษ์คืออะไร หากอยากเข้าไปส่องสัตว์ต้องไม่เข้าไปรบกวนสัตว์ โดยให้อยู่ในที่มิดชิด กลมกลืนกับธรรมชาติ เตรียมตัวเองให้พร้อม และเฝ้ารอเพื่อถ่ายรูปสัตว์ป่า

 

ศุภณัฐ: การถ่ายรูปสัตว์ไม่ควรเข้าใกล้เกินไป ไม่ควรใช้แฟลช เพราะอาจทำให้สัตว์ตกใจแล้ววกเข้ามาทำร้ายเราได้ นอกจากนั้นการเดินป่าไม่ควรออกนอกเส้นทาง เพราะอาจเดินทับเส้นทางสัตว์ ที่ตรงนั้นอาจเป็นถิ่นหากินของเขา หรือเราอาจเจอสัตว์อันตรายเอาได้ นอกจากนั้นยังก็ต้องทำความเข้าใจว่าสัตว์ป่าเป็นสัตว์ที่อยู่ในธรรมชาติ ไม่เชื่องเหมือนสัตว์ทั่วไป จึงมีสัญชาตญาณดิบของสัตว์ป่าอย่างแท้จริง และหัวใจสำคัญของการเที่ยวชมธรรมชาติคือรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด

 

หรือภาพนี้จะเป็นเพียงอดีตอันขมขื่นของอนาคต?

 

ข้อห้ามในการเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโดยสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่ามีดังนี้

  • ไม่ให้อาหารสัตว์ป่า (No feeding wild animals)
  • ไม่ล่าสัตว์ป่า (No hunting)
  • ไม่เก็บสิ่งของธรรมชาติ (Do not take any objects from the forest)
  • ไม่ส่งเสียงดัง (No blaring)
  • ไม่ตัดต้นไม้ (Do not cut trees)
  • ไม่เผาป่า (Do not burn forest)
  • ไม่เล่นการพนัน (Do not gamble)
  • ไม่นำสัตว์เลี้ยงเข้าป่า (Do not bring pets in the forest)
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (Do not drink alcoholic beverages)
  • ไม่ทิ้งขยะ (No littering)
  • ไม่นำสารเคมีอันตรายเข้าป่า (Chemicals are prohibited)
  • ไม่ขับรถเร็วเกินกำหนด (Speed limit)

 

ท้ายสุดแล้ว การอนุรักษ์ผืนป่าหาใช่หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้เพียงเท่านั้น แต่เป็นพวกเราทุกคนที่ต้องร่วมมือในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันเพื่อรักษาสมบัติของชาติให้สืบไปอย่างยั่งยืน

 

มิเช่นนั้นอาจเหลือเพียงรูปถ่ายและเรื่องเล่าดุจตำนานอันไกลโพ้นจากลมปากที่คงอยู่ให้ลูกหลานได้นึกตาม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X