×

5 บทเรียนจากศึกรักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 ที่เปลี่ยนวงการรักบี้ไปตลอดกาล

04.11.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS. READ
  • แอฟริกาใต้คว้าแชมป์โลกปี 2019 ไปครอง โดยนับเป็นแชมป์โลกสมัยที่ 3 ต่อจากปี 1995 และ 2007
  • แอฟริกาใต้ สปริงบ็อกส์ ใช้วิธีการเปลี่ยนแรงกดดันเป็นความหวังด้วยความเข้าใจถึงโอกาสที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งชาติเหมือนปี 1995 
  • นิวซีแลนด์ ออลแบล็กส์ แชมป์เก่า 2 สมัยล่าสุดพลาดท่าตกรอบรองด้วยการพ่ายให้กับอังกฤษแบบหมดสภาพ และต้องกลับไปทบทวนแก้ไขระบบการพัฒนาทีมใหม่ ด้วยการเรียนรู้จากรักบี้ในยุโรป
  • รักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 ใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียในการนำเสนอกีฬารักบี้ที่ช่วยสื่อสารกับผู้คนที่ไม่ใช่แฟนกีฬาขาประจำ จนทำให้เกิดฐานแฟนกีฬาใหม่ขึ้นจำนวนมากในทัวร์นาเมนต์ปีนี้ 
  • “รักบี้ชิงแชมป์โลกปี 2019 เป็นการแข่งขันที่ดีที่สุดที่เคยมีมา” เซอร์บิล โบมอนต์ ประธาน World Rugby กล่าวถึงความสำเร็จในรักบี้ชิงแชมป์โลกครั้งแรกในทวีปเอเชีย

ช่วงเวลาตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา คือช่วงเวลาที่เราได้เห็นชาวไทยและชาวต่างชาติสวมเสื้อรักบี้ขึ้นรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ที่มีโปรแกรมแข่งขันนัดสำคัญเกิดขึ้นในศึกรักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพครั้งแรก ระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม ถึง 2 พฤศจิกายน 

 

โดยเป้าหมายของญี่ปุ่นในการเป็นเจ้าภาพรายการนี้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คือการเป็นการแข่งขันที่ดีที่สุดที่เคยมีมา

 

ซึ่งการเลือกญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพรักบี้ชิงแชมป์โลกครั้งนี้เสมือนกับเป็นการเปิดประตูวงการรักบี้สู่สังคมโลกอย่างแท้จริง เนื่องจากศึกรักบี้ชิงแชมป์โลกครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา เจ้าภาพจัดการแข่งขันมักจะเป็นประเทศที่กีฬารักบี้ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งหรืออันดับต้นๆ ของประเทศ  

 

หลังจากที่การแข่งขันตลอด 6 สัปดาห์จบลง THE STANDARD จึงอยากรีวิวและนำเสนอ 5 บทเรียนจากศึกรักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 ที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวแทนเจ้าภาพครั้งแรกของเอเชีย

 

1. สิ้นยุคทองของ นิวซีแลนด์ ออลแบล็กส์

 

 

นิวซีแลนด์ ออลแบล็กส์ อดีตแชมป์โลก 2 สมัยล่าสุด และทีมอันดับหนึ่งของโลกตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา พลาดท่าแพ้ไม่เป็นท่าให้กับอังกฤษ แชมป์โลกปี 2003 ไปในรอบรองชนะเลิศด้วยสกอร์ 19-7 

 

ทีมที่ครั้งหนึ่งเคยมีสไตล์การเล่นที่ตื่นเต้นและลื่นไหลเกมรุกที่รวดเร็ว ถูกอังกฤษซึ่งเอ็ดดี้ โจนส์ เฮดโค้ชของอังกฤษ ยอมรับว่าแอบเตรียมการมาพบกับทีมออลแบล็กส์เป็นเวลาถึง 2 ปีครึ่ง หยุดยั้งด้วยเกมรับที่รวดเร็ว และดุดันกว่า 

 

เอ็ดดี้ โจนส์ ใช้คำว่า “เราเอาทั้งเวลา และพื้นที่มาจากเกมรุกของพวกเขา” 

 

 

จุดนี้เป็นสิ่งที่ผู้สื่อข่าวทั่วโลกรวมถึงแฟนออลแบล็กส์ เริ่มต้นสนทนากันว่า แฟนรักบี้นิวซีแลนด์ รวมถึงทีมงานออลแบล็กส์เองเป็นแฟนของทีม แต่ไม่ใช่แฟนบอลกีฬารักบี้ 

 

เนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าทีมรักบี้ชาติต่างๆ จากฝั่งซีกโลกใต้ หรือ Southern Hemisphere ทั้งนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และอาร์เจนตินา มีแฟนรักบี้จากประเทศเหล่านี้จำนวนไม่น้อยที่ไม่ยอมรับความสามารถของรักบี้ในยุโรป เนื่องจากสถิติแชมป์โลกที่ผ่านมา มีทีมจากฝั่งยุโรปเพียงทีมเดียวที่เคยได้แชมป์โลกนั่นคืออังกฤษ ในปี 2003 

 

 

นั่นทำให้ออลแบล็กส์กับการแข่งขันระดับสโมสรในลีกรักบี้ที่มีชื่อว่า ซูเปอร์รักบี้ในซีกโลกใต้ มุ่งแต่พัฒนาการเล่นเพื่อแข่งขันในพื้นที่ของตัวเองเท่านั้น โดยหวังว่าการแข่งขันที่สูงของลีก และระดับประเทศอย่างรักบี้แชมเปี้ยนชิป ที่มีทั้งนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และอาร์เจนตินา จะเพียงพอต่อการคว้าแชมป์โลกอีกสมัยได้แล้ว 

 

ในทางกลับกัน เอ็ดดี้ โจนส์ ที่ใช้เวลา 2 ปีครึ่งศึกษาทีมออลแบล็กส์ และซูเปอร์รักบี้ มองเห็นว่า จุดเด่นของรักบี้ในแดนใต้โดยเฉพาะนิวซีแลนด์คือเกมรุกที่ลื่นไหล เน้นการสร้างโอกาสอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ทะลุแนวรับของคู่แข่งได้ หรือจังหวะสวนกลับ 

 

อังกฤษจึงใช้เกมรับที่รวดเร็วกดดัน กินแดนเข้าไปเรื่อยๆ ถ้าออลแบล็กส์เตะออกมา อังกฤษก็จะใช้ไลน์เอาต์ที่เด็ดขาดกว่าโจมตีเข้าไป จนสุดท้ายเป็นฝ่ายชนะไปแบบขาดลอย และทำให้นิวซีแลนด์น่าจะต้องกลับไปศึกษาวิธีการพัฒนานักกีฬาใหม่ รวมถึงหันมาสนใจรักบี้ที่แข่งขันกันในยุโรปมากขึ้น 

 

2. สปริงบ็อกส์กับการเปลี่ยนแรงกดดันเป็นความหวัง 

 

 

แน่นอนอังกฤษก็ยังไม่สามารถสะสมแชมป์เพิ่มให้กับรักบี้ฝั่งยุโรป หลังจากพ่ายให้กับแอฟริกาใต้ในรอบชิงชนะเลิศไป 32-12 ซึ่งสาเหตุสำคัญหลายฝ่ายมองตรงกันไปที่เกมรอบรองชนะเลิศ​กับออลแบล็กส์ 

 

อังกฤษโชว์ฟอร์มที่เรียกได้ว่าแทบจะดีที่สุดที่เคยมีมากับออลแบล็กส์ กระทั่งแฟนสปริงบ็อกส์ ก่อนเกมยังยอมรับว่าอังกฤษเหนือกว่าพวกเขาหลายเท่าตัว รวมถึงสถิติก่อนหน้านี้ที่บ่งบอกว่าทีมใดก็ตามที่เอาชนะออลแบล็กส์ได้ในรอบรองชนะเลิศจะไม่ได้แชมป์โลก เนื่องจากพวกเขาต้องใช้พละกำลังมหาศาลในการเอาชนะนิวซีแลนด์ และเมื่อผ่านเข้าสู่รอบชิง ฟอร์มของพวกเขาอาจไม่เหมือนเดิมแล้ว 

 

สปริงบ็อกส์ก็ใช้จุดเด่นของพวกเขาเอง นั่นคือการเล่นด้วยเบสิกที่แม่นยำ ผ่อนเกมไม่ได้เร็วจนเกินไป แล้วค่อยๆ นวดอังกฤษด้วยลูกจุดโทษ ทำสกอร์ทิ้งห่างไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายในครึ่งหลัง มาคาโซเล มาพิมพี และ เชสลีน โคลบี้ ก็ทะลุเข้าไปวางทรัยได้สำเร็จ และพาทีมคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 3 ไปครอง 

 

แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าการโฟกัสเล่นในรูปแบบของตนเอง นั่นคือแรงบันดาลใจที่อยู่เบื้องหลังทีมชุดนี้ 

 

 

โดยเฉพาะ ซิยา โคลิซี กัปตันทีมผิวสีคนแรกของสปริงบ็อกส์ ซึ่งมีบุคลิกที่ถ่อมตัวและมีวุฒิภาวะความเป็นผู้นำสูงในสนามแข่งขัน รวมถึงเฮดโค้ช แรสซี อีราสมุส ที่ควบตำแหน่งผู้อำนวยการรักบี้ และเฮดโค้ชของสปริงบ็อกส์ 

 

นับตั้งแต่แรสซีเข้ามาคุมทีมเมื่อต้นปี 2018 เขาพาทีมคว้าแชมป์รักบี้แชมเปี้ยนชิป สมัยที่ 4 ของแอฟริกาใต้ และล่าสุดได้พาทีมคว้าแชมป์โลกในปีนี้ 

 

โดยทั้งสองบุคคลสำคัญของทีมได้ให้สัมภาษณ์เป็นเสียงเดียวกันหลังเกมว่า แชมป์โลกในปีนี้ไม่ต่างกับปี 1995 ที่สปริงบ็อกส์เป็นเจ้าภาพ และคว้าแชมป์โลกได้สำเร็จท่ามกลางความขัดแย้งในสังคม โดยเฉพาะปัญหาการเหยียดสีผิวและชนชั้น 

 

ซึ่งปีนั้น เนลสัน แมนเดลา ประธานาธิบดีผิวสีคนแรกของประเทศแอฟริกา ใช้กีฬารักบี้เป็นสื่อกลางในการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ระหว่างคนผิวขาวและผิวสีในแอฟริกาใต้ ที่ขัดแย้งกันมาอย่างยาวนานด้วยแชมป์โลกในปีนั้น 

 

มาถึงครั้งนี้แอฟริกาใต้ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเวลาของความขัดแย้งในสังคมคล้ายกับปี 1995 ซึ่งทั้งกัปตันและโค้ชหวังว่าชัยชนะครั้งนี้จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกว่าสนามแข่งขัน และพิสูจน์ให้คนแอฟริกาใต้เห็นอีกครั้งว่า หากทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน ความสำเร็จก็เกิดขึ้นได้ 

 

“เรามีปัญหามากมายภายในประเทศ แต่การที่เรามีทีมแบบนี้ เรามาจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน และเราสามารถร่วมกันทำงานเพื่อเป้าหมายเดียวกัน ด้วยความต้องการที่จะทำให้สำเร็จ” โคลิซี กัปตันทีมผิวสีคนแรกของสปริงบ็อกส์ให้สัมภาษณ์ 

 

“เราหวังว่าสิ่งที่เราทำให้กับแอฟริกาใต้ จะแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นเมื่อเราตัดสินใจทำงานร่วมกัน” 

 

 

ขณะที่แรสซีได้เผยว่า สิ่งที่ทุกคนพูดถึงกันตั้งแต่รอบรองชนะเลิศในศึกรักบี้ชิงแชมป์โลกปีนี้คือแรงกดดัน ซึ่งต่างจาก เอ็ดดี้ โจนส์ เฮดโค้ชอังกฤษที่ใช้วิธีโยนแรงกดดันใส่อีกฝ่าย มาที่แรสซี เขาได้ให้สัมภาษณ์หลังคว้าแชมป์โลก เผยว่า

 

“เราคุยกันเรื่องแรงกดดัน ในแอฟริกาใต้แรงกดดันคือการไม่มีงานทำ แรงกดดันคือ การสูญเสียญาติจากการฆาตกรรม เพราะในแอฟริกาใต้มีปัญหามากมาย เราก็กดดัน เราจึงพูดคุยกันว่า รักบี้ไม่ควรจะเป็นสิ่งที่สร้างแรงกดดัน แต่รักบี้คือสิ่งที่สร้างความหวัง เพราะเราคือผู้ที่ได้รับโอกาสสร้างความหวังให้กับผู้อื่น ไม่ใช่ภาระหรือแรงกดดัน 

 

 

“แต่การมอบความหวังไม่ใช่การพูดถึงมัน หรือบอกว่าเรามีหวัง หรือแม้กระทั่งทวีตข้อความสร้างแรงบันดาลใจ 

 

“แต่ความหวังคือการที่เราเล่นดีในเกมวันเสาร์ ระหว่างที่ทุกคนกำลังติดตามเรา และ รู้สึกดีหลังจากจบเกม ไม่ว่าคุณจะมีมุมมองการเมืองอย่างไร นับถือศาสนาอะไรก็ตาม สำหรับ 80 นาทีนั้น คุณจะเห็นตรงกันในสิ่งที่ไม่เคยเห็นตรงกันมาก่อน 

 

“และเราเองในฐานะที่อยู่จุดนี้ เราไม่ได้มองเป็นความรับผิดชอบ แต่ถือเป็นเกียรติที่เราได้พยายาม และแก้ไขปัญหาต่างๆ 

 

“เมื่อคุณเห็นไปในทิศทางนี้ คุณจะรู้สึกโชคดีที่ได้รับโอกาสนี้ และเริ่มต้นทำงานอย่างหนักเพื่อเป้าหมาย

 

“และนั่นคือวิธีคิดของเราตลอดศึกรักบี้ชิงแชมป์โลกที่ผ่านมา” 

 

 

3. รักบี้ กับการก้าวออกสู่โลกภายนอกผ่านญี่ปุ่น และโซเชียลมีเดีย 

 

สิ่งที่ต้องชื่นชมสำหรับการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกครั้งนี้ คือรูปแบบการนำเสนอข่าวสารข้อมูลระหว่างการแข่งขันของศึกรักบี้ชิงแชมป์โลกครั้งนี้ 

 

 

โดยเฉพาะการใช้เพจทางการ Rugby World Cup สื่อสารกับแฟนกีฬาในรูปแบบที่สนุกสนาน ทั้งการสร้างวิดีโอที่ผสมผสานกับป๊อปคัลเจอร์ ให้ผู้คนเข้าใจในบริบทของการแข่งขันรักบี้มากขึ้น 

 

เช่น การที่สื่อญี่ปุ่นเลือกใช้สัตว์ชนิดต่างๆ มาเปรียบเทียบกับตำแหน่งในกีฬารักบี้ เพื่อให้คนทั่วไปที่ไม่ใช่แฟนกีฬาได้มีส่วนร่วม และเข้าใจจุดเด่นของนักกีฬาในแต่ละตำแหน่ง 

 

 

อีกตัวอย่างคือการนำภาพการวอร์มของ Tendai Mtawarira เจ้าของฉายา Beast ของสปริงบ็อกส์ ระหว่างการวอร์มมาตัดต่อใส่กับสไปเดอร์แมน ซึ่งเป็นการทำลายกำแพงความเชื่อเหมือนกันว่าเพจ Official ของทัวร์นาเมนต์ ไม่สามารถโพสต์อะไรที่ไม่เป็นทางการได้ แต่ทุกอย่างยังอยู่ในขอบเขตของความเคารพทุกฝ่าย 

 

 

นอกจากนี้ตลอดทัวร์นาเมนต์ ยังมี อัลมา สมิต (Elma Smit) ผู้สื่อข่าวจากแอฟริกาใต้ที่ติดตามรายงานตลอดทั้งทัวร์นาเมนต์ด้วยเทคนิค Vlog ในรายการ Rugby World Cup Daily ไปตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น และพูดคุยกับผู้คนตั้งแต่แฟนกีฬา จนถึงตำนานของวงการรักบี้ ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ อีกด้วย 

 

 

 
 
 
 
 
View this post on Instagram
 
 
 
 
 
 
 
 
 

 

What a journey #RWC2019 has been – keep an eye out for the last episode of RWC Daily today, a tear-drenched Final vlog. Thank you @JamesAbraham for your daily guidance, support and inspiration. I feel so fortunate to have contributed in a small way, to a digital project that (IMHO) raised the bar! To @martinxrugby & the brilliant team at @engagedigitalpartners – what an honour to have worked with such an incredibly dedicated and talented group of creative dynamos. Thank you so much @WorldRugby @pastasauces – it has been the adventure of a lifetime! Spare a thought for Charlie san, my English colleague. He listened to me promising that this would happen, every day of the tournament. 🇿🇦🏆🏉

A post shared by Elma Smit (@elmakapelma) on

 

ซึ่งเธอเองยังได้เลือก 15 ผู้เล่นตัวจริงรักบี้ในฝันของเธอเป็นนักดนตรีหญิงชื่อดังอีกด้วย โดยมอบให้มาดอนน่าเป็นกัปตันทีมชุดนี้ 

 

 

 

4. วัฒนธรรมรักบี้ พบวัฒนธรรมญี่ปุ่น 

 

 

 

สองอย่างที่สองวัฒนธรรมทั้งรักบี้และญี่ปุ่นมีเหมือนกันคือความเคารพ ในกีฬารักบี้มักจะมีคำพูดเสมอว่า อะไรเกิดขึ้นในสนามก็อยู่ในสนาม โดยทีมที่ลงแข่งขันกันจะไม่ติดใจสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขัน และพร้อมกลับมาเป็นเพื่อนกันอีกครั้งนอกสนาม

 

 

 

 

เห็นได้ชัดจากหนึ่งวัฒนธรรมที่รักบี้มีคือ การร่วมดื่มเบียร์กันหลังจบการแข่งขัน ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากนัดชิงชนะเลิศ เมื่อเจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซ็กซ์ เดินเข้าห้องแต่งตัวของทีมสปริงบ็อกส์ เพื่อร่วมแสดงความยินดีให้กับคู่แข่งในรอบชิงชนะเลิศ และได้กล่าวแสดงความยินดีว่า 

 

 

 

“ขอแสดงความยินดีด้วย นั่นเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม ผมคิดว่ารักบี้คือกีฬาที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนได้ทั่วโลก และผมไม่คิดว่าจะมีประเทศอื่นในโลกที่ต้องการสิ่งนี้มากกว่าพวกคุณในตอนนี้ ดังนั้นผมขอแสดงความยินดีด้วย” 

 

 

 

เช่นเดียวกันกับคู่ชิงที่ 3 ระหว่างออลแบล็กส์ และ เวลส์ ซึ่งโค้ชทั้งสอง วอร์เรน แกตแลนด์ จากเวลส์ และ สตีฟ แฮนเซน ก็ได้ร่วมดื่มเบียร์กันหลังจบการแข่งขัน 

 

 

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ทีมรักบี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเคารพต่อญี่ปุ่น คือหลังจบการแข่งขัน นักกีฬาจะเดินไปโค้งคำนับขอบคุณแฟนกีฬาทุกสนาม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่กลายเป็นที่พูดถึงตลอดทัวร์นาเมนต์ ถึงความเคารพที่รักบี้มีให้กับชาติญี่ปุ่น ประเทศเอเชียแรกที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลก 

 

 

5. รักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 ทัวร์นาเมนต์ที่ดีที่สุดที่เคยมีมา 

 

 

ถือว่าเป็นความสำเร็จที่สร้างความเซอร์ไพรส์ให้หลายฝ่ายสำหรับความสำเร็จของรักบี้ชิงแชมป์โลกปี 2019 ที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่ทัวร์นาเมนต์จัดนอกประเทศที่มีความนิยมกีฬารักบี้สูง 

 

จากตัวเลขต่างๆ ที่ออกมา ทั้งแฟนกีฬาที่เข้าชมการแข่งขันตลอดทัวร์นาเมนต์สูงถึง 99.3% ของทุกสนามรวมกัน โดยขายตั๋วเข้าชมการแข่งขันได้สูงถึง 1.84 ล้านใบ มีแฟนกีฬาเข้ามาร่วมสนุกในพื้นที่ Fan Zone กว่า 1.13 ล้านคน 

 

 

ขณะที่การถ่ายทอดสด ส่งไกลไปถึงแฟนกีฬากว่า 400 ล้านคนทั่วโลก และมีผู้รับชมคอนเทนต์วิดีโอออนไลน์สูงถึง 1.7 พันล้านวิว 

 

ส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากรายงานของ World Rugby เผยว่าระหว่างทัวร์นาเมนต์มียอดเงินสะพัดถึง 437 พันล้านเย็น 

 

รวมถึงผลงานของรักบี้ทีมชาติญี่ปุ่นที่สามารถเอาชนะทีมชั้นนำได้ทั้ง ไอร์แลนด์ และ สกอตแลนด์ในรอบแบ่งกลุ่ม จนผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์ในศึกรักบี้ชิงแชมป์โลกได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ เชื่อว่าผลงานในสนามครั้งนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาชนทั่วประเทศ ให้หันมาสนใจกีฬารักบี้ขึ้นไม่มากก็น้อย 

 

โดย เซอร์บิล โบมอนต์ ประธาน World Rugby กล่าวถึงความสำเร็จของรักบี้ชิงแชมป์โลกในประเทศญี่ปุ่นว่า 

 

“รักบี้ชิงแชมป์โลกปี 2019 เป็นการแข่งขันที่ดีที่สุดที่เคยมีมา และแน่นอน เป็นทัวร์นาเมนต์ที่ทำลายกำแพง และนำพากีฬารักบี้สู่แฟนกีฬาใหม่ๆ ให้กับกีฬาที่เรารัก 

 

“ในฐานะตัวแทนครอบครัวรักบี้โลก ผมอยากจะขอบคุณจากใจจริงให้กับประเทศญี่ปุ่น และประชาชนญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าภาพที่งดงาม ถ่อมตัว และสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการเป็นเจ้าภาพ

 

“ส่วนแอฟริกาใต้ที่นำเอาถ้วยรางวัลเว็บบ์ อิลลิส กลับบ้านหลังจากการทำผลงานอย่างดีเยี่ยม และฟอร์มที่ยอดเยี่ยมของทีมชาติญี่ปุ่น จะเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่าจดจำไปตลอดกาลสำหรับทัวร์นาเมนต์นี้ 

 

 

“การเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันระหว่างที่พบเจอกับไต้ฝุ่นฮากิบิส เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเป็นนักสู้ และความมุ่งมั่นของคนในประเทศนี้ และเราจะรำลึกถึงทุกคนที่สูญเสียผู้เป็นที่รัก หรือได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาตินี้ 

 

“สุดท้ายนี้ผมอยากจะขอบคุณ 20 ทีม ทั้งนักกีฬา ทีมงาน เจ้าภาพ และอาสาสมัคร ที่ร่วมกันทำหน้าที่การันตีว่ารักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 จะคงอยู่ในความทรงจำ

 

 

“ญี่ปุ่นในปี 2019 ได้ทำลายสถิติต่างๆ และได้เปลี่ยนแปลงวงการรักบี้ไปตลอดกาล”  

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X