×

5 อาหารจานคุ้นเคยจาก Raya and The Last Dragon

11.03.2021
  • LOADING...
5 อาหารจานคุ้นเคยจาก Raya and The Last Dragon

หากพูดถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คงนึกถึงอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจากอาหาร เพราะหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นโดดเด่นเรื่องวัฒนธรรมอาหารมาก นอกจากผลไม้ที่ดูแล้วก็รู้ในทันทีว่านี่คือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างลองกอง มังคุด ทุเรียน ที่ในภาพยนตร์เรื่อง Raya and the Last Dragon ทำออกมาได้อย่างสวยงามแล้ว ยังมีอาหารอีกมากมายที่โผล่มาทำให้ผู้ชมได้รู้สึกคุ้นๆ ว่าจานนี้ฉันเคยกินไหมนะ จานนั้นฉันเคยเห็นที่ตลาดแถวบ้านหรือเปล่า มาดูกันเถอะว่าจะมีอะไรบ้าง

 

 

1. แกงรัญจวน

 

จากเรื่องเล่าของพ่อ รายาในวัยเด็กได้รู้ว่านครคูมันตรานั้นเคยเป็นปึกแผ่นมาก่อน แต่หลังจากเหตุการณ์ในอดีตทำให้คูมันตราต้องแบ่งเป็น 5 เผ่าที่ขัดแย้งกัน แต่พ่อของเธอก็ยังมีความหวังว่าทั้ง 5 เผ่าจะกลับมารวมกันเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้ง ระหว่างที่พ่อกำลังเล่าเรื่องนี้ให้รายาฟัง ก็ได้ต้มแกงหม้อหนึ่งไปด้วย แกงหม้อนี้ได้มาจากเครื่องปรุงจากหลากหลายถิ่นมารวมกัน คือกะปิจากเผ่าหาง ตะไคร้จากเผ่ากรงเล็บ หน่อไม้จากเผ่าสันหลัง พริกจากเผ่าเขี้ยว และน้ำตาลปึกจากเผ่าหัวใจ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าแกงนี้คือสัญลักษณ์ของการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวนั่นเอง

 

แกงนี้ปรากฏอีกครั้งในเรือของเชฟบุญ ในขณะที่เชฟบุญกำลังพยายามทำแกงนี้เท่าไรก็ทำออกมาได้ไม่ได้ รายาจึงหยิบเอาเครื่องปรุงที่มีจากในครัวใส่เข้าไป ทำให้แกงตรงหน้ารสชาติดีขึ้นมาทันที โดยรายาบอกกับเชฟบุญว่าเธอรู้สิ่งนี้เพราะพ่อเคยบอกเอาไว้

 

แกงอะไรที่ใส่กะปิ ตะไคร้ พริก และน้ำตาลปึก ถ้าใกล้เคียงที่สุดเราคิดว่าน่าจะเป็นแกงรัญจวน แม้แกงรัญจวนจริงๆ จะเป็นแกงไทยโบราณที่ไม่มีหน่อไม้ แต่ใส่เนื้อสัตว์แทน ถ้าหากไม่ใช่อย่างไรสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้

 

 

2. ข้าวต้มกุ้ง

 

ในร้านอาหารวังกุ้งของเชฟบุญที่รายาได้บังเอิญได้ขึ้นไปในขณะที่กำลังหนีจากเจ้าหญิงนามาอารีนั้น มีอาหารอีกหนึ่งจานที่เป็นสัญลักษณ์ของความเชื่อใจ เชฟบุญนั้นอยู่เผ่าหาง และเป็นอีกหนึ่งคนที่พ่อแม่ถูกทำให้กลายเป็นหิน เลยเปิดร้านอาหารวังกุ้งเพื่อหาเลี้ยงชีพ เมื่อรายาต้องมาลงเรือลำเดียวกันกับเชฟบุญแล้ว เชฟบุญก็ได้เสิร์ฟข้าวต้มกุ้งให้เธอได้ลองกิน

 

ในตอนแรกรายาไม่ไว้ใจข้าวต้มกุ้งของเชฟบุญ กลัวว่าข้าวต้มกุ้งนี้จะใส่ยาพิษ แต่สุดท้ายเมื่อเธอยอมเปิดใจ ก็ได้รู้ว่าข้าวต้มของเชฟบุญนั้นอร่อยกว่าขนุนอบแห้งไร้รสชาติที่เธอกินเป็นประจำมาก ทำให้ข้าวต้มกุ้งชามนี้เป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพระหว่างรายาและเชฟบุญ สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่โดดเด่นในเรื่องของอาหารนั้น อาหารไม่ได้เพียงแต่มอบรสชาติอร่อยให้ผู้คน แต่อาหารยังเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนา เป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพ ทำให้ผู้คนใกล้ชิดกันมากขึ้น

 

 

3. ข้าวกับแกง

 

รายาในวัยเด็กได้รู้จักกับนามาอารีจากเผ่าเขี้ยวในยามที่นามาอารีมาเยือนเผ่าหัวใจของรายา และพยายามผูกมิตรด้วยอาหารนานาชนิด จนมาถึงอาหารที่ชาวเผ่าหัวใจอย่างรายากินกันเป็นหลักอย่างข้าว ทำให้นามาอารีเปิดเผยว่าที่เผ่าเขี้ยวนั้นไม่ได้อุดมสมบูรณ์เท่าไรนัก ชาวเผ่าเขี้ยวและแม้กระทั่งเธอเองที่เป็นผู้สูงศักดิ์ก็ไม่ได้กินข้าวมานานแล้ว แต่เผ่าหัวใจดูจะมีข้าวอย่างอุดมสมบูรณ์

 

ข้าวสวยเป็นอาหารหลักของเกือบทุกประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในนครคูมันตราก็เช่นกัน และแม้ว่าข้าวจะเป็นอาหารหลักของชาวคูมันตรา แต่ไม่ใช่ทุกเผ่าที่สามารถเข้าถึงข้าวได้ การที่นามาอารีเห็นว่ารายาและเผ่าหัวใจมีข้าวเหลือกินเหลือใช้ขนาดนี้ ในขณะที่เธอไม่ได้กินข้าวมานานแล้ว ทำให้นามาอารีรู้สึกอิจฉาในใจ และนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจกันในที่สุด

 

 

4. หมูสร่ง

 

หมูสร่งเป็นอาหารที่คนไทยอาจไม่คุ้นเคยเท่าไร จนได้รู้จักเมนูอาหารว่างหากินยากจากละครไทยไปเมื่อไม่นานนี้ หมูสร่งคืออาหารว่างไทยโบราณที่ทำจากหมูปั้นก้อน แล้วพันด้วยเส้นหมี่สีเหลืองอย่างประณีตเหมือนกับการแต่งตัวให้หมูนั่นเอง หมูสร่งมาปรากฏอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่องนี้ ในตอนที่ชาวเผ่าหัวใจยกอาหารมาต้อนรับเจ้าหญิงนามาอารีจากเผ่าเขี้ยว และเจ้าหญิงนามาอารีได้ลองชิม

 

หมูสร่งไม่ใช่อาหารที่ทำได้ง่ายเท่าไรนัก ต้องอาศัยทักษะในการทำ และไม่ใช่ทุกคนจะทำออกมาได้สวยงามน่ากินตั้งแต่ครั้งแรก การที่เผ่าหัวใจมีอาหารเมนูนี้นั้น แสดงให้เห็นกลายๆ ว่าเผ่าหัวใจมีความอุดมสมบูรณ์กว่าเผ่าเขี้ยวมาก จนสามารถเอาวัตถุดิบต่างๆ มาทำเป็นอาหารที่สร้างสรรค์กว่าเมนูต้มผัดแกงทอดธรรมดาได้

 

 

5. ขนมไทย

 

ขนมไทยนานาชนิดที่มาเสิร์ฟในระหว่างที่รายาและนามาอารีคุยกันในวัยเด็กนั้น สวยงามอลังการสมฐานะชาววังที่ต้องกินขนมหรูหรา และขนมต่างๆ ที่อยู่ในถาดนั้นก็ไม่ใช่ขนมธรรมดา แต่เป็นขนมที่ใช้ทักษะในการทำสูงไม่ต่างจากหมูสร่งอย่าง จ่ามงกุฎ เสน่ห์จันทน์ ทองเอก พระพาย แม้ทองเอกในปัจจุบันจะเป็นขนมที่ทำง่ายแค่ตักใส่พิมพ์ แต่ในสมัยก่อนนั้นต้องทำด้วยมือ เป็นอีกจานหนึ่งที่แสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของเผ่าหัวใจ

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X