×

ลมหนาวนั้นดี แต่หอบหิ้วโรคมาด้วย รู้จักกับ 5 โรคภัยใกล้ตัว ที่มาพร้อมสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง

22.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • โรคติดเชื้อไวรัส RSV ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ผู้ป่วยมักมีอาการคล้ายโรคหวัด ทว่ามักมีไข้สูง หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม และอาจอันตรายถึงชีวิตได้
  • ไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา ทว่ามีอาการรุนแรงกว่ามาก และมักเกิดขึ้นแบบฉับพลัน ลักษณะเด่นคือ มีไข้สูง อ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเจ็บคออย่างรุนแรง ไอ จาม คัดจมูก บางรายอาจมีอาการท้องร่วงร่วมด้วย

แม้ลมหนาวบ้านเราจะมาแบบกะปริดกะปรอย ชนิดที่เสื้อหนาวที่รื้อออกมาซักเตรียมใส่ยังไม่ทันแห้ง ลมร้อนก็พัดผ่านให้ระอุอีกหน แต่ถึงกระนั้น สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน เดี๋ยวหนาว ก็ชวนให้ร่างกายป่วยขึ้นมาเสียดื้อๆ ใครที่กำลังอยู่ในช่วงกรำงานหนักสิ้นปี พักผ่อนน้อย หรือมีลูกน้อยต้องดูแล ควรดูแลสุขภาพให้มากขึ้นอีกสักนิด เพราะลมหนาวที่อยากสัมผัสสิ้นปีนั้นหอบหิ้วโรคภัยมาฝากเราเพียบ

 

 

1. โรคไข้หวัดและโรคไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดเป็นโรคสามัญประจำบ้านที่ทุกคนต้องเคยเป็น เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด อาทิ Rhinovirus, Coronavirus หรือไวรัสอื่นๆ มักก่อให้เกิดอาการเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น การคัดจมูก น้ำมูกไหล มีไข้ต่ำ หรือไม่มีไข้เลย บางรายมีอาการเจ็บคอร่วมด้วยแต่ไม่รุนแรงนัก ซึ่งส่วนใหญ่มักหายได้เองภายใน 7 วัน  

 

ในกรณีของไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา ทว่า มีอาการรุนแรงกว่ามาก และมักเกิดขึ้นแบบฉับพลัน ลักษณะเด่นคือ มีไข้สูง อ่อนเพลียมาก ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเจ็บคออย่างรุนแรง ไอ จาม คัดจมูก บางรายอาจมีอาการท้องร่วงร่วมด้วย

 

การป้องกัน: พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดเยอะๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย ปิดปากปิดจมูกเมื่อไอ จาม หรือสวมหน้ากากอนามัย

 

วิธีการรักษา: รักษาตามอาการ หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว เพื่อลดความร้อนในร่างกาย ในกรณีที่เป็นไข้หวัดใหญ่ แนะนำให้ไปพบแพทย์

 

 

2. โรคติดเชื้อไวรัส RSV

เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากมักเกิดในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี ตัวโรคจะแสดงอาการหลังจากรับเชื้อไปแล้วประมาณ 2-3 วัน โดยมีลักษณะคล้ายไข้หวัดธรรมดา มีไข้ ไอ จาม น้ำมูกไหล แต่ระยะหลังจะมีอาการอักเสบส่วนล่าง ทำให้เกิดโรคหลอดลมอักเสบ กล่องเสียงอักเสบ และโรคปอดบวมหรือปอดอักเสบ บางรายเกิดอาการรุนแรง เช่น ไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงครืดคราด มีเสมหะในลำคอมาก คนที่ป่วยเป็นโรคนี้ควรระวังไม่ให้ตัวเองมีไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส ไอจนอาเจียน หายใจเร็วหอบจนชายโครงหรืออกบุ๋ม เพราะนั่นหมายถึงอาการหนักมาก อาจอันตรายถึงชีวิตได้

 

การป้องกัน: ล้างมือบ่อยๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ เช่น ผู้ป่วยไข้หวัดหรือปอดอักเสบ โดยเฉพาะเด็กที่คลอดก่อนกำหนด และทารกในช่วงอายุ 1-2 เดือนแรกไม่ควรให้สัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ดื่มน้ำสะอาดมากๆ

 

วิธีการรักษา: รักษาตามอาการ หากผู้ป่วยอาการไม่ดีขึ้น เช่น ไอมากจนหอบเหนื่อย ซึมลง รับประทานอาหารได้น้อย ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที

 

 

3. โรคปอดบวม

อาการปอดติดเชื้อหรืออักเสบอันเนื่องมาจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย น้อยครั้งที่จะเกิดขึ้นจากเชื้อรา พยาธิ สารเคมี การสำลักเอาเชื้อเข้าไปในปอด และภาวะภูมิต้านทานต่ำ อาการของปอดบวมที่สำคัญ ได้แก่ มีไข้ ไอ เจ็บหน้าอก และหอบเหนื่อย ส่วนใหญ่มักมีอาการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนต้น หรือโรคหวัดนำมาก่อน หลังจากนั้นจึงมีอาการไอ และหายใจหอบตามมา ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน รวมอยู่ด้วย

 

การป้องกัน: เชื้อนี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่ไอจามออกสู่ สาธารณะ ฉะนั้นควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย ปิดปากปิดจมูกเมื่อไอ จาม หรือสวมหน้ากากอนามัย สำหรับเด็กควรฉีดวัคซีนตามที่หมอนัด โดยเฉพาะวัคซีนป้องกันหัดและไอกรน ซึ่ง 2 โรคนี้อาจทำให้ปอดบวมแทรกซ้อนได้

 

วิธีการรักษา: อาการของโรคปอดบวม ไม่แนะนำให้รักษาด้วยตนเอง แต่ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

 

 

4. โรคอีสุกอีใส

พออากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ภูมิต้านทานต่ำลง โรคฮิตอย่างอีสุกอีใสจะเริ่มระบาด สำหรับคนที่เคยเป็นแล้ว ย่อมไม่มีปัญหา เพราะมีภูมิคุ้มกัน แต่สำหรับคนที่ไม่เคยเป็นมาก่อน อีสุกอีใสเป็นอีกหนึ่งโรคที่ทำให้การใช้ชีวิตลำบากพอดู โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถติดต่อได้ด้วยการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วย โดยเฉพาะน้ำจากตุ่มใส หรือละอองทางอากาศ อาการส่วนใหญ่คล้ายไข้หวัดคือ มีไข้ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย และปวดเมื่อยตามร่างกาย ทว่า มีตุ่มผื่นขึ้นพร้อมกับมีไข้

 

การป้องกัน: การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย

 

วิธีการรักษา: สามารถรักษาเองได้ที่บ้าน โดยกินยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล หลีกเลี่ยงการเกาตุ่มน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ สามารถหายเองภายในเวลา 7 วัน แนะนำให้หลีกเลี่ยงการซื้อยาสมุนไพรมากินเอง เพราะอาจมีสารสเตียรอยด์ ทำให้อาการแย่ลง ถ้าให้ดีควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง

 

 

5. โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน

เป็นอีกหนึ่งโรคที่เกิดขึ้นได้ง่ายในฤดูหนาวช่วงเดือนตุลาคมถึงกุมภาพันธ์ และมักเกิดกับเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ เพราะเป็นวัยอยากรู้ อยากเห็น หยิบจับอะไรเป็นต้องกิน ต้องหยิบเข้าปากไปเสียหมด โรคอุจจาระร่วงเกิดจากการติดเชื้อในลำไส้ มีทั้งแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว และปรสิต แต่ส่วนใหญ่แล้วมักเกิดจาก ‘เชื้อไวรัสโรต้า’ ผู้ป่วยมักมีอาการถ่ายเหลวตลอดทั้งวัน มีมูกเลือดปะปนบ้างในบ้างเคส บางรายมีไข้และอาเจียนร่วมด้วย

 

การป้องกัน: เลือกอาหารที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างปลอดภัย ปรุงสุกใหม่ น้ำดื่มต้องต้มสุกหรือผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแล้วเท่านั้น อุ่นอาหารให้ร้อนก่อนกิน และล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง

 

วิธีการรักษา: จิบสารละลายเกลือแร่ เพื่อรักษาอาการขาดน้ำ หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกเส้นใยสูง เช่น ผักและผลไม้ ในกรณีที่ผู้ป่วยถ่ายเป็นมูกเลือดหรือมีอาการหวัดควรไปพบแพทย์ทันที สำหรับเด็กเล็กที่ยังบริโภคนมอยู่เป็นนิตย์ สามารถดื่มได้ แต่ให้เฝ้าอาการอย่างใกล้ชิด ทางที่ดีควรนำไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่างถูกต้อง

แม้โรคภัยไข้เจ็บที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่ได้ทำให้คุณเจ็บหนักชนิดแอดมินโรงพยาบาลได้ 100% แต่ก็อย่าชะล่าใจ เพราะอาการเล็กๆ น้อยๆ จากโรคเหล่านี้อาจลุกลามใหญ่โตจนถึงแก่ชีวิตได้ ทางที่ดีควรนำผู้ป่วยพบแพทย์เป็นดีที่สุด ที่สำคัญอย่าลืมดูแลตัวเอง กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้อาการเจ็บป่วยต่างๆ ไม่สามารถรุกรานคุณได้ แม้ลมหนาวจะหอบมาฝากคุณแค่ไหนก็ตาม

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X