×

5 ความเชื่อเรื่องลี้ลับที่ถ่ายทอดผ่านละครและภาพยนตร์จนคนดูต้องเสียวสันหลัง

24.10.2018
  • LOADING...

‘ไม่เชื่ออย่าลบหลู่’ คำนี้คงคุ้นหูใครหลายคนไม่น้อย และเราจะได้ยินคำพูดนี้ตามสื่อโทรทัศน์กันอยู่บ่อยๆ ผ่านฉากที่เกี่ยวกับความลี้ลับ ไสยศาสตร์ หรือพิธีกรรมต่างๆ ทางศาสนาจนกลายเป็นภาพจำของคนไทยตลอดมา ซึ่งความเชื่อเหล่านี้ได้รับการตีแผ่ออกมามากมายหลายรูปแบบ ทั้งรายการเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับ หรือแม้กระทั่งละครและภาพยนตร์สยองขวัญ

 

เราจึงขอนำทุกท่านเข้าสู่ 5 ความเชื่อที่กลายมาเป็นละครหรือภาพยนตร์สุดหลอนต่อไปนี้

 

 

 

ดีดน้ำมันพรายให้หลงรัก

ผีสามบาท ตอน น้ำมันพราย (2544)

กำกับโดย พิสุทธิ์ แพร่แสงเอี่ยม และออกไซด์ แปง

 

น้ำมันพราย คือเรื่องราวของไสยศาสตร์เชิงชู้สาวที่คนไทยรู้จักกันเป็นอย่างดี เราไม่รู้ว่าน้ำมันพรายที่แท้จริงเป็นอย่างไร แต่ที่ได้ยินกันมาจากรุ่นสู่รุ่นคือเป็นน้ำมันที่ได้มาจากการใช้เทียนลนคางหญิงตายทั้งกลม โดยผู้ที่จะทำได้ต้องมีอาคมแก่กล้า และเมื่อใครโดนน้ำมันพรายก็จะตกอยู่ในภวังค์ ทั้งรักทั้งหลงคนที่ทำของใส่

 

แต่กระนั้นน้ำมันพรายก็เป็นของอันตราย เพราะมันเป็นความลุ่มหลงที่ไม่ได้เกิดจากความรัก และในภาพยนตร์ ผีสามบาท ก็ทำให้เราเห็นมุมมองที่น่ากลัว และสุดท้ายคนที่ใช้นั่นแหละที่กลายเป็นเหยี่อเสียเอง

 

น้ำมันพราย เล่าเรื่องของ แพน หญิงสาวที่ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวเดียวดาย เธอตามหาความรักจากชายที่จะพาเธอไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า จนเธอได้พบกับทางลัดที่ทำให้ผู้ชายตกเป็นทาสของเธอได้ เมื่อมีเพื่อนแนะนำให้เธอใช้น้ำมันพรายที่ได้มาจากหมอผี แพนใช้น้ำมันพรายทำเสน่ห์ให้ผู้ชายที่เคยมองผ่านเธอกลับมาหลงใหลหัวปักหัวปำ โดยไม่ได้รู้เลยว่ายิ่งใช้มัน เธอเองที่จะตกเป็นทาส และสุดท้ายอาจทำให้เธอไม่มีโอกาสได้แก้ตัว

 

 

 

นอนโลงสะเดาะเคราะห์ต่ออายุ

โลงต่อตาย (2551)

กำกับและเขียนบทโดย เอกชัย เอื้อครองธรรม

 

ทุกๆ ปีเราจะเห็นข่าวงานนอนโลงศพสะเดาะเคราะห์ที่จัดเป็นประจำ ซึ่งเป็นความเชื่อส่วนตัว และสุดท้ายข่าวนี้ก็ไปอยู่ในความสนใจของผู้กำกับ เอกชัย เอื้อครองธรรม ที่มีประสบการณ์ร่วมในวัยเด็ก เพราะเขาเคยเล่นซ่อนหากับเพื่อนที่บ้านขายโลงศพ พอได้เห็นข่าวการนอนโลงสะเดาะเคราะห์หมู่ที่โคราชรวมกับข่าวเหนือธรรมชาติที่เกี่ยวกับโลงศพอีกหลายครั้งหลังจากนั้น เขาจึงเริ่มสืบค้นข้อมูลและลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์คนที่ร่วมงานนอนโลงศพสะเดาะเคราะห์จนได้ออกมาเป็นภาพยนตร์ โลงต่อตาย

 

โลงต่อตาย เป็นภาพยนตร์ร่วมทุนสร้าง 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฮ่องกง และสิงคโปร์ เล่าเรื่องของ คริส สถาปนิกหนุ่มที่กลัวที่แคบ เขาเข้าพิธีนอนโลงสะเดาะเคราะห์เพื่อให้แฟนสาวที่อยู่ในอาการโคม่ามีชีวิตอยู่ต่อไปได้ และ ซู นักโภชนาการสาวที่เป็นมะเร็งปอดระยะสุดท้าย เธอหนีมาประเทศไทยและลองร่วมพิธีสะเดาะเคราะห์ หลังจากนั้นแฟนสาวของคริสก็หายจากอาการโคม่าอย่างไม่น่าเชื่อ แต่ก็ถูกตามหลอกหลอนโดยผีแม่ลูกอ่อน ส่วนซูก็หายจากโรคมะเร็ง และพบว่าแฟนหนุ่มของตัวเองเสียชีวิตหลังจากนั้น

 

สุดท้ายภาพยนตร์ก็ตอบโจทย์ได้ว่ากฎแห่งกรรมคือสิ่งที่เจ้าของต้องรับด้วยตัวเอง และแม้จะต่ออายุขัยด้วยพิธีกรรมอะไรก็ตามก็ล้วนต้องมีอีกหนึ่งชีวิตเพื่อแลกกับสิ่งที่เราได้มาเช่นกัน

 

 



เคาะจานเรียกผี

คนเห็นผี 10 (2548)

กำกับโดย ออกไซด์ แปง และแดนนี่ แปง

 

ตอนเด็กๆ เราอาจเคยได้ยินผู้ใหญ่บอกว่า อย่าเคาะจาน เดี๋ยวผีมา แต่พอโตมาแล้วก็เริ่มไม่แน่ใจว่าเป็นอุบายหลอกให้เด็กกินข้าวเรียบร้อยตามมารยาทบนโต๊ะอาหารหรือเปล่า และที่แน่ๆ ความเชื่อดังกล่าวไม่ใช่แค่ในบ้านเรา แต่ยังสะท้อนผ่านภาพยนตร์ที่กำกับโดยสองพี่น้องตระกูลแปงที่เกิดและเติบโตในฮ่องกงด้วยเช่นกัน

 

คนเห็นผี 10 เล่าเรื่องของนักท่องเที่ยวชาวจีน 5 คนที่เดินทางมาเมืองไทยเพื่อเสาะหาวิธีทำให้เห็นผีผ่านหนังสือเล่มหนึ่งที่บอกเล่าวิธีเห็นผี 10 ขั้นตอน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเคาะจานตรงทางสามแพร่งเพื่อเรียกวิญญาณมาร่วมวง จากนั้นก็เกิดเหตุสยองขวัญตามมาในกลุ่มเพื่อนทั้ง 5 คน และนับว่าเป็นภาพยนตร์สุดสยองอีกเรื่องในความทรงจำ

 

นอกเหนือจากการเคาะจานยังมีอีกหลายวิธีเห็นผีที่ปรากฏในหนัง ได้แก่ หวีผมหน้ากระจกตอนเที่ยงคืน, เล่นผีถ้วยแก้ว, กางร่มในที่ร่ม, ใส่เสื้อผ้าของคนตายแล้วแกล้งตาย ฯลฯ

 

 

ตีสาม เวลาอาถรรพ์ที่ผีจะมา

ตีสาม คืน 3 (2557)

กำกับโดย พุฒิพงศ์ สายศรีแก้ว, กิรติ นาคอินทนนท์ และอิสรา นาดี

 

ตีสาม คืน 3 เล่าเรื่องความเชื่อว่าเวลาตีสามคือช่วงเวลาของวิญญาณและสิ่งลี้ลับ หรือแม้กระทั่งการปล่อยของไสยเวทย์ โดยเฉพาะในภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าถึงการปรากฏตัวของวิญญาณในคืนที่ 3 หลังจากเสียชีวิต ด้วยความเชื่อว่าเป็นเวลาที่คนเป็นกับคนตายอยู่ใกล้กันที่สุด

 

ที่ผ่านมาภาพยนตร​ไทยหลายเรื่องก็นำเวลาตีสามมาเล่นเป็นแกนหลัก ที่เห็นโดดเด่นที่สุดก็คือเรื่อง ตีสาม คืน 3 ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ความเชื่อในประเทศไทยเท่านั้น ช่วงเวลาตีสามยังเกี่ยวกับความเชื่อในวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น The Exorcism of Emily Rose ก็เป็นภาพยนตร์ที่ใช้เวลาตีสามมาเป็นแกนหลักของเรื่องราวเช่นกัน เล่าถึง เอมิลี่ ที่มักพบเจอเรื่องสยองขวัญทุกคืนในเวลาตีสาม จนสุดท้ายเธอยอมเข้าพิธีไล่ผีกับบาทหลวง และมันกลับเกิดอันตรายกับเธอถึงชีวิต สำหรับศาสนาคริสต์ ตีสามคือเวลาที่อ้างอิงจากการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูคริสต์ใน ค.ศ. 33

 

 

ทำร้ายพ่อแม่ ตายไปเป็นเปรต

เปรตวัดสุทัศน์ (2546)

กำกับโดย นนทนันท์ สังข์สวัสดิ์


ความเชื่อเรื่องเปรตที่สะท้อนผ่านละครเรื่องนี้ได้เค้าโครงจากตำนานที่เล่าขานต่อกันมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อเกิดโรคห่าจนผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทั้งเมืองเต็มไปด้วยซากศพจนไม่สามารถเผาได้ทัน เหล่าแร้งจึงมารุมทำลายซากศพ ขณะเดียวกันที่บริเวณวัดสุทัศน์ก็มีเรื่องเล่าว่าเปรตมักปรากฏกายในยามค่ำคืนจนกลายเป็นคำกล่าวที่เราคุ้นๆ หูกันว่า ‘แร้งวัดสระเกศ เปรตวัดสุทัศน์’

 

ละคร เปรตวัดสุทัศน์ เล่าเรื่องของ แสนเสน่ห์ ลูกสาวคนโตที่เอาแต่ใจ นิสัยเหี้ยมโหดแม้กระทั่งกับคนในครอบครัว สุดท้ายสิ่งที่เธอทำลงไประหว่างมีชีวิตส่งผลให้เธอมีจุดจบที่ทุกข์ทรมานและตายไปเป็นเปรต

 

นี่เป็นละครอีกเรื่องที่มีการสอนเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม และจริงๆ เปรตเกิดได้จากหลายการกระทำและมีหลายลำดับขั้นตามความผิดที่เคยสร้างไว้ แต่ที่เราถูกสอนต่อๆ กันมานั้นก็คือการทำร้ายพ่อแม่ การโกหกว่าร้ายผู้มีพระคุณ และเมื่อถึงคราวตายจะกลายเป็นเปรต ตามเนื้อเพลงประกอบละครที่ติดหูว่า “ปากจู๋เท่ารูเข็ม มือตีนโตเท่าใบตาล” ซึ่งความเชื่อเรื่องเปรตยังอยู่ในภาพยนตร์อีกหลายเรื่อง เช่น ห้าแพร่ง (ตอนหลาวชะโอน) และ อาปัติ

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising