×

‘ลาแล้วไม่ลาลับ’ 5 หนังจากชีวิตจริงที่ได้ฝากบางสิ่งไว้ให้โลกจดจำ

12.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins. Read
  • ออสการ์ ชินด์เลอร์ คือนักธุรกิจผู้เคยใช้ทักษะในการเจรจาต่อรองเพื่อผลประโยชน์ให้ตัวเอง แต่แล้ววันหนึ่งเขากลับใช้ทักษะนั้นเพื่อช่วยชีวิตผู้คนที่แทบไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับตัวเขา ถึงขนาดต้องสูญเสียทุกอย่างในชีวิตก็ยอม
  • ฌอง-โดมินิก โบบี ผู้เขียนหนังสือ The Diving Bell and the Butterfly ด้วยการกะพริบตามากกว่า 200,000 ครั้ง ได้บอกโลกนี้ว่าไม่มีพันธนาการใดที่จะกักขังหัวใจที่เข้มแข็งของมนุษย์เอาไว้ได้
  • ฟรีดา คาห์โล คือตัวอย่างของหญิงสาวผู้แข็งแกร่งที่ไม่ยอมให้อุปสรรคทั้งทางร่างกายและจิตใจมาหยุดยั้งให้เธอต่อสู้และสร้างสรรค์ผลงานออกมาให้โลกนี้รับรู้
  • เอมี ไวน์เฮาส์ คือสัญลักษณ์ของความบอบบางที่ถูกแสงไฟแห่งวงการบันเทิงโบยตีจนเธอต้องจากโลกนี้ไปอย่างน่าเสียดาย
  • สืบ นาคะเสถียร กับกระสุนนัดสุดท้ายกลางห้วยขาแข้ง ได้ย้ำเตือนให้ทุกคนรู้ว่าการต่อสู้กับความอยุติธรรมนั้นต้องดำเนินต่อไป แม้ว่าหนทางชนะจะมีเพียงน้อยนิดก็ตาม

           เราเชื่อว่าแรงบันดาลใจที่ดีสามารถส่งต่อถึงกันและกันได้

           เราเชื่อว่าแรงบันดาลใจที่ดีต้องไม่ใช่แค่คำพูดคมๆ ที่ถูกส่งผ่านกันไปมาอย่างเลื่อนลอย

           แต่แรงบันดาลใจที่ดีต้องมาจาก ‘ชีวิต’ และ ‘ประสบการณ์’ ที่ถูกเคี่ยวกรำอย่างเข้มงวดและกลั่นออกมาเป็นวิถีชีวิตที่บางครั้งก็เต็มไปด้วยความสุข บางครั้งก็ต้องพบเจอแต่ความเจ็บปวดรออยู่เบื้องหน้า

           ในวันที่แรงบันดาลใจเหือดหาย THE STANDARD คัดเลือกหนังชีวประวัติเข้มๆ จาก 5 บุคคลที่ผ่านชีวิตแบบข้นๆ มาอย่างโชกโชน เรื่องบางอย่างเราไม่จำเป็นต้องพบเจอด้วยตัวเองจึงจะเรียนรู้ เพียงแค่ศึกษาจากตัวอย่างทั้งในเรื่องที่ดีและไม่ดี ผ่านความเจ็บปวดที่บางคนก็ผ่านไปได้ บางคนก็ยอมพ่ายแพ้ แล้วนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทในชีวิตที่ทุกคนต้องเจอแตกต่างกันไป

           ชีวิตของทั้ง 5 คนที่เราพูดถึงอาจจะไม่ได้อ่านง่าย ย่อยง่ายเหมือนคำคมทางโลกโซเชียลมีเดียที่มีให้เห็นจนชินตา แต่เชื่อเถอะว่าสิ่งที่พวกเขาผ่านพบมานั้น ‘คม’ และสามารถเอามาใช้ได้จริง

 

 

  1. Schindler’s List (สตีเวน สปีลเบิร์ก, 1993)

           หลายๆ ครั้งที่ความสุขก็ไม่อาจซื้อมาได้ด้วยเงินทอง ชื่อเสียง และความสำเร็จ แต่มาจากเรื่องเล็กๆ อย่างการ ‘ช่วยชีวิต’ คนที่แทบจะเรียกว่าไม่เกี่ยวข้องกับตัวเองเลยแม้แต่น้อย

           บางที ออสการ์ ชินด์เลอร์ (รับบทโดย เลียม นีสัน) อาจจะนิยามความสุขของตัวเขาเอาไว้แบบนั้น และการช่วยเหลือของเขาก็ไม่ใช่แค่เจียดเงินเล็กๆ น้อยๆ ลงไปแบบตามมีตามเกิด แต่เขาช่วยด้วยการทุ่มทุกอย่างในชีวิตที่เขามี แม้การกระทำนั้นจะทำให้เขาต้องตกไปอยู่ในจุดที่ลำบากที่สุดในชีวิตก็ตาม

           ช่วงเริ่มต้นสงครามโลกครั้งที่สองได้เปิดโอกาสให้นักธุรกิจชาวเยอรมันที่มีทักษะพิเศษในการเจรจาต่อรอง ติดสินบนเพื่อหาลู่ทางสร้างโอกาสให้กับธุรกิจของตนเองได้อย่างชาญฉลาด เขาใช้ความสามารถนี้นำตัวเองไปสู่การเป็นเจ้าของธุรกิจผลิตภาชนะเพื่อส่งต่อให้กองทัพนาซี รวมทั้งเป็นเจ้าของ ‘แรงงานชาวยิว’ ที่เขาสามารถเกณฑ์มาใช้ประโยชน์เท่าไรก็ได้

 

 

           ตอนแรกชินด์เลอร์มองเห็นชาวยิวเป็นเพียงแรงงานราคาถูกที่สร้างกำไรให้เขาได้มหาศาล แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความโหดร้ายของกองทัพนาซีที่มีต่อเชลยสงครามได้ทำให้เขาเริ่มมองเห็นว่าชาวยิวเหล่านี้ไม่ใช่ใครที่ไหน นอกจาก ‘มนุษย์’ ที่ไม่มีอะไรแตกต่างจากตัวเขา

           ชินด์เลอร์เปลี่ยนจากการใช้ทักษะในการต่อรองเพื่อผลประโยชน์กลายเป็นติดสินบนเพื่อคัดแรงงานเด็กและผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือร่างกายไม่สมประกอบ (ซึ่งถูกมองว่าเป็นแรงงานไร้ประโยชน์) เข้ามาทำงานในโรงงานของเขา จนกระทั่งท้ายสงคราม ฮิตเลอร์มีคำสั่งให้สังหารชาวยิวในค่ายกักกันทั้งหมด ชินด์เลอร์จึงตัดสินใจทุ่มเงินและทรัพย์สินที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อซื้อชาวยิวที่เหลืออยู่ให้ได้ แม้เขาจะต้องกลายเป็นคนล้มละลายก็ตาม

 

 

           จากมหาเศรษฐีกลายเป็นวีรบุรุษ กลายเป็นคนล้มละลาย และสุดท้ายต้องกลายเป็นอาชญากรสงคราม เพราะเมื่อสงครามจบลง ถึงแม้เขาจะช่วยชาวยิวได้มากเท่าไร แต่เขาก็ยังมีตำแหน่งเป็นเจ้าของโรงงานที่ผลิตของใช้ให้กับกองทัพนาซีอยู่ดี เขาตัดสินใจหนีเอาตัวรอดโดยที่มีเพียงแหวนทองคำ (หลอมจากฟันปลอมของชาวยิวในค่าย) และรายชื่อชาวยิว 1,100 คนที่เขาเคยช่วยเอาไว้เพื่อยืนยันถึงความดีและเป็นรางวัลปลอบใจสำหรับวีรบุรุษผู้เสียสละเท่านั้น

           ถ้าเทียบกับผู้เคราะห์ร้ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากภัยสงคราม สิ่งที่ชินด์เลอร์ทำอาจเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่ภาพสุดท้ายในหนังที่ชาวยิวผู้รอดชีวิตพาลูกหลานมาวางหินบนหลุมศพของเพื่อรำลึกถึงสิ่งที่เขาทำเอาไว้ก็เป็นหนึ่งในฉากจบที่ทรงพลังที่สุดในโลกภาพยนตร์ เหมือนกับประโยคบนแหวนทองคำที่สลักคำไว้ว่า ‘Whoever saves one life, saves the world entire.’

           ชินด์เลอร์แสดงให้เห็นว่า แม้หนึ่งชีวิตที่เขาช่วยเหลืออาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบ แต่อย่างน้อยโลกของชาวยิวทุกคนในวันนั้นก็ยังดำรงต่อไปได้อย่างสวยงาม

 

 

  1. The Diving Bell and the Butterfly (จูเลียน ชนาเบล, 2007)

           จะเป็นอย่างไร ถ้าร่างกายของคุณถูกพันธนาการด้วยชุดนักประดาน้ำหนักอึ้งภายใต้น้ำลึกเหนือจินตนาการ แต่หัวใจของคุณยังมีอิสระและพร้อมที่จะโบยบินไปทุกที่ราวกับผีเสือ

           หากคุณจินตนาการไม่ออก ฌอง-โดมินิก โบบี (รับบทโดย แมทธิว อมัลริก) คือคนที่ให้คำตอบนี้ได้ชัดเจนที่สุด

 

 

           ในวัย 40 ปี ชีวิตของเขาเริ่มก้าวเข้าสู่จุดสูงสุด ได้เป็นบรรณาธิการนิตยสาร Elle ฝรั่งเศส เพียบพร้อมไปด้วยชื่อเสียง ความสำเร็จ ผู้คนให้ความนับถือ ชีวิตเต็มไปด้วยความสุขพร้อมกับภรรยาและลูกๆ ที่น่ารัก

           ผ่านไป 2 ปี เช้าวันที่  8 ธันวาคม 1995 ขณะที่เขากำลังทดสอบรถคันใหม่กับลูกชายอย่างสนุกสนาน เขาเริ่มรู้สึกว่าร่างกายไม่ตอบสนองต่อความคิด และเมื่อรู้สึกตัว เขาตื่นขึ้นมาบนเตียงที่เต็มไปด้วยเครื่องช่วยชีวิต ท่อช่วยหายใจ สายยางระเกะระกะ และร่างกายที่เคยแข็งแรง ควบคุมทุกอย่างได้อย่างใจ ตอนนี้เหลือเพียงแค่เปลือกตาข้างซ้ายเท่านั้นที่ยังเชื่อฟังคำสั่งของเขาอยู่

           ในขณะที่คนรอบข้างกำลังหาคำตอบว่าควรจะทำอย่างไรต่อไปดี หรือถ้าคนอื่นอยู่ในสถานการณ์แบบเขาคงคิดไม่ตกและคิดว่าชีวิตคงสิ้นหวังเพียงเท่านี้ แต่ฌอง-โดมินิก โบบี ไม่เคยลังเล ไม่เคยสิ้นหวัง สิ่งที่เขาเลือกทำคือการ ‘เขียนหนังสือ’ กิจกรรมที่คนร่างกายปกติและความคิดสมบูรณ์น้อยคนจะเลือกทำ แต่คนที่สภาพไม่ต่างจากผักกลับเลือกเขียนหนังสือด้วยการ ‘กะพริบตา’ เพื่อเล่าถึงความเจ็บปวดที่เขาต้องเผชิญ และแน่นอนว่าคนมองโลกในแง่ดีอย่างเขาเลือกเล่าถึงความเจ็บปวดนั้นด้วยอารมณ์ขัน

           เขาไม่มีกระดาษเอาไว้ร่างความคิดล่วงหน้า สิ่งที่ทำเขาได้คือจินตนาการถ้อยคำไว้ในอากาศ รอฟังผู้ช่วยค่อยๆ ท่องตัวอักษรทีละตัว และเลิกเปลือกตาขึ้นเมื่อถึงตัวอักษรที่เขาต้องการ เขาค่อยๆ ร้อยเรียงทีละตัวอักษรจนเป็นถ้อยคำ จนเป็นประโยค เป็นย่อหน้า และกลายเป็นหนังสือ The Diving Bell and the Butterfly ที่ประกอบไปด้วยตัวอักษรมากกว่า 200,000 ตัว

           นั่นหมายความว่ากว่าจะออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ได้ เขาต้องกะพริบตามากกว่า 200,000 ครั้ง!

 

 

           เวลาผ่านไป 2 ปี ผีเสื้อตัวนั้นได้สลัดชุดนักประดำน้ำออกโบยบินไปสู่แผงหนังสือ และโบยบินไปสู่หัวใจของคนทั้งโลก เพื่อบอกให้รู้ว่าไม่มีพันธนาการใดที่จะกักขังหัวใจที่เข้มแข็งของมนุษย์เอาไว้ได้

           และหลังจากนั้นเพียง 2 วัน ฌอง-โดมินิก โบบี ก็ได้โบยบินจากโลกนี้ไปอย่างสวยงามและตลอดกาล

 

 

  1. Frida (จูลี เทย์มอร์, 2002)

           ถ้าชีวิตของ ฌอง-โดมินิก โบบี คือที่สุดของแรงบันดาลใจฝ่ายชาย ด้านฝ่ายหญิงก็ควรยกให้กับ ฟรีดา คาห์โล (รับบทโดย ซัลมา ฮาเย็ก) ศิลปินแนวเซอร์เรียลริสม์ชาวเม็กซิกันที่ต้องต่อสู้กับความเจ็บปวดไม่ต่างจากผู้ประพันธ์หนังสือ The Diving Bell and the Butterfly

           ฟรีดาอาจจะโชคดีกว่าตรงที่ร่างกายของเธอไม่ได้รับผลกระทบมากเท่าฝ่ายชาย เพราะนอกจากประสบอุบัติเหตุจนกระดูกไหปลาร้าหัก กระดูกสันหลังหัก ขาขวาหัก 11 ท่อน ราวเหล็กทิ่มทะลุมดลูก ต้องผ่าตัดมากกว่า 35 ครั้ง และความเจ็บที่ตามรังควานเธอเป็นระยะ แต่อย่างน้อยเธอก็ยังสามารถขยับแขนและตวัดฝีแปรงวาดภาพได้ง่ายกว่าการกะพริบตาเขียนหนังสือ และเธอใช้เวลาระหว่างรักษาตัวค่อยๆ สร้างผลงานภาพเหมือนของตัวเองเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดที่ต้องเผชิญ และทุกภาพทรงพลังพอที่จะทำให้ผู้ชมรู้สึกเจ็บปวดไปพร้อมๆ กับเธอได้จริงๆ

 

 

           แต่ชีวิตไม่ได้หมายถึงเพียงร่างกาย ผลของความเจ็บปวดทางจิตใจนั้นต้องบอกว่าฟรีดาทำคะแนนนำฌอง-โดมินิก โบบี ไปหลายช่วงตัว เพราะเธอต้องประสบปัญหากับสามีจอมเจ้าชู้ (ถึงขนาดมีเซ็กซ์กับพี่สาวของฟรีดา) ซึ่งเธอเองก็ตอบโต้สามีของเธอได้อย่างเจ็บแสบ ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังถูกสังคมมองว่าเป็นตัวประหลาด ไม่มีใครยอมรับในตัวตนและผลงานของเธอ แต่เธอก็ยังบอกเล่าเรื่องราวและความรู้สึกผ่านภาพวาดของเธอต่อไปไม่เคยหยุด

           หากมองตามทฤษฎีศิลปะ ภาพวาดสีสันฉูดฉาด หัวกะโหลก ตับไตไส้พุง รวมทั้งองค์ประกอบหลายอย่างที่ไม่มีความเข้ากันทำให้เธอถูกจัดอยู่ในหมวดศิลปินแนวเซอร์เรียลลิสม์ (ศิลปะแนวเหนือจริง) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สำหรับฟรีดา เธอวาดภาพเหล่านั้นออกมาจาก ‘ความจริง’ จากความเจ็บปวด จากความรู้สึกจริงๆ ที่เธอต้องเจอ

 

 

           การต่อสู้กับความเจ็บปวดที่เธอต้องเจอมาตลอดชีวิต การตอบโต้ทุกอย่าง ภาพผลงานที่น้อยคนจะเปิดใจรับรู้ รวมทั้งหัวใจที่ไม่เคยยอมแพ้ต่ออุปสรรคที่ผ่านเข้ามา แม้ว่าร่างกายและจิตใจของเธอจะบอบช้ำแค่ไหน แต่มือเล็กๆ คู่นั้นยังคงแข็งแกร่งและสร้างสรรค์ผลงานต่อจนกระทั่งวันสุดท้ายของชีวิต

 

 

  1. Amy (อาซิฟ คาปาเดีย, 2015)

           ภาพยนตร์สารคดีที่จะพาไปรู้จักกับอีกหนึ่งศิลปินหญิงที่ถูกโลกทำร้าย (และเธอก็ทำร้ายตัวเอง) จนพ่ายแพ้และต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเสียดายด้วยวัยเพียง 27 ปี

           เอมี ไวน์เฮาส์ คือนักร้องหญิงที่เกิดมาพร้อมเสียงที่เหมือนได้รับมาจากสวรรค์ และเธอก็ใช้พรสวรรค์นั้นใส่ลงไปแนวเพลงแจ๊ซและโซลที่สั่นสะเทือนวงการดนตรีและโลกใบนี้ตั้งแต่อายุ 20 ปี  

           แรกเริ่มเดิมทีเธอเป็นสาวน้อยที่หลงใหลในการร้องเพลงและบอกเล่าเรื่องราวที่เธอรู้สึกออกมาให้โลกได้รับรู้ เธอเคยพูดเอาไว้ว่า “ฉันไม่คิดว่าจะรับมือกับการมีชื่อเสียงโด่งดังได้ ฉันต้องเสียสติและเป็นบ้าไปแน่ๆ ฉันแค่อยากร้องเพลงและให้คนจดจำเพลงที่ทำออกมาเท่านั้นเอง” แต่เมื่อโลกได้รู้จักกับเอมี นักร้องสาวเจ้าของรางวัลแกรมมี่ ปี 2007 จากเพลง Rehab แน่นอนว่าเขาไม่ได้อยากรู้จักเฉพาะเสียงที่เต็มไปด้วยพรสวรรค์ แต่มันหมายทุกมุมในชีวิต! ทั้งด้านสว่าง ด้านมืด ความรัก ความอ่อนแอ และความเปราะบาง ซึ่งในเวลาต่อมาสิ่งต่างๆ เหล่านี้เหมือนจะขยี้เธอจนเสียสติแบบที่เธอเคยบอกไว้จริงๆ

 

 

           ทุกครั้งที่แสงไฟสาดส่องเข้าใส่ มันได้นำพาเรื่องราวมากมายผ่านเข้ามาในชีวิต เธอได้เรียนรู้ที่จะมีความรักและผิดหวังกับมันไปพร้อมๆ กัน การถูกรังควานจากสื่อและปาปารัซซีที่พร้อมจะรุมขย้ำเธอด้วยแสงแฟลชทุกครั้งที่ปรากฏตัว รวมทั้งกลายเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์ชนิดที่ลืมไปแล้วว่านอกจากเสียงที่ไพเราะแล้ว เธอเองก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่ควรต้องมาเจอเรื่องอะไรแบบนี้

           เมื่อไม่สามารถรับมือกับสิ่งที่ตามมาพร้อมกับ ‘ชื่อเสียง’ ลงท้ายเอมีก็พาตัวเองไปหลบอยู่หลังแก้วเหล้าและควันสีเทาของยาเสพติดนานาชนิด เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยพยุงหัวจิตหัวใจของเธอให้ยังทรงตัวอยู่ได้บนโลกที่ตัวเองพบเจอ แต่ไม่เลย นับวันเธอยิ่งถลำลึกไปพร้อมกับสภาพจิตใจที่ค่อยๆ เสื่อมสลาย

           เธอพยายามบอกความรู้สึก ความเจ็บปวด สิ่งที่เธอต้องเผชิญผ่านบทเพลงของตัวเอง แน่นอนว่าทุกคนชื่นชมในผลงานเพลงของเธอ แต่จะมีสักกี่คนที่มองเห็นและเข้าใจความเจ็บปวดของเธอจากหัวใจได้จริงๆ

 

 

           เมื่อไม่มีมือหรือแรงอันใดจะฉุดเธอขึ้นมา ดวงดาวที่เคยจรัสแสงก็ค่อยๆ หรี่แสงลงเหลือแต่ความมืดมิดเหมือนกับเพลง Back to Black เพลงแรกๆ ที่เธอแต่งขึ้นมา

           Black, black, black, black

           Black, black, black

           I go back to

           I go back to…

           เราไม่อาจรู้ว่าในวันนั้นเธอเขียนเนื้อเพลงนี้ออกมาด้วยความรู้สึกแบบไหน หรือเธอรู้สึกอย่างไรกันแน่ในวันที่ต้องร้องคำว่า ‘Black’ ซ้ำไปซ้ำมา

           แต่สุดท้ายแล้ว เธอก็ได้กลับไปสู่ความมืดมิดแบบที่ได้บอกเอาไว้จริงๆ

 

 

  1. ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง (ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ, 2015)

           ถึงแม้จะเป็นเพียงเรื่องสั้นหนึ่งในสี่ของภาพยนตร์ในโครงการคีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ แต่เรื่องราวของ ‘วีรบุรุษแห่งห้วยขาแข้ง’ ในเวลาแค่ 40 นาทีที่พูดถึงผู้ชายคนนี้ควรค่าแก่การพูดถึง

           หนังเล่าถึงช่วงเวลา 5 ปีสุดท้ายในชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร (รับบทโดย ปีเตอร์-นพชัย ชัยนาม) ที่ยอมทิ้งทุกอย่างในชีวิตเพื่อมาปกป้องผืนป่าและสัตว์น้อยใหญ่ที่เขารัก

           ถ้าพูดตามจริง ชีวิตของผู้ชายคนนี้แทบจะไม่ต้องพูดอะไร คนไทยส่วนใหญ่ก็คงจะพอรู้วีรกรรมอันแสนกล้าหาญถึงขั้นบ้าบิ่นในการพยายามงัดข้อกับ ‘อำนาจ’ ที่มองไม่เห็น ทั้งที่เขาเป็นเพียงเฟืองตัวเล็กๆ ของระบบที่พร้อมจะถูกกำจัดได้ทุกเวลา แต่การแสดงของปีเตอร์คือสิ่งที่ทำให้เรื่องเล่าเหล่านั้นกลับมาชีวิตอีกครั้งได้อย่างน่ามหัศจรรย์

 

 

           จากตอนแรกที่มีแต่คนตั้งคำถามว่าจะเอาคนหน้าฝรั่งแบบนี้มารับบทเป็นสืบ นาคะเสถียร ได้อย่างไร แต่แค่แววตาที่มองสัตว์ป่าที่ยังติดอยู่บนภูเขาระหว่างน้ำท่วมตอนต้นเรื่อง แค่นั้นก็รู้แล้วว่าเขานี่แหละคือคนที่เกิดมาเพื่อรับบทบาทนี้จริงๆ

           นอกจากเรื่องเล่า ปีเตอร์ทำให้เราได้ยินทั้งน้ำเสียงและความหดหู่ท้อแท้ใจที่สืบต้องเจอได้อย่างชัดเจน เขาทำให้เราเข้าใจว่าคนที่ต้องทิ้งครอบครัว ทิ้งลูกสาวตัวเล็กไว้เบื้องหลังเพื่อมาสู้กับอำนาจที่ไม่สามารถต่อกร มองเห็นสัตว์ป่าค่อยๆ ล้มตายลงไปทีละตัว เห็นต้นไม้ถูกโค่นลงไปทีละต้น พร้อมกับความจริงที่เจ็บที่สุดเมื่อคนร้ายไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นลูกน้องของเขาเอง  

           ทั้งเรื่องดำเนินไปอย่างช้าๆ แต่ภาพความจริงผ่านแง่มุมนักอนุรักษ์ผืนป่า ระบบราชการ การเมืองไทย และความจริงของชีวิตสัตว์ป่าที่ทั้งบีบคั้นและเจ็บปวดหัวใจจนแทบจะละสายตาไม่ลง

 

 

           สืบ นาคะเสถียร ได้จากเราไปแล้วพร้อมกับเรื่องราวที่เล่าขานจนเป็นตำนานนักอนุรักษ์ แต่ในแง่ภาพยนตร์ เสียงกระสุนปืนนัดสุดท้ายที่ลั่นออกมานั้นตอกย้ำให้เรารู้ว่า แม้ชีวิตของผู้ชายคนนี้จะจบสิ้น แต่การต่อสู้เพื่อปกป้องผืนป่าของเขายังคงถูกส่งต่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นน้อง รุ่นลูก รุ่นหลานได้รู้บทเรียน สืบสาน และต่อสู้กับ ‘อำนาจ’ ทั้งหลายต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising