ถ้าใครกำลัง Work from Home อยู่บ้านแบบหนืดๆ เนือยๆ ช่วงนี้ภาพยนตร์ฟีลกู๊ดเรื่อง The Intern (2015) เพิ่งจะเข้ามาให้ชมบน Netflix กันไปหมาดๆ THE STANDARD POP ถือโอกาสนี้พาผู้ใหญ่วัยทำงานทุกคน (หรือ ‘ผู้นำ’ บางคนที่ควรเกษียณนานแล้วแต่ยังอยากทำงานอยู่) มาเรียนรู้ 5 แง่คิดดีๆ ที่ได้จากตัวละคร เบน วิตเทเกอร์ (โรเบิร์ต เดอ นีโร) เด็กฝึกงานวัยอาวุโสที่ได้รับโอกาสจากเพื่อนร่วมงานรุ่นลูกรุ่นหลานให้เข้ามาทำงานในบริษัทสายแฟชั่น ซึ่งถือเป็นโลกการทำงานใบใหม่ที่เขาไม่คุ้นเคย แต่ก็พร้อมที่จะปรับตัวและยอมรับสิ่งใหม่ๆ รอบตัว และสำหรับคนที่เคยดูแล้ว เราก็เชื่อเหลือเกินว่า The Intern จะเป็นหนึ่งในหนังเรื่องโปรดที่เหมาะควรแก่การวนกลับมาดูใหม่ด้วยเช่นกัน
- ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเริ่มต้นใหม่
เบน วิตเทเกอร์ (โรเบิร์ต เดอ นีโร) คือพ่อหม้ายอายุ 70 ปี ผู้สูญเสียภรรยาคู่ชีวิตไปไม่นาน วันหนึ่งเขาได้เห็นใบประกาศรับสมัครเด็กฝึกงานอาวุโสของ About the Fit บริษัทสตาร์ทอัพขายเสื้อผ้าออนไลน์ที่ก่อตั้งโดยคนรุ่นใหม่ไฟแรงและเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งทางบริษัทจุดประกายโครงการนี้ขึ้นมาเพื่ออยากเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนอื่นๆ
จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เบนมีเป้าหมายเพื่อเติมเต็มความว่างเปล่าในชีวิตด้วยการเริ่มทำงานอีกครั้ง เขาส่งวิดีโอแนะนำตัวไปหาบริษัทพร้อมเอ่ยถึงคำพูดที่ว่า “นักดนตรีไม่มีวันเกษียณ พวกเขาหยุดเมื่อตัวเองหมดดนตรีในหัวใจ” เหมือนกับตัวเขาเองที่ยังมีดนตรีก้องดังในหัวใจ และยังมีเวลาที่จะเริ่มต้นกับสิ่งใหม่ๆ ที่ดีกับชีวิตได้เสมอเช่นกัน
- กระหายที่จะเรียนรู้ ซื่อสัตย์ไว้ใจได้ และรับมือกับวิกฤตได้ดี
นี่เป็นอีกข้อความที่เบนใช้แนะนำตัวเองให้กับบริษัท แม้อยู่ในวัยที่ถนัดอ่านตัวหนังสือจากกระดาษ ไม่สันทัดกับความเร่งรีบของโลกยุคใหม่ แต่เขามีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้อย่างเต็มเปี่ยม โดยเขาเล่าอย่างไม่เขินอายว่าเพิ่งให้หลานชายวัย 9 ขวบสอนว่าสายต่อยูเอสบีคืออะไร เพื่อที่จะอัปโหลดคลิปสมัครงานนี้ จนกระทั่งได้รับเข้าทำงานในที่สุด
ใจเย็น เก็บความลับเป็น แก้ปัญหาในเวลาวิกฤตได้ฉับไว เบนมักจะสอดส่องหางานทำและคอยช่วยเหลือคนในออฟฟิศอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม เขาปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เป็นมิตรเข้ากับคนง่าย มีอารมณ์ขัน (ในจังหวะที่เหมาะสม) ลักษณะนิสัยทั้งหมดนี้เองทำให้เขาเป็นที่รักท่ามกลางคนหนุ่มสาวในบริษัท
- คุณไม่เคยคิดผิดที่จะทำในสิ่งที่ถูก
คือคติประจำใจของเบนที่เขาพูดขึ้นมาตอนใส่ข้อมูลในบัญชีเฟซบุ๊กครั้งแรก จริงๆ แล้วเจ้าของคำพูดนี้มาจาก มาร์ก ทเวน นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน ที่บอกว่าเราจำเป็นต้องใช้ความกล้าหาญและความซื่อสัตย์ในการทำสิ่งที่ถูก โดยเฉพาะผู้ใหญ่หลายๆ คนที่รู้สึกว่าตนเองมีภาระมากมายต้องรับผิดชอบ จึงเลือกนิ่งเงียบแทนการลุกขึ้นมาทักท้วงเรื่องที่ไม่ปกติในสังคม
คำพูดนี้จึงเป็นข้อเตือนใจว่าให้ยึดมั่นในความถูกต้องตามที่สังคมควรจะเป็นไป แม้ว่าอาจจะเจอกับอุปสรรคหรือคำพูดบั่นทอนต่อว่าที่ทำให้ท้อแท้ แต่หากมั่นใจว่ากำลังทำในสิ่งที่ถูกแล้วก็จงยืนหยัดและทำต่อไปให้ถึงที่สุด
และที่สำคัญก็ต้องมั่นใจด้วยว่าสิ่งที่ทำอยู่เป็นการทำเพื่อ ‘ประโยชน์ส่วนรวม’ จริงๆ
- คำว่า ‘ขอโทษ’ ไม่ต้องมี ‘ก็แล้วกัน’ ต่อท้าย
แน่นอนว่าสังคมตะวันตกอาจจะไม่ได้มีวัฒนธรรมอาวุโสเข้มข้นเท่าแถบเอเชีย แต่ในหลายๆ ครั้งจะพบว่า ผู้ใหญ่ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมามากไม่ค่อยพูดขอโทษต่อคนที่อายุน้อยและอ่อนประสบการณ์กว่า เพราะนั่นคือการยอมรับกลายๆ ว่าตนเองเป็นฝ่ายผิด
เช่นเดียวกับเบน ด้วยประสบการณ์ที่กลั่นมาจากการทำงานและการใช้ชีวิตตลอด 70 ปี เขาจึงสามารถให้คำแนะนำดีๆ กับคนในบริษัทได้เสมอ แต่ช่องว่างระหว่างวัยและโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วย่อมทำให้เขาไม่รู้อะไรอีกหลายอย่างเช่นกัน ซึ่งเมื่อไม่รู้หรือว่าทำอะไรผิดพลาด เขาก็พร้อมยอมรับทันทีและกล้าที่จะเอ่ยคำขอโทษออกมาอย่างจริงใจ โดยที่ไม่ต้องมีคำต่อท้ายส่งๆ ว่า ‘ก็แล้วกัน’
- การกระทำคือเครื่องพิสูจน์ความตั้งใจจริงของคุณ
“ช่วงเวลาแบบนี้แหละ เวลาที่คุณต้องการใครสักคนที่คุณรู้ว่าพึ่งพิงได้” คือคำพูดของ จูลส์ ออสติน (แอนน์ แฮทธาเวย์) เจ้าของบริษัท About the Fit ในตอนที่เธอได้รับคำแนะนำทั้งปัญหาเรื่องงานและชีวิตคู่จากเบน
โดยเธอเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อเบนไปอย่างสิ้นเชิงเมื่อได้มาพูดคุยและทำงานร่วมกัน กลายเป็นความสัมพันธ์ของมิตรภาพต่างวัยที่ชื่นชมในความสามารถของกันและกัน และพร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องใหม่ๆ ที่ต่างคนต่างยังต้องเรียนรู้ได้
สุดท้ายแล้วไม่ว่าคุณจะเอ่ยถึงคุณงามความดีของตัวเองเอาไว้มากมายแค่ไหน แต่สิ่งที่เป็นเครื่องพิสูจน์คำพูดเหล่านั้นจริงๆ ก็คือการกระทำที่คนอื่นจะเป็นผู้มองเห็นและมอบความเชื่อมั่นในศักยภาพของคุณให้เอง โดยที่ไม่จำเป็นต้องคอยป่าวประกาศให้เหนื่อยเลย
อ้างอิง: