เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เป็นวันสุดท้ายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้บริษัทต่างๆ ยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธุรกิจ Virtual Bank ก่อนที่จะประกาศผลผู้ได้รับคัดเลือกในช่วงกลางปี 2568 และจะเริ่มดำเนินการจริงได้ในช่วงกลางปี 2569
หนึ่งในวัตถุประสงค์ของการเปิดให้มี Virtual Bank ขึ้นมาในประเทศไทย เพราะต้องการช่วยให้คนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อมีโอกาสเข้าถึงมากขึ้น รวมทั้งการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของ Virtual Bank กับธนาคารดั้งเดิม (ไม่ว่าจะเป็นออฟไลน์หรือออนไลน์) เป็นกลุ่มที่แตกต่างกัน
Virtual Bank คืออะไร
บทความที่ชื่อว่า Virtual Banking ก้าวต่อไปของระบบการเงินไทย โดย ธปท. นิยาม Virtual Bank ไว้ว่า เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัลเต็มรูปแบบ โดยมีลักษณะสำคัญ คือ
- ไม่มีจุดให้บริการที่มีสถานที่ตั้งทางกายภาพ เช่น สาขาและตู้ ATM แต่ยังมีสำนักงานใหญ่ได้
- ให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลตลอดกระบวนการของการให้บริการ ทั้งการทำความรู้จักลูกค้า (KYC), รับฝากเงิน และบริการอื่นๆ เช่น ให้สินเชื่อ โอน และชำระเงิน ฯลฯ
นอกจากนี้ระบบคอมพิวเตอร์หลักที่ใช้บริหารจัดการงานธนาคาร (Core Banking System) ของ Virtual Bank จะแตกต่างไปจากธนาคารพาณิชย์รูปแบบเดิมผ่านเทคโนโลยีใหม่ที่ยืดหยุ่นสูง ซึ่งสามารถเชื่อมต่อและใช้ประโยชน์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้โดยง่าย ส่งผลให้ Virtual Bank มีต้นทุนในการดำเนินงานต่ำกว่าธนาคารดั้งเดิม
คนไทยจะได้อะไรจาก Virtual Bank
เพื่อให้ Virtual Bank เข้ามาเติมเต็มระบบการเงินของไทยมากขึ้น ธปท. คาดหวังให้ Virtual Bank เข้ามาพัฒนานวัตกรรมในภาคการเงินควบคู่ไปกับการดูแลความเสี่ยงที่อยู่บนพื้นฐานของความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม (Responsible Innovation) โดยได้กำหนดเป้าหมายของ ‘สิ่งที่อยากเห็น’ (Green Line) และ ‘สิ่งที่ไม่อยากเห็น’ (Red Line) จากการเปิดให้มี Virtual Bank ไว้อย่างชัดเจน
สิ่งที่ ธปท. อยากเห็น (Green Line) ได้แก่
- บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ หรือเพิ่มประสิทธิภาพของบริการทางการเงินที่มีอยู่เดิมผ่านช่องทางดิจิทัล
- มีบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะรายย่อยและ SMEs กลุ่ม Unserved / Underserved
- สร้างประสบการณ์การใช้บริการทางการเงินดิจิทัลที่ดีแก่ลูกค้า
- ส่งเสริมและกระตุ้นการแข่งขันในระบบสถาบันการเงินอย่างเหมาะสม
สิ่งที่ ธปท. ไม่อยากเห็น (Red Line) ได้แก่
- แนวทางประกอบธุรกิจที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน หรือเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฝากเงิน / ผู้ใช้บริการ ในวงกว้าง
- การประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อฐานะหรือความมั่นคง
- การประกอบธุรกิจในรูปแบบที่ทำให้เกิดการแข่งขันในระบบการเงินอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน
- การเอื้อประโยชน์แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องและใช้อำนาจตลาดอย่างไม่เหมาะสม
ตัวอย่างผลิตภัณฑ์และบริการจาก Virtual Bank ต่างประเทศ
จากบทความเดียวกันนี้ได้ยกตัวอย่างบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ Virtual Bank ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจเกิดขึ้นในไทยได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น
- ผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำ 26 สัปดาห์ (เกาหลีใต้) เน้นกลุ่มวัยรุ่นและวัยเริ่มทำงาน โดยจูงใจด้วยดอกเบี้ยสูงและกำหนดเงินฝากขั้นต่ำน้อย
- บริการ Smart Saving (ฮ่องกง) บริหารจัดการความต้องการของลูกค้า เช่น กำหนดเป้าหมายการออมเงินและแยกเงินออมตามเป้าหมายออกจากเงินในชีวิตประจำวัน
- ผลิตภัณฑ์สินเชื่อสำหรับ SMEs และลูกค้ารายย่อย (จีนและฮ่องกง) ใช้ Big Data ในการประเมินรายได้และวิเคราะห์ความเสี่ยงลูกหนี้แทนการใช้หลักฐานแสดงรายได้ ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการดำเนินการสินเชื่อและชำระคืนก่อนกำหนด รวมทั้งอนุมัติในเวลารวดเร็ว
- บริการโอนเงิน (ฮ่องกง) ให้ลูกค้าเขย่าโทรศัพท์หลังชำระเงิน เพื่อรับ Cash Reward หรือสะสมแต้มเป็นส่วนลดร้านค้าและร้านอาหาร
- บริการชำระเงิน (อังกฤษ) มีเครื่องมือที่เก็บรวบรวมข้อมูลรายได้และรายจ่ายประเภทต่างๆ รวมทั้งกำหนดเพดานรายจ่ายและตั้งเวลาชำระเงินอัตโนมัติ
เปิดชื่อ 5 กลุ่มยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัท เจมาร์ท กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า คาดว่าปัจจุบันจะมีผู้ยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จำนวน 5 กลุ่ม ดังนี้
- กลุ่ม SCBX จับมือกับ KakaoBank และ WeBank
- GULF ร่วมกับ AIS, ธนาคารกรุงไทย และ OR
- กลุ่ม BTS ร่วมกับธนาคารกรุงเทพ, Sea Group, เครือสหพัฒน์ และไปรษณีย์ไทย
- กลุ่มทรู Ascend Money (TrueMoney) – Ant Group
- กลุ่ม ชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ร่วมกับ Lightnet Group ร่วมกับ WeLab
กลุ่ม JMART ไม่ยื่นใบอนุญาต Virtual Bank
แหล่งข่าวยืนยันต่อว่า กลุ่มของ JMART ไม่ได้ยื่นขอใบอนุญาตจัดตั้งธนาคารไร้สาขา (Virtual Bank) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ขณะที่มีรายงานข่าวออกมาว่า กลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ซึ่งมีการรายงานข่าวออกมาว่า ได้ส่งบริษัทลูกคือ บริษัท วีจีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ VGI ได้ร่วมมือกับธนาคารกรุงเทพ และ Sea Group ซึ่งทุกรายเป็นกลุ่มที่ถือว่ามีความพร้อมทางการเงิน ได้ร่วมยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank จาก ธปท.
อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน JMART มีสถานะเป็นบริษัทลูกของกลุ่ม BTS กลุ่ม JMART จึงสามารถนำระบบนิเวศ (Ecosystem) ปัจจุบันที่มีเข้าไปช่วยสนับสนุนกลไกการให้บริการ Virtual Bank ได้
“ภาพก่อนหน้าเหมือนว่ากลุ่ม JMART จะ Lead ในการขอใบอนุญาต Virtual Bank แต่ตอนนี้ไม่ได้ Lead แต่เป็นส่วนหนึ่งของ BTS ในฐานะบริษัทลูกมากกว่า ส่วนจะเป็นอย่างไรคงต้องหารือและอธิบายถึงรายละเอียดในการให้บริการกับแบงก์ชาติต่อไปในช่วง 9 เดือนนี้ ซึ่งถ้าส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับ JMART ก็จะเข้าไปช่วยในส่วนของงานที่เกี่ยวข้อง”
สำหรับจุดเด่นของ Ecosystem ที่ JMART จะเข้าช่วยกลุ่ม BTS ในการทำ Virtual Bank จะมี 3 ส่วนหลักจากลูกค้าของบริษัทในกลุ่ม JMART เพราะมีกลุ่มลูกค้าจำนวนมากที่เป็นกลุ่ม Underserved ที่ ธปท. มีนโยบายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักในการนำ Virtual Bank เพื่อช่วยให้เข้าถึงบริการทางการเงิน ดังนี้
- กลุ่มลูกค้าในเครือของ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER ที่เป็นกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งหมดที่มีราว 6 แสนคน อีกทั้งเป็นกลุ่ม Underserved ที่ไม่มีบัตรเครดิตทั้งหมดหรือเข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้สถาบันการเงิน
- กลุ่มลูกค้า บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT ปัจจุบันมีลูกค้าจำนวนรวมราว 5 ล้านคนที่มาจากการซื้อหนี้เสีย (NPL) จากสถาบันการเงินรวม 5 ล้านคน ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 10% หรือราว 5 แสนคนที่ประนอมหนี้กำลังจะมีประวัติทางการเงินกลับมาดี
- กลุ่มลูกค้า ‘สุกี้ตี๋น้อย’ เป็นแบรนด์ร้านอาหารภายใต้บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด (BNN) ที่เป็นกลุ่มไม่มีบัตรเครดิตเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมีประมาณ 15 ล้านคนต่อปี
ขณะที่คาดว่าจากสัดส่วนภาพรวมของจำนวนประชากรของประเทศไทยทั้งหมดน่าจะมีสัดส่วนราว 70% ที่เป็นกลุ่ม Underserved เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ระบบสถาบันการเงิน และมีสัดส่วนเพียง 30% ที่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ ประเมินว่าธุรกิจที่เหมาะสมกับการจะเข้ามาทำธุรกิจ Virtual Bank ควรจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการขายสินค้าหรือบริการซึ่งมีลูกค้าอยู่แล้ว หรือเป็นในรูปแบบ ‘บริการทางการเงินแบบฝังตัว’ หรือ Embedded Finance
“ยกตัวอย่างการ Embedded Finance เช่น กรณีลูกค้าร้านสุกี้ตี๋น้อย สามารถเชิญให้ลูกค้ามาโหลดแอป ให้โปรโมชันต่างๆ ซึ่งเราก็จะสามารถ Bundle โปรดักต์ทางการเงินไปเข้าไปในแอปได้เลยในอนาคต แต่ถ้าแบงก์ปกติทั่วไปต้องการมาทำ Virtual Bank ก็ควรจะเป็นแบงก์ที่มีแผนจะขายสินค้าแบบ Bundle ในอนาคต”
ทั้งนี้ THE STANDARD WEALTH สอบถามข้อมูลแหล่งข่าวระดับสูงจาก BTS โดยปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank เนื่องจากมีการเซ็นสัญญารักษาความลับ (Non-disclosure Agreement: NDA) ไว้
OR ลั่น มีจุดแข็ง พร้อมร่วมพาร์ตเนอร์ลุย Virtual Bank
ด้าน ดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เปิดเผยถึงความคืบหน้าการขอใบอนุญาต Virtual Bank นั้น บริษัทได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทยและ AIS ในการดำเนินธุรกิจ Virtual Bank โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นประมาณ 20%
สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้มองว่า OR มีจุดแข็งด้านแพลตฟอร์มของบริษัทที่มีร้านค้าในสถานีบริการจำนวนมาก และมีฐานลูกค้า Blue Card กว่า 8 ล้านคน ซึ่งจะช่วยสร้างความแข็งแกร่งด้านผู้จำหน่าย ขณะที่ AIS ก็มีจุดเด่นเรื่องเทคโนโลยี รวมถึงธนาคารกรุงไทยที่มีจุดแข็งด้านระบบหลังบ้านและการควบคุมความเสี่ยงเรื่องการปล่อยสินเชื่อ
ส่วน เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า มีความเห็นว่าหากผู้ผ่านคุณสมบัติครบในการยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank ก็ควรได้รับใบอนุญาตทุกคน โดยไม่ควรกำหนดจำนวนผู้ที่จะได้ใบอนุญาตเป็นเงื่อนไขหลัก
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย